
ไทยเร่งเจรจาแก้ปัญหาภาษีสหรัฐ ชูแนวคิดเพิ่มนำเข้า-ลดภาษี ระดมทุกหน่วยงานตั้งทีมต่อรอง ทูตพาณิชย์ปรับแผนการตลาด 58 แห่งทั่วโลก เผยรัฐบาลตั้ง “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” เกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ชงนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มหลายชนิด ทั้งถั่วเหลือง อาหารทะเล สุรา รวมถึงลดกำแพงภาษี ปตท.นำเข้าน้ำมัน-ลงทุนในสหรัฐ การบินไทยเช่าเครื่องจากสหรัฐเพิ่ม หวังเพิ่มแต้มต่อก่อนเจรจา คาดแผนเจรจาแล้วเสร็จสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ส.อ.ท.เผยสูตรเก็บภาษีสหรัฐแบบ On Top จากภาษีพื้นฐานที่ทุกประเทศโดน 10% เพิ่มอีก 37% เตือนต้องจับตาสินค้าจากจีนสวมสิทธิไทย
ตั้ง “พันศักดิ์” เกาะติดเจรจา
ความคืบหน้าสหรัฐประกาศขึ้นภาษีตอบโต้การค้าในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยที่โดนขึ้นภาษีเบื้องต้น 36-37% โดยพบว่าเป็นการคิดแบบ On Top หมายถึงแต่เดิมสินค้าไทยเสียภาษีเท่าไหร่ ต้องถูกบวกเพิ่มอัตราใหม่เข้าไปอีกนั้น ล่าสุด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาหารือและเตรียมการต่อเนื่อง ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง โดยมี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษาเกาะติดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมาเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อวางแผนกระบวนการรายละเอียดจะต้องคุยกับใครบ้าง ต้องเตรียมนโยบายพูดคุยแลกเปลี่ยนให้กับสหรัฐได้ประโยชน์
“วันนี้กระบวนการต่าง ๆ เตรียมพร้อมหมดเรียบร้อย กำหนดตัวบุคคล กำหนดนโยบายที่เจรจาแล้ว เชื่อมั่นว่าเราทำได้ดีในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และตัวคณะที่ปรึกษานโยบายถือเป็นเรื่องหลักในการพูดคุยกัน” นพ.สุรพงษ์กล่าว
แนวทางเจรจา-สหรัฐ วิน-วิน
ส่วนแนวทางการเจรจากับคณะผู้แทนการค้าสหรัฐ (The United States Trade Representative หรือ USTR) นั้น นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ไทยได้วางบุคคลที่เชื่อว่าเหมาะสมในการหารือเรื่องนี้แล้ว และแนวทางการเจรจาคือ ทำอย่างไรให้สหรัฐและไทยได้รับประโยชน์ร่วมกัน เป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว และขณะเดียวกัน สหรัฐในฐานะมิตรประเทศที่ทำงานร่วมกันมานานก็คงเห็นว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ และเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ระดมทุกหน่วยงานร่วมมือ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา
คณะทำงานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์) และที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายศุภวุฒิ สายเชื้อ) ทำหน้าที่ที่ปรึกษา
เร่งเจรจา-พร้อมเยียวยา
ที่ผ่านมา คณะทำงานหารือกันอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน
“จากการติดตามสถานการณ์พบว่า หลายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอการเจรจา รวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้สหรัฐยังไม่ได้ตอบรับ และทุกประเทศทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่มีสูงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี”
ถกคลังของบฯอุดหนุนดอกเบี้ย
นายวุฒิไกรกล่าวอีกว่า สิ่งที่ไทยเตรียมไปเจรจากับสหรัฐ มี 3 มาตรการ คือ 1.ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ยังไม่เคยนำเข้า 3.ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การตรวจสอบสินค้าที่อาจอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย พร้อมยืนยันว่าไทยพร้อมเจรจากับสหรัฐ ซึ่งไทยเคยทาบทามขอเจรจาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ หากสหรัฐพร้อมเจรจา ไทยก็พร้อมเดินทางไปเจรจาทันที
อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐสูงที่สุด อาทิ สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐนั้น จะเข้าพบ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย คาดว่าจะใช้งบประมาณจากงบฯกลาง
“ข้าว-กุ้ง-ชิ้นส่วนรถ” หนัก
นายวุฒิไกรกล่าวว่า จากการขึ้นภาษีในรอบแรก ไทยได้รับผลกระทบไปแล้ว คือ สินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 12 มี.ค. 2568 โดยเหล็กขึ้นจากภาษี 0-12.5% เป็น 25% อะลูมิเนียมจาก 0-6.25% เป็น 25% แต่มีการเก็บภาษีคู่แข่งในทุกประเทศจึงไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะยังส่งได้ตามปกติแต่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม ไทยมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีตอบโต้ โดยสหรัฐอาจจะมีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าให้เท่าที่ไทยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยปัจจุบันพบว่า ไทยเก็บภาษีสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม สูงกว่าสหรัฐราว 11% ซึ่งคาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์
ชงซื้อเครื่องบิน-น้ำมันสหรัฐ
นายวุฒิไกรกล่าวถึงแนวทางการเจรจาว่า ไทยอาจจะใช้แนวทางในการปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าให้สหรัฐ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อและเครื่องใน สุรา และเครื่องบิน
ส่วนนี้อาจประสานให้ บริษัท การบินไทย เช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ส่วนในเรื่องของพลังงาน พิจารณาให้ ปตท.นำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคงไม่สามารถลดการขาดดุลการค้ากับไทยที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ทั้งหมด ดังนั้นไทยจะต้องเจรจาให้ครอบคลุมทุกมิติ นอกเหนือจากการค้า
ดันเอกชนลงทุนเพิ่มในสหรัฐ
ต้องมองในเรื่องของการเข้าไปลงทุนเพิ่มตามข้อเสนอของสหรัฐ ที่ต้องการให้เกิดการจ้างงานในประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยมีการลงทุนในสหรัฐ ราว 70 บริษัท ใน 20 มลรัฐ ทำให้เกิดการจ้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง เบื้องต้นรัฐได้คุยกับภาคเอกชนไทยพบว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหาร และพลังงานของไทย พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีข้อกังวลในเรื่องการย้ายฐานการผลิตบางประเทศมายังไทย ทำให้เกิดการสวมสิทธิสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ โดยขณะนี้ได้สั่งให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งแก้ปัญหา ด้วยการขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิประเทศไทยแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากจีน
“ขณะนี้คณะทำงานได้เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว โดยระยะสั้นจะเร่งเยียวยาเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยมาตรการลดดอกเบี้ย เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ส่วนระยะยาวจะเร่งเจรจาเอฟทีเอกับตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน โดยแผนเจรจาให้เสนอให้นายกฯตัดสินใจ” นายวุฒิไกรกล่าว
ปตท.หัวหอกนำเข้า-ลงทุน
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปี 2567 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดได้ลงนามนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 ล้านตันต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี รวมมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ปตท.ยังลงทุนในสหรัฐ 1.2 พันล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และล่าสุดได้หารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา โดยขณะนี้ภาคเอกชนไทย คือ ปตท. สนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซแอลเอ็นจี
คลังชี้ผลกระทบต่อจีดีพี 1%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “ประเมินเบื้องต้นหากไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับเลย การขึ้นภาษีของสหรัฐอาจส่งผลให้การขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2568 ลดลง 1% เพราะฉะนั้น ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจึงเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด”
รวมทั้งจะทบทวนมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Nontariff Barriers) ซึ่งเดิมไทยมีมาตรการเหล่านี้เพื่อป้องกันบางสินค้าไม่ให้กระทบกับการผลิตในประเทศ เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ตั้งภาษีสูงถึง 60-80% เพราะฉะนั้น ไทยก็ไม่จำเป็นต้องตั้งภาษีสูงอีกต่อไป เพราะกำแพงภาษีเหล่านี้อาจทำให้สหรัฐกังวลเรื่องภาษีของไทย พร้อมมอบการบ้านให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว คาดว่าจะมีรายละเอียดพร้อมไปเจรจากับรัฐบาลของสหรัฐภายใน 2-3 สัปดาห์นี้
เสนอนำเข้าสินค้า 4 รายการ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไทยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดัน รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล
การเจรจากับสหรัฐ โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐ ซึ่งหากพิจารณามูลค่าการค้า เฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหารพบว่า ไทยเกินดุลสหรัฐ 142,634 ล้านบาท โดยไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก
เร่งสั่งของจากสหรัฐ-ลดกดดัน
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มากขึ้นได้ โดยการนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม โดยหอการค้าฯเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรภายในประเทศ ประกอบด้วย 1.พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
2.สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ 3.สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 4.เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก
ส.อ.ท.มึนโดนภาษีรวม 52%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ส.อ.ท.ได้เรียกทุกกลุ่มอุตสาหกรรมประชุมเพื่อวางแผนรับมือกับผลกระทบที่ทรัมป์ขึ้นภาษี ซึ่งเดิมสหรัฐจัดเก็บอัตราภาษีพื้นฐาน (MFN) จากไทย 5% ในวันที่ 5-8 เมษายน 2568 ไทยจะถูกเก็บภาษีในอัตราภาษีพื้นฐาน (MFN) อีก 10% และในวันที่ 9 เมษายน 2568 เพิ่มเติมอีก 37% รวมเป็น 52% ทำให้ไทยเจออุปสรรคมากขึ้น ทั้งด้านการค้าการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงด้านการค้าการเกษตร กระทบ GDP ไทย 1% หรือ 1.7 แสนล้านบาท
ส.อ.ท.เกาะติดจีนสวมสิทธิ
นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า สิ่งที่ ส.อ.ท.เป็นห่วงคือ เรื่องสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐมีการจับตาค่อนข้างมาก อีกทั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเร่งนำเข้าก่อนใช้มาตรการภาษี
แต่สิ่งที่สวนทางคือ ดัชนีการผลิตในประเทศที่ลดลง ขณะที่ตัวเลขนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาเพื่อใช้สิทธิส่งออก หรืออาจนำวัตถุดิบมาผลิต แต่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 10-20% แต่ใช้วัตถุดิบจากจีนถึง 70-80% ส.อ.ท.จึงร่วมกับสมาชิกตั้งทีมติดตามดูอย่างใกล้ชิด พร้อมตั้งแพลตฟอร์ม FTI EYE ขึ้นมาเพื่อรับแจ้งข้อมูลเข้ามาหากพบเจอพฤติกรรมดังกล่าว และเร่งนำมาแก้ไขให้ทันท่วงที
พณ.ปรับแผนเจาะตลาดอื่น
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เดินหน้าปรับแผนการทำตลาด โดยโฟกัสตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้น มุ่งเน้นตลาดเมืองรองในจีนและอินเดีย รวมไปถึงตลาดตะวันออกกลางรายประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งแอฟริกา พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้ สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั้ง 58 แห่งทั่วโลก (ทูตพาณิชย์) ต้องทำงานเชิงลึกมากขึ้น ผลักดันส่งออกและร่วมมือทำงานกับภาคเอกชนเพื่อรับมือ แก้ปัญหาต่าง ๆ
เป้าหมายการส่งออกปี 2568 ซึ่งมีการประเมินไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ขยายตัว 2-3% มูลค่า 10 ล้านล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างหารือว่าจะมีการพิจารณาทบทวนหรือไม่ เพราะการวางเป้าส่งออกเป็นการวางเป้าการทำงานเพื่อให้ได้เป้าหมาย ซึ่งจะมีการกำหนดและพิจารณาเป็นช่วง ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากับสหรัฐ หากเจรจาสำเร็จ ผลกระทบก็อาจไม่มากนัก