
นับถอยหลัง 9 ก.ค.นี้ หมดมาตรการผ่อนปรนภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ประธานหอการค้าฯเตือนไทยห้ามตกขบวน หากเจรจาไม่สำเร็จโดนภาษีเพิ่ม 36% ป่วนหนัก ไร้ออร์เดอร์ใหม่ ปัญหาลามซัพพลายเชนลดกำลังผลิต หยุดจ้าง ปลดคน กังวลครึ่งปีหลัง ไทยส่งออกสินค้าอัตราภาษี 10% ลอตสุดท้าย 25 พ.ค.นี้ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยตัวเลขปิดโรงงานเพิ่มขึ้นทุกเดือน ลดค่าใช้จ่าย ค่าล่วงเวลา “กอบศักดิ์” ชี้ภาคอุตสาหกรรมรายได้หลักของประเทศโตต่ำ 5 ไตรมาส สะท้อนเครื่องยนต์ดับ ด้านนานาชาติหลายประเทศเร่งปิดดีลภาษีสหรัฐ ทั้งอังกฤษ จีน และประเทศอาเซียนมีความคืบหน้า
นับถอยหลังสหรัฐผ่อนปรนภาษี
ความคืบหน้าปัญหาภาษีสหรัฐ และผลกระทบกับประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังปี 2568 จะเป็นอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าไทยจะเจรจาต่อรองเรื่องภาษีตอบโต้การนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จหรือไม่
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลื่อนบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อัตรา 36% ออกไป 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หากการเจรจาไม่สำเร็จ ไทยโดนอัตราภาษีเพิ่มอีก 36% เชื่อได้ว่าผู้ส่งออกไทยจะไม่สามารถส่งสินค้าไปขายสหรัฐได้เลย เพราะนอกจากไม่มีกำไรแล้ว ยังทำให้ราคาสินค้าขายทำตลาดไม่ได้
หอค้าฯเตือนไทยห้ามตกขบวน
ดังนั้นรัฐบาลไทยจะตกขบวนไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ ซึ่งมีถึง 18% ของการส่งออกทั้งหมด ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้สินค้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จีน หันมาส่งเข้าไทย แย่งตลาดกับผู้ประกอบการไทย เพราะมีราคาที่ถูกกว่ามาก
“การขึ้นกำแพงภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ไม่มีใครคาดคิด เพราะเป็นมาตรการที่ไม่ได้ยึดกฎเกณฑ์ข้อตกลงใด ๆ ผิดกฎระเบียบการค้าโลก ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้การค้าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะเจรจาตกลงกับสหรัฐได้ก่อน ดังนั้นไทยไม่ควรจะตกขบวน จำเป็นต้องเดินหน้าเจรจาสรุปอัตราภาษีให้ชัดเจน และให้ได้อัตราที่น้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”
25 พ.ค.ส่งออกลอตสุดท้าย
ดร.พจน์กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในภาคการส่งออกหรือภาคการผลิต แต่จะลามไปถึงห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชนการผลิตที่เกี่ยวเนื่อง จะได้รับผลกระทบมียอดขายลดลงไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปอีกหลายอุตสาหกรรม สุดท้ายก็จะกระทบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม หากขายสินค้าไม่ได้ การปลดคนงานก็มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน
ขณะนี้พบว่าภาพรวมการลงทุนผลิตสินค้าเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งเป็นผลจากความไม่ชัดเจนว่าไทยจะถูกเก็บภาษีจากสหรัฐในอัตราเท่าไหร่ ทำให้ภาคการผลิตและการลงทุนชะลอดูสถานการณ์ และลดกำลังการผลิตสินค้าเพื่อเลี่ยงปัญหาสต๊อกเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งการส่งสินค้าทางเรือเที่ยวสุดท้ายที่ได้รับอัตราภาษีเดิม คือภาษีพื้นฐานที่สหรัฐเรียกเก็บจากทุกประเทศในอัตรา 10% จะออกจากท่าเรือเที่ยวสุดท้ายวันที่ 25 พฤษภาคม 2568
“การส่งสินค้าหลังจากนี้ ผู้ขายต้องเจรจาตกลงกับผู้ซื้อที่สหรัฐให้ชัดเจนว่า หากครบกำหนดเลื่อน 90 วันแล้ว เกิดกรณีถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก จะแบกรับภาระภาษีกันอย่างไร”
หาตลาดใหม่ทำได้ไม่ง่าย
ส่วนกรณีแนะทางแก้ให้หันไปหาตลาดส่งออกใหม่นั้น ต้องยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันยังอยู่แค่ระดับ 2.0-3.5 เท่านั้น สินค้าไทยที่ส่งออกยังไม่สามารถยกระดับหรือพัฒนาขึ้นถึง 4.0 เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ลำบาก การปรับตัวเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศนั้น ๆ ซึ่งขณะนี้การปรับตัวทำได้ช้า และมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในทันที
2 ตัวแปรหลัก เสี่ยงทุบ GDP
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ตามที่สภาพัฒน์ได้ประกาศ GDP ไตรมาส 1/2568 มีตัวเลข 2 ตัวที่น่าจับตามองที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยไปในช่วงหลายปีข้างหน้า คือ 1.การบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัวได้เพียง +2.6% ซึ่งน่ากังวลใจ
เพราะปกติแล้วการบริโภคภาคเอกชนจะมีขนาดประมาณ 55% ของเศรษฐกิจ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยจะคึกคักหรือไม่ ก็จะขึ้นกับว่าคนใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งตัวเลขนี้ควรจะขยายตัวได้ 5-6% แต่ช่วง 4 ไตรมาสสุดท้าย ขยายตัวได้เพียงประมาณ 3% กว่า ๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยโต และอีกส่วนคงมาจากการที่เราเป็นหนี้กันมาก มีหนี้ครัวเรือนสูง มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น
และถัดมา ตัวเลขที่ยิ่งน่ากังวลใจไปกว่านั้น ก็คือ 2.การผลิตของภาคอุตสาหกรรม เพราะเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้หลักของประเทศ ซึ่งล่าสุดมีสัดส่วนประมาณ 28% ของ GDP ในช่วงที่เราขยายตัวดี ๆ ภาคส่วนนี้จะเป็นหัวหอก เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2000-2007 ขยายตัวที่ +9.5% และช่วงปี 2010-2018 ขยายตัวที่ +4.1% แต่ 5 ไตรมาสสุดท้ายขยายตัวเฉลี่ยเพียง +0.5%
“สะท้อนเครื่องยนต์ดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังตกรุ่น โรงงานกำลังปิดหรือลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจไทยคึกคักอีกรอบ นี่คือโจทย์สำคัญที่เราต้องแก้ให้ได้ โดยต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และสร้างหรือผลัดใบภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะมาเป็นรายได้ใหม่ ๆ ให้กับประเทศ ทดแทนการปิดตัวของโรงงานแบบเดิม ๆ”
กสิกรฯชูตัวเลขปิดโรงงาน
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โรงงานปิดตัวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในแต่ละเดือน โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า 4 เดือนแรกปีนี้ มีโรงงานปิดตัว 222 แห่ง และมีโรงงานเปิดตัว 502 แห่ง แม้ว่าอัตราการเปิดจะมากกว่าปิดตัว แต่หากดูตัวเลขในแต่ละเดือนจะเห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 42 แห่ง กุมภาพันธ์ 47 แห่ง มีนาคม 51 แห่ง และเดือนเมษายนอยู่ที่ 82 แห่ง
หากพิจารณาขนาดของเงินทุนของโรงงานที่ปิดกิจการ พบว่ามีขนาดเงินทุนลดลงจากปี 2567 ที่อยู่ที่ 39 ล้านบาท มาอยู่ที่ 33 ล้านบาทในปี 2568 สะท้อนว่าโรงงานที่ปิดตัวลงเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ขณะเดียวกัน หากสังเกตโรงงานที่เปิดใหม่ 4 เดือนแรกปีนี้ มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันลดลง 52% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) โดย 4 เดือนแรกปี 2568 มีเม็ดเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 64,780 ล้านบาท เฉลี่ยลงทุน 129 ล้านบาทต่อแห่ง และเมื่อเทียบ 4 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 136,369 ล้านบาท เฉลี่ย 208 ล้านบาทต่อแห่ง สะท้อนไซซ์ของการลงทุนใหม่ที่ส่วนใหญ่เล็กลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความระมัดระวังมากขึ้น
5 เซ็กเตอร์แห่ปิดสูงสุด
หากพิจารณาเซ็กเตอร์ที่มีการปิดโรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความเฉพาะตัว 2.กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้แข่งขันที่มีมากขึ้น 3.กลุ่มโลหะและเหล็ก 4.กลุ่มเคมีภัณฑ์ และ 5.กลุ่มปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาจากสภาวะการแข่งขันจากสินค้านำเข้า ต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงเจอวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง และมาเจอนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) เป็นปัจจัยซ้ำเติม บางแห่งทนไม่ไหวจึงต้องปิดตัว
อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงกำลังการผลิตปรับลดลงตามคำสั่งซื้อที่หายไป หลังสหรัฐประกาศตัวเลขการเก็บภาษีออกมาชัดเจน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังน่าเป็นห่วง โดยศูนย์วิจัยประเมินตัวเลขดัชนีภาคผลิตอุตสาหกรรม (PMI) ปี 2568 หดตัว -3%
ภาคผลิตทยอยลดค่าใช้จ่าย-OT
ขณะที่ภาพของการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่ภาคการผลิตมีการปรับลดชั่วโมงการทำงาน หรือการทำงานล่วงเวลาลง จะเห็นว่านับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ในไทยหลายแห่ง เช่น กลุ่มรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ประกาศลดค่าใช้จ่าย และปรับประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อรอดูสถานการณ์ สอดคล้องกับบริษัทในต่างประเทศ ในกลุ่มเทคโนโลยีและรถยนต์ที่มีการเลิกจ้าง ดังนั้นมองไปข้างหน้าในมิติชั่วโมงการทำงานหรือการลดคนยังคงน่าเป็นห่วงเช่นกัน
“ตัวเลข 4 เดือนแรกปีนี้ของการเปิด-ปิดโรงงาน หรือภาคผลิตอุตสาหกรรม เราอาจจะยังไม่เห็น Impact เพราะผู้ประกอบการเร่งส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า เป็นผลมาจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่ร่นระยะเวลาการส่งออก เช่น จากเดิมคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อเตรียมขายในช่วงไฮซีชั่น จะสั่งในช่วงไตรมาส 3 ก็ปรับมาเป็นไตรมาส 2 เพื่อหนีภาษี ทำให้เกิดคำสั่งซื้อล่วงหน้าเยอะ”
ดังนั้นจะเห็นผลกระทบจริงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือหลังครบกำหนด 90 วัน ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยผลกระทบจะขึ้นอยู่กับว่าเราโดนภาษีเท่าไร 10% หรือ 36% และประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนจะโดนภาษีในอัตราเท่าไรด้วย โดยเรามอง GDP ไทยปีนี้จะอยู่ที่ 1.4% กรณีโดนภาษี 36% แต่หากภาษีออกมา 10% เศรษฐกิจก็มีอัพไซด์ต่อภาคผลิตและส่งออก แต่ก็ยังถูกถ่วงด้วยภาคท่องเที่ยว
อยุธยาชะลอผลิต-เบรกลงทุน
นายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายภาษีทรัมป์ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจทุกประเภทต่างชะลอการผลิตและการลงทุนเพื่อรอดูผลลัพธ์การเจรจาอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก
ด้านนายสุกัณฑ์ โสรัจจกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรัดเข็มขัด โดยการลดต้นทุนในหลาย ๆ ทาง
อังกฤษปิดดีลสหรัฐแล้ว
ส่วนความคืบหน้าระดับนานาชาติในการเจรจาปัญหาภาษีสหรัฐ อังกฤษ เป็นชาติแรกที่บรรลุข้อตกลงได้ อังกฤษตกลงที่จะลดภาษีลงเหลือ 1.8% จาก 5.1% ขณะที่สหรัฐยังคงอัตราภาษีพื้นฐานไว้ 10% แต่ลดภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมบางประเภทจากอังกฤษ ส่วนภาษีรถยนต์กำหนดโควตานำเข้ารถยนต์จากอังกฤษเสียภาษีอัตรา 10% เฉพาะ 100,000 คันแรก
อังกฤษยังตกลงซื้อเครื่องบินโบอิ้ง มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมยกเลิกภาษีนำเข้าเนื้อวัวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ รวมถึงเอทานอลสำหรับการผลิตเบียร์ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลทันที และจำเป็นต้องผ่านการลงนาม และการดำเนินงานเอกสารด้านกฎหมายอีกหลายเดือน
จีน-ญี่ปุ่นเจรจาได้บางส่วน
จีนเป็นอีกประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราวกับสหรัฐได้ หลังถูกขึ้นกำแพงภาษีสูงถึง 145% ขณะที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้เช่นเดียวกันในอัตรา 125% โดยผลเจรจาได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายจะลดอัตราภาษีระหว่างกันลง ผลคือสหรัฐเก็บจีน 30% และจีนเก็บสหรัฐ 10% เป็นเวลาชั่วคราว 90 วัน
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติแรกที่ได้เจรจากับสหรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งเจรจาไปแล้ว 2 ครั้ง และเริ่มต้นรอบที่สามในวันที่ 23 พฤษภาคม ถึงอย่างนั้นความคืบหน้ากลับไม่ปรากฏ เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการล้างกำแพงภาษีทั้งหมด โดยเฉพาะภาคยานยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม ที่ถูกตั้งอัตรา 25% ขณะที่สหรัฐต้องการโฟกัสแค่อัตราภาษีแบบตอบโต้เท่านั้น
เวียดนาม-อินโดฯเอาใจเต็มที่
เวียดนาม แม้เป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง แต่กลับเกินดุลการค้าสหรัฐมากเป็นอันดับ 3 ทั้งยังเป็นประเทศสำคัญที่จีนขยายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเวียดนามพยายามเสนอข้อต่อรองแบบเอาใจสหรัฐอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ลดกำแพงภาษีเหลือศูนย์ รับปากซื้อเครื่องบินโบอิ้ง และนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติม โดยหวังว่าสหรัฐจะตอบสนองในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายระบุว่ามีความคืบหน้าในเชิงบวก และใกล้บรรลุฉันทามติแล้ว โดยจำเป็นต้องเจรจาเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
อินโดนีเซีย คณะผู้แทนรัฐบาลเข้าพบ เจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสรุปผลการเจรจาภายในกรอบ 60 วัน ซึ่งอินโดนีเซียเสนอแผนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม รวมมูลค่ากว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยการจัดซื้อพลังงาน สินค้าการเกษตร ตลอดจนสินค้าทุนในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังจะส่งเสริมการลงทุนแร่ธาตุสำคัญ เช่น นิกเกิล ให้กับสหรัฐอีกด้วย