“นายกฯอิ๊งค์” แสดงความยินดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง เชื่อช่วยภาคส่งออกของไทยดีขึ้น และเพิ่มความสัมพันธ์ ด้านพาณิชย์กังวลเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ชะงัก แต่ไทยได้อานิสงส์ดึงการค้า-ลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น ทีทีบีเชื่อเกิด “Trade War 2.0” ไทยอาจกลายเป็นฐานการผลิตของจีนมากขึ้น ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯมองต่าง กังวลไทยเจอกำแพงภาษี เพราะได้ดุลการค้าจำนวนมาก ด้านทิสโก้คาดไทยกระทบน้อยเพราะสหรัฐอาจไปเล่นงานประเทศใหญ่ ๆ ก่อน
หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้้ง กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ทำให้ทั่วโลกจับตานโยบายที่ส่งผลกระทบในภาพรวม รวมถึงประเทศไทยเตรียมรับมือมาตรการต่าง ๆ ที่คาดว่าจะตามมาหลังจากนี้
พร้อมสร้างสัมพันธ์ทรัมป์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ว่า ไม่ใช่แค่คนสหรัฐ แต่คนไทยก็ตื่นเต้นกันมาระยะหนึ่ง ตั้งแต่การติดตามเลือกตั้ง กระทั่งวันเลือกตั้งจริงเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งแต่ละคนก็มีความดี ความเก่งเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน
“การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมา คิดว่าจะช่วยเรื่องการส่งออกของไทยได้ดียิ่งขึ้น เพราะประธานาธิบดีท่านนี้ เน้นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และเราก็ค้าขายกับสหรัฐมากอยู่แล้ว ฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องดี และเราก็สร้างสัมพันธ์อันดีไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยด้วย”
ดันซอฟต์พาวเวอร์
ผู้สื่อข่าวถามว่าซอฟต์พาวเวอร์ของเราจะไปสหรัฐได้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เชื่อว่าจะใช่อย่างนั้น แต่ไม่อยากรีบพูดไปก่อน เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา เรารู้สึกว่าเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ภาพยนตร์ ทางสหรัฐเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ทั้งโปรดักชั่น ผู้กำกับ คนเขียนบท
หวังว่าเราจะได้เรียนรู้จากเขา และจะนำภาพยนตร์ของเราไปขายในเวทีของเขาบ้าง ในเวทีที่มีคนจากทุกมุมโลกมองเห็นมากขึ้น ยืนยันว่าจะผลักดันต่อแน่นอน ในฐานะนายกฯ นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย
พณ.คาดเจรจา IPEF ชะงัก
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐ มีนโยบายด้านการเจรจาการค้าที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก และมีแนวโน้มไม่เดินหน้ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF)
ส่วนนี้ชัดเจนแล้วว่า นายทรัมป์จะไม่เจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ดังนั้น สำหรับประเทศไทยแล้ว การเจรจาการค้ากับสหรัฐจะให้ความสำคัญด้านการค้า การส่งออกที่เน้นผลลัพธ์โดยตรง แม้ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ก็ตาม และไทยพร้อมจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศอยู่แล้ว
มองข้อดีไทยได้อานิสงส์
“การมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ครั้งนี้ ไม่ได้กังวลปัญหาการค้าในต่างประเทศ แต่มองเป็นผลดีของไทยที่จะดึงการค้า การลงทุนเข้าประเทศได้มากขึ้น แม้สิ่งที่หลายคนกังวลว่าสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% และจะส่งผลให้สินค้าจีนไหลเข้ามาประเทศไทยนั้น เรื่องนี้ไม่น่าห่วง เพราะกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและคัดกรองเรื่องนี้แล้ว และก็พร้อมออกมาตรฐานให้กับสินค้าที่เข้ามา ส่วนสินค้าที่จะทำให้การค้าไทยเติบโต เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์”
สำหรับประเด็นที่กังวลว่า สหรัฐจะมีมาตรการกับประเทศที่ได้ดุลการค้า มองว่าเรื่องนี้หากไทยวางเจรจาที่ดี โดยให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จะเป็นการดึงนักลงทุนสหรัฐเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากตอนนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาแจ้งว่า ในวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 นี้ สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) จะมาไทย และสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศ
ส่วนบริษัท Hewlett-Packard บริษัท Western Digital หรือ Seagate ที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วก็ต้องการลงทุนเพิ่มเช่นกัน
เร่งเจรจา FTA กับหลายชาติ
นอกจากนี้ ไทยเองอยู่ระหว่างการเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ที่คาดจะเจรจาสำเร็จภายในปี 2567 นี้ เช่น เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) หากคืบหน้าก็น่าจะทำให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งรัดการเจรจา FTA กับไทยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดเจรจากับ EU ครั้งที่ 4 และตั้งเป้าหมายให้จบในปี 2568 ส่วนฉบับอื่น ๆ เช่น ไทย-ภูฏาน, ไทย-ปากีสถาน, ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ คาดว่าจะจบภายในรัฐบาลนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ
ไทยได้ดุล 3.8 พันล้านดอลลาร์
ส่วนมูลค่าการค้าไทย-สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 สหรัฐและไทยมีมูลค่าการค้าสุทธิทั้งสิ้น 7,086.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 18) เพิ่มขึ้น 21.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,870.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
สินค้าสำคัญที่มีการส่งออกขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ธปท.ติดตามค่าบาทใกล้ชิด
นางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยหลังจากที่นายทรัมป์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์แนวนโยบายในระยะถัดไป ส่งผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภูมิภาคมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 34.20 บาท
“ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.42% โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินและค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดย ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
ทีทีบีเชื่อเกิด Trade War 2.0
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics (Chief Data and Analytics Group) ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพหลังจากนี้สิ่งที่ไทยเจอและเห็นชัดที่สุด คือ การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น เรียกว่าเป็น “Trade War + Trade War 2.0” เพราะในช่วงที่นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี ก็มีเรื่องของกำแพงภาษีที่ไม่ได้ลดลง หรือดีขึ้น ซึ่งเป็นธีมหลักที่ไทยต้องเจอ
อย่างไรก็ดี ในทางอ้อมจากประเด็นการแบ่งขั้วอำนาจที่แรงขึ้น ไทยจะได้ผลดีในส่วนนี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศตรงกลาง ไม่ได้มีการเลือกข้างชัดเจน หากจีนโดนกีดกันทางการค้ากับสหรัฐ จะเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่ไทยมากขึ้น โดยจะเป็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมที่ถูกการกีดกันทางการค้ามีหลายอุตสาหกรรมที่จะย้ายมาในไทยได้
ค่าบาทอ่อนลงยันปลายปี
นายนริศกล่าวว่า สำหรับผลต่อตลาดเงินระยะสั้น จะเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะนโยบายการกลับมาโฟกัสเรื่องการกระตุ้นในประเทศมากขึ้น ทำให้บาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าแล้วระดับปลาย 33 บาท หรือ 34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้ และทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐคงไม่ได้ปรับลดลงเยอะและเร็ว
“ทุกธนาคารกลางจะเป็นช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง แต่ของไทยในช่วงดอกเบี้ยปรับขึ้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐ ในช่วงโควิด-19 ปรับขึ้นไปราว 5.25% แต่ไทยขึ้นไปราว 2.00% คาดว่าในช่วงขาลงไทยจะเป็นการทยอยตอบสนองช้า ๆ ภายในต้นปี 2568 คิดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ในระดับ 2.00% เป็นระดับ Neutral Rate หรือดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ”
หวั่นกำแพงภาษีฉุดจีดีพีไทย
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายหลัก ๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศ คือ การจัดการเรื่องของดุลการค้ากับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งไทยเกินดุลกับสหรัฐเป็นอันดับ 11 ของโลก ดังนั้น ไทยต้องรับแรงกระแทกจากมาตรการตั้งกำแพงภาษีกีดกันสินค้าจีนที่ประกอบในไทย และสินค้าไทยเอง
สิ่งที่ไทยต้องรับมือผ่านการตั้งกำแพงภาษี ต้องปรับปรุงมาตรฐานการดึงฐานการผลิต การเจรจาทางด้านการค้า เช่น การค้าเสรี (FTA) หรือการร่วมโครงการ TPP รวมถึงการศึกษาและวิจัย (R&D) มากขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องหาอุตสาหกรรม ปกป้อง เช่น เครื่องมือแพทย์ เพราะจะให้ไทยแข่งขันในเรื่องของราคาอาจจะลำบาก
มองต่างไทยอาจเสียมากกว่าได้
ส่วนในมุมของอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลและคนรวยของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าได้ และเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีการที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ระหว่างยูเครน-รัสเซีย หรือภูมิภาคอื่นปรับดีขึ้น ทำให้ราคาพลังงานจะลดลง
โดยรวมทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีผลเสียมากกว่าข้อดี ซึ่งจากการศึกษาของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ประเมินว่านโยบายโดยรวมของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568-2569 โดยรวมอยู่ที่ 0.4% ของจีดีพี โดยเราต้องรับแรงกระแทกการขึ้นกำแพงภาษี ซึ่งอาจเห็นขึ้นภาษีสินค้ากับจีน 60% แต่เราอาจจะโดนบ้างในของบางอย่าง แต่อัตราจะอยู่ที่ 10-20%
“ต้องดูว่าทรัมป์จะใช้นโยบายแรงแค่ไหนกับประเทศเกินดุลกับเขา ส่วนผลต่อจีดีพีไทยเราเองยังไม่ได้ปรับประมาณการการเติบโตจีดีพี ซึ่งต้องรอรวมผลในช่วงต้นปีหน้าในการประเมินอีกครั้ง”
“ชาติศิริ” จับตาระยะสั้น-กลาง
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หากดูแนวความคิดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นว่ามีวิธีคิดหลายอย่างที่นอกกรอบ ซึ่งอาจเป็นผลดีในเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยในช่วง 4 ปีข้างหน้ามีหลายอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์ และมีกรอบ Frame Work ที่อาจทำให้ประเทศมหาอำนาจเกิดความร่วมมือกัน
ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจจะต้องรอดูนโยบายที่จะออกมาชัดเจน ซึ่งจะเป็นการวางตำแหน่งของนโยบายที่จะดำเนินการในระยะข้างหน้า ส่วนระยะปานกลางช่วง 2 ปี จะทำให้การค้าโลกเติบโตเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ใช่ในทันที รวมถึงอาจจะเห็นกระแสเงินลงทุนไหลจากต่างประเทศจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย (Flow Relocation) ซึ่งจะเห็นสัญญาณจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ทิสโก้ชี้ไทยกระทบน้อย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลต่อประเทศไทยคิดว่าคงจะมีแนวโน้มยืดหยุ่นลงได้
รอบที่แล้วเศรษฐกิจไทยก็ได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐขัดแย้งกับจีน หนุนการส่งออกไทยกระเตื้องขึ้น และเกิดการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กระจายลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย หนุนซัพพลายเชนต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตตามมามากขึ้น
ถ้ามองในมุมนี้ ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่เล็กมาก ทรัมป์คงไม่เลือกขัดแย้งกับไทยในช่วง 1-2 ปีแรก แต่คงจะไปโฟกัสประเทศใหญ่ ๆ อย่าง จีน, เม็กซิโก, ยุโรป ในแง่ของด้านเศรษฐกิจ ส่วนด้านสงครามจะเป็นฝั่งรัสเซียและอิสราเอล เพราะฉะนั้น ผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยรอบนี้เชื่อว่าคงมีน้อย แต่มีผลด้านบวกมากกว่า ถ้าได้ผลพวงจากการที่สหรัฐขัดแย้งกับจีน