หนุนรัฐบาล อิ๊งค์ ลุย “Direct PPA” ปลดล็อกเอกชนซื้อไฟเองดึงลงทุนสู้เวียดนาม

นที สิทธิประศาสน์
นที สิทธิประศาสน์

นโยบายด้านพลังงาน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา มุ่งออกมาตรการลดราคาค่าพลังงาน และสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน โดยการขับเคลื่อนนโยบายนี้เดินหน้าต่อไปภายใต้การกุมบังเหียนของ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน สมัยที่ 2

แน่นอนว่าการดูแลราคาพลังงานส่งผลเชื่อมโยงต่อมิติในด้านการลงทุนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) โดยได้ประกาศนำร่องการจัดทำระบบการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างเอกชน-เอกชน หรือ Direct PPA 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้สอดรับความต้องการของนักลงทุนที่กำลังมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นที สิทธิประศาสน์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทิศทางพลังงานภายใต้นโยบายใหม่ควรต้องดำเนินไปอย่างไร

เร่งเครื่อง Direct PPA

การส่งเสริมการทำระบบ Direct PPA เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูไปสู่การซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี ซึ่งในสมัยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งนโยบายในวันนี้ แต่เราเปิดแค่โครงการนำร่อง (Pilot Project) 2,000 เมกะวัตต์ ประเด็นดังกล่าวเป็นประตูไปสู่การเปิดเสรีที่เอกชนต้องการ และอยากให้รัฐบาลให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

เพราะตอนนี้เวียดนามออกประกาศเปิดให้มี Direct PPA อย่างเป็นทางการแล้ว โดยให้เอกชนสามารถลงทุนสร้างสายส่ง และซื้อ-ขายกันเองได้เลย หากระยะไม่ไกลกันมากนัก หรือหากระยะทางไกล สามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่งของการไฟฟ้าเวียดนามเดิม และจ่ายค่าใช้สายส่งให้การไฟฟ้า ที่สำคัญ “เวียดนามเปิดเสรีให้ทุกกิจการ” ไม่ได้จํากัดเหมือนกับไทยที่ทำเป็นโครงการนำร่อง 2,000 MW เพื่อดึงนักลงทุนกลุ่ม Data Center เท่านั้น

โดยเวียดนามมีข้อกําหนดเพียงว่า ผู้ที่ใช้ระบบ Direct PPA จะต้องเป็นผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่ ซึ่งในแต่ละเดือนต้องใช้ไฟไม่ต่ำกว่า 200,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 200,000 หน่วย และเปิดกว้างว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นประเภทใดก็ได้ จะเป็นโซลาร์เซลล์ พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ได้หมดเลย เหมือนปลดล็อกเปิดเสรีอย่างจริงจัง ผมมองว่าไทยจะตามเวียดนามไม่ทัน เพราะฉะนั้น ถือเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรต่อ จะอยู่แค่โครงการนำร่อง 2,000 เมกะวัตต์ หรือไม่

ค่าไฟ Direct PPA เสรี

อัตราค่าไฟของ Direct PPA เวียดนามยังไม่ได้กําหนด ต้องรอดูว่าเอกชนจะคุยกันในเรื่องของราคาซื้อขายไฟฟ้าเท่าไร ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ราคาในตลาดแท้จริง ตอนนี้เราจึงต้องรอดูว่าจะมีเอกชนรายใดใครปิดดีลได้

ADVERTISMENT

“หากเราไม่เร่งทำ Direct PPA ก็กังวลว่าจะสร้างโอกาสให้ดึงดูดการลงทุนไปที่เวียดนาม และไทยจะเสียเปรียบมากขึ้น ควรทำตอนนี้ เพราะไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานมากกว่าเวียดนาม การไฟฟ้าไม่มีปัญหาจากการซื้อไฟจากภาคเอกชน แต่ของเวียดนามปัญหาในเรื่องการจ่ายเงินล่าช้าจนเอกชนต้องลดกำลังการผลิต เวียดนามจึงพยายามจะเปิดเสรี เพื่อให้เอกชนเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นไป”

ลุย Direct PPA ต่อ แต่ต้องแก้เกณฑ์

แม้ว่าตอนนี้ไทยมีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Utility Green Tariff ทั้งแบบ UGT1 และ UGT2 ซึ่งเป็นการจัดพอร์ตโฟลิโอไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่จะมาพร้อมกับใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) ให้กับผู้ซื้อออกมาแล้ว UGT เป็นกลไกที่อยู่ภายใต้ระบบ Regulator Market ที่ต้องมีรัฐกำกับควบคุมดูแล

ADVERTISMENT

ผมเห็นด้วยที่จะให้มี UGT ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการต้องการใช้พลังงานสีเขียวและใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ไปผลิตสินค้า หรือไป Repair เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าตลาดส่งออกสินค้าที่ผลิตด้วยพลังงานสีเขียว 100% แต่การเสนออัตราค่าไฟ UGT เฉลี่ย 4.55 บาทต่อหน่วย ถือว่าสูงมาก และยังกำหนดไว้เป็นระยะเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งทางผู้ประกอบการมองว่า จะเสี่ยงสูงเกินไปหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ข้อมูลชัดเจนว่า ราคาแบตเตอรี่ ราคาโซลาร์เซลล์ถูกลงตลอด

อย่างปัจจุบันคนที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ หรือลม ทำค่าไฟลดลงมาในเรต 2.10 บาทต่อหน่วย, 2.80 บาทต่อหน่วย, 3.10 บาทต่อหน่วย เห็นได้ชัดว่าราคาไม่ถึง 4.50 บาทต่อหน่วย และแน่นอนว่ารวมค่าขนส่งและค่าแบตเตอรี่ไปด้วยแล้ว ฉะนั้นก็เป็นประเด็นว่า คําถามว่า UGT จะตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือไม่

ดังนั้น เสนอให้ปรับราคา UGT ให้ถูกลงจาก 4.55 บาทต่อหน่วยได้หรือไม่ หรือถ้าหากเรามุ่งจะไป Direct PPA อยู่แล้ว ก็ไปเลยได้ดีหรือไม่ เพราะ UGT อยู่ในตลาดแบบ Regulated Market หมายถึง มีการกํากับดูแลโดยภาครัฐ แต่ Direct PPA เป็นตลาดที่เริ่มเปิดเสรี เพราะฉะนั้น ตอนนี้เสียงเรียกร้องของภาคเอกชนและผู้ประกอบการคือ ต้องการเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2025

นโยบายลดราคาค่าพลังงาน

อย่างที่ทราบนโยบายมุ่งจะลดราคาพลังงาน แต่ตามหลักการแล้วการตรึงค่าไฟเป็นระยะเวลานานไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นผลดี เนื่องจากทุกอย่างควรจะสะท้อนราคาหรือต้นทุนตามจริง รวมถึงเป็นการผลักภาระออกไปอีก แม้จะมีกลไกของกองทุนอยู่แล้วก็ช่วยได้เพียงชั่วคราว ซึ่งตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าแทนประชาชน

ดังนั้น จึงต้องมาดูต้นเหตุที่แท้จริงว่าทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้น และต้องทำความเข้าใจสาเหตุว่าบางอย่างอยู่เหนือการควบคุม เพราะไทยนําเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีปัจจัยจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทยมีปัญหาด้านเทคนิคทำให้มีปริมาณลดลง

เมื่อซัพพลายน้อยลง ราคาก็สูงขึ้น และต้องนําเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่น่าเห็นใจ แม้การตรึงราคาค่าไฟจะเป็นการแก้ปัญหาที่จำเป็น แต่สุดท้ายก็ต้องมีการรองรับหรือทางออกที่ยั่งยืน ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับเรื่องของราคาด้วย

“การนำเข้า LNG จากต่างประเทศถือเป็นการพึ่งจมูกหายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรระวัง อะไรที่บ้านเรามีศักยภาพอยู่แล้วก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนขึ้นมา เช่น ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ ปี 2024 ที่กำลังร่าง ได้มีการสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประมาณ 6,000-7,000 เมกะวัตต์ หากมองอีกมุมหนึ่ง ประเทศไทยมีศักยภาพด้านไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

แน่นอนว่าในอดีตมองว่าเป็นพลังงานที่ไม่เสถียร มั่นคง และเป็นภาระของ กฟผ. ต้องผลิตไฟฟ้ามาสํารองหากมีแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทั้งแบตเตอรี่, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) มีประสิทธิภาพมากขึ้น ราคาถูกลง ดังนั้น พลังงานโซลาร์และลมก็อาจช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรจะให้ความสําคัญและหาวิธีการสนับสนุนส่งเสริมเพิ่มขึ้น”

ข้อเสนอแนะต่อการปรับแผน PDP

แผน PDP ใหม่วางกรอบระยะเวลาครอบคลุมถึงแค่ปี 2037 เหตุใดไม่ยืดระยะเวลาไปถึง 2050 เพื่อมองเห็นภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดรับกับเป้าหมายที่ผูกพันไว้ใน COP มากขึ้น นักลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็ได้เห็นแผนที่ชัดเจนว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero และ Carbon Neutrality ได้เมื่อไหร่ อย่างไร

และในรายละเอียด PDP 2024 แม้ว่าจะเพิ่ม RE สัดส่วน 50% ก็จริง แต่เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ซื้อจากต่างประเทศรวมอยู่ด้วย และยังมีแผนทำโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ขนาด 6,300 เมกะวัตต์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ มีคำถามว่าจะก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพราะอะไร ในเมื่อพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีเทคโนโลยีจากแบตเตอรี่, ระบบ ESS ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราควรเร่งศึกษาและลงทุนในส่วนนี้มากกว่า

“คําว่า Energy Transition หรือการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องดูให้ดี เพราะว่าบ้านเราลงทุนเรื่องของ Fossil Infrastructure ไปเยอะ ทั้งการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ มีท่อก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก เมื่อเราลงทุนไปก็ต้องใช้ให้คุ้ม ฉะนั้น ผมจะใช้คําว่า ลด ละ เลิก แต่จะไม่ใช้คำว่า ละ และ เลิก อย่างเดียว แต่ต้องลดแล้วค่อย ๆ เลิก ฉะนั้น อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ช่วยทําให้เห็นภาพนี้ว่าจะลด-ละ-เลิก ได้อย่างไร”