
ประธาน กมธ.อว. ชี้ช่องโอกาสไทยขึ้นแท่นฐานหลัก PCB ใช้ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์-วางโครงการให้ดี ดึงดูดใจนักลงทุน มุ่งผลิตแรงงานให้ตอบโจทย์พอ
วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่โรงแรมพลูแมน ถนนรางน้ำ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) กล่าวนำเสนอรายงานศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ภายในงาน “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ที่จัดโดยเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นมาก ก่อนหน้าไม่ถึง 3 หมื่นล้าน แต่เมื่อปี 2566 พุ่งทะลุแสนล้าน
ส่วนสิ่งเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย นพ.วาโย กล่าวว่า เรื่องบุคลากรแรงงานที่จะมาอยู่ในอุตสาหกรรม แบ่งภาพใหญ่ได้ 2 ส่วน คือ 1.เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเฉพาะอุตสาหกรรมนี้น้อย เนื่องจากเทคโนโลยีแต่ละปีก้าวหน้าไวมาก ฉะนั้นบทบาทที่ภาครัฐ ควรมาส่งเสริมคือพัฒนาทักษะผู้ชำนาญการเฉพาะด้านในตลาดอุตสาหกรรมนี้ให้ตามทันโลก
และ 2.กลุ่มแรงงานวิศวะ โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตบุคลากรบัณฑิตกลุ่มนี้ไม่มากพอ โดยแต่ละรุ่นต้องใช้เวลามาก ฉะนั้นภาครัฐต้องผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ รวมถึงมีสาขาการศึกษาเฉพาะทาง ไม่ใช่มุ่งแต่ผลิตกลุ่มที่ไม่ได้ตอบโจทย์ตลาดงาน
โดยภาครัฐและภาคธุรกิจ ต้องพูดคุยกันเพื่อออกแบบหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับตลาดงานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีหลักสูตรระยะสั้นใช้พัฒนาทักษะแรงงานในตลาดให้ทันเทคโนโลยีอยู่ตลอด
นพ.วาโย มองว่าอุตสาหกรรม PCB อาจเป็นเรื่องธงของประเทศไทยในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจระดับแสนล้าน และมีความน่าสนใจ ที่เราต้องช่วงชิง แต่เราจะช่วงชิงอย่างไรในสถานการณ์นี้ เพราะส่วนแบ่งการตลาดใหญ่คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ประเทศไทยอยู่ลำดับ 5-6 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3-4% จึงมองว่าไทยมีโอกาสขึ้นอันดับ 3 ได้ แต่ต้องใช้ในความได้เปรียบเรื่องจีโอโพลิติกส์ หรือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ
ฉะนั้นไทยต้องช่วงชิงโอกาสตรงนี้โดยแข่งขันกับมาเลเซีย เวียดนาม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ด้วยการสะท้อนให้ภาครัฐเห็นโอกาส และใช้เป็นจังหวะช่วงชิงธงนำ อาทิ การเตรียมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบจัดการกากของเสียไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ทราบว่าปัจจุบันรัฐบาลเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรม PCB ไว้มากน้อยแค่ไหน