ส่องโรงกลั่น SPRC หลังควบรวม คาลเท็กซ์

SPRC

สถานการณ์ของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในปัจจุบันนับว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยปัจจัยสำคัญจากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โรงกลั่นมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้เกิดภาพการควบรวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาทั้งบางจาก-เอสโซ่ และ SPRC-คาลเท็กซ์ ทำให้ภาพธุรกิจการกลั่นของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม โรงกลั่นน้ำมัน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 32 ปี

ควบรวมธุรกิจเสริมแกร่ง

ซึ่งในปี 2567 นับเป็นอีกก้าวในการเติบโตของ SPRC หลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น เพื่อเข้าซื้อธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการรวมสินทรัพย์ในทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ได้แก่ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งดำเนินการโดยพันธมิตรทางธุรกิจมืออาชีพ และ SPRC จะยังคงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์ เทครอน” ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่คุณค่า

ดีลดังกล่าวทำให้ SPRC สามารถให้บริการลูกค้าในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้นผ่านการตลาดและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพสูงของบริษัท ส่งผลให้ครึ่งปีแรก 2567 สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจหลังการควบรวม (Cost Optimization) 15.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าทางธุรกิจก่อนการควบอยู่ที่ 1,200 ล้านเหรียญโดยคิดจากมูลค่าหุ้นก่อนการควบรวมเทียบกับมูลค่าก่อนควบรวม

ใช้กำลังการกลั่น 90%

นางสาวเชาวศรี เหลืองรัตนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ นโยบาย และพัฒนาธุรกิจ SPRC กล่าวว่า SPRC ดำเนินงานธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียมที่มีหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (Complex Crude Oil Refinery) ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 175,000 บาร์เรลต่อวัน ควบคู่กับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคุณภาพสูงหลากหลายประเภทเพื่อใช้ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น โพรพิลีนเกรดโพลีเมอร์ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา และยางมะตอย ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เชาวศรี เหลืองรัตนากร SPRC
เชาวศรี เหลืองรัตนากร

กระบวนการกลั่นน้ำมัน บริษัทจะนำเข้าน้ำมันดิบผ่านขนส่งทางเรือ ประมาณ 2,650,000 บาร์เรลต่อเรือ (DWT) ใช้เรือความยาว 330 เมตร บรรทุกจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ส่วนน้ำมันดิบที่นำมาจากอ่าวไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านผ่านขนส่งทางเรือ ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อเรือ (DWT) หลังจากรับน้ำมันดิบเข้ามาจะนำไปเก็บไว้ที่ถังเก็บน้ำมันดิบ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังกระบวนการต่าง ๆ

ADVERTISMENT

“กระบวนการกลั่น SPRC มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่กลั่นน้ำมันออกมาเฉย ๆ เช่น โรงกลั่นทั่วไปก็จะนำน้ำมันดิบมาแล้วนำไปกลั่นแยก จะเกิดการแตกตัวเบา เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG, แนฟทา, แก๊สโซลีน, นํ้ามันอากาศยาน (Jet Fuel), น้ำมันดีเซล, น้ำมันเตา ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือ เช่น เรือบรรทุกสินค้า

แต่ SPRC จะมี Conversion Unit ซึ่งเป็นตัวแตกโมเลกุลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อแตกตัวออกมา นำไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นสารที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจนกับคาร์บอนแค่ 2 ชนิด ต่างกันที่ความยาวคาร์บอน นำเข้ายูนิตเพื่อไปทำให้โมเลกุลมีขนาดเล็กลงก็จะสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น” นางสาวเชาวศรีกล่าว

ADVERTISMENT

ปัจจุบันมีการใช้กำลังการกลั่นอยู่ที่ประมาณ 90% ขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาและซัพพลาย-ดีมานด์ สำหรับน้ำมันที่ผลิตได้จะใช้ในประเทศ 90% และส่งออกไปยังต่างประเทศ 10% โดย “น้ำมันสำเร็จรูป” จะถูกนำไปจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน แบรนด์ “คาลเท็กซ์” และล่าสุดบริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตร บริษัท เพียวพลังงานไทย จำกัด (เพียวไทย) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง 78 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ส่งผลให้คาลเท็กซ์มีสถานีบริการเพิ่มขึ้นจาก 450 แห่งเป็น 528 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 5 ของตลาดธุรกิจน้ำมันในไทย ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มยอดขาย 10% ในปี 2568 นอกจากนี้ SPRC ยังคงมองหาโอกาสขยายสถานีบริการเพิ่มทุกปี คาดว่าอีก 5 ปีจากนี้จะมีสถานีบริการคาลเท็กซ์เพิ่มเป็น 800 สถานี ภายในปี 2572SPRC

ปัจจัยท้าทาย “โรงกลั่น”

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจโรงกลั่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอนน้ำมัน (Cabon Tax) นั้น ในระยะแรกจะเป็นการแบ่งมาจากภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) บวกค่าการตลาดและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกำหนดอัตรา 6 บาท/ลิตร ที่เก็บอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ภาษีคาร์บอนน้ำมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ซึ่งจุดประสงค์ที่ต้องการให้มีการจัดเก็บ Carbon Tax เนื่องจากมีผู้ประกอบการจะต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องผ่านมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เปรียบเสมือนกำแพงภาษีที่คิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น

แผนรับมือวิกฤต “สงคราม”

ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อสถานการณ์ตลาดน้ำมันจากภาวะภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากเกิดความรุนแรงในอิสราเอลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยตรง รวมถึงระบบการขนส่ง บริษัทมีความกังวลว่าหากสงครามทวีความรุนแรงต่อเนื่องจะส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับพุ่งสูงขึ้น

และหากมีการปิดช่องที่ใช้ขนส่งน้ำมัน บริษัทจำเป็นต้องหาเส้นทางอื่นมาทดแทน ซึ่ง SPRC ก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและความเหมาะสมในการนำเข้าน้ำมัน สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือหากการปิดช่องแคบฮอร์มุส ก็จำเป็นจะต้องมองหาวิธีการขนส่ง (Transportation) อื่น ๆ ที่สามารถนำน้ำมันเข้ามาแทนได้ โดยปัจจุบัน SPRC เก็บน้ำมันสำรองที่ 6% หรือประมาณ 21 วัน รองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

หนุนเป้า Net Zero

นอกจาก 2 ปัจจัยข้างต้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่เป้าหมายการปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็นับว่าเป็นอีกประเด็นที่ธุรกิจโรงกลั่นต้องปรับตัว

นายพงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ SPRC กล่าวว่า SPRC และเชฟรอน สนับสนุนเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและเป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศ ในปี 2608

พงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ SPRC
พงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์

โดยบริษัทได้กำหนดแผนระยะยาว 4 องค์ประกอบ ทั้งมุ่งการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กร ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ การศึกษาโอกาสในการลงทุนเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร โดยมีปัจจัยในการดำเนินงานอย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงมุ่งมั่นด้าน ESG และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ซึ่ง SPRC ได้ร่วมดำเนินโครงการเติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย (Foster Future Forests) ร่วมกับ เชฟรอน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง พื้นที่ 100 ไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์ผ่านชุมชนสู่ความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเศรษฐกิจในชุมชนตลอดการดำเนินงาน เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต