ประมงไม่รับอนุสัญญา C188 ยกขบวนพบ “อดุลย์” ตั้งตัวแทนร่างกม.

ชาวประมงทั่วประเทศรวมพลคัดค้านอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง หรือ C188 เชื่อการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานภาคประมงอนุวัตตามอนุสัญญาฉบับนี้ “ยากแก่การปฏิบัติ” พร้อมยกขบวนไปหา “อดุลย์” รมว.แรงงาน

กระทรวงแรงงานมีความพยายามที่จะผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 หรือ C188 มาโดยตลอด เบื้องหลังของการผลักดันจนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความ “เห็นชอบ” ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็คือ “ความเชื่อ” ของรัฐบาลที่ว่า การให้สัตยาบันจะทำให้ประเทศไทยจะ “หลุดพ้น” จากข้อกล่าวหา การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU)ของสหภาพยุโรป รวมถึงข้อกล่าวหาในเรื่องของการค้ามนุษย์ (TIP Report)ของสหรัฐ ทว่าในอีกด้าน การดำเนินการข้างต้นกลับไม่ได้รับการ “ยอมรับ” ของกลุ่มชาวประมงทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการถูก “บังคับ” ให้ดำเนินการตามอนุสัญญา C188

โดยชาวประมงในนามของสมาคมการประมงท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศ ได้รวมตัวกัน “คัดค้าน” การรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง โดยได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือคัดค้านที่กระทรวงแรงงาน การคัดค้านดังกล่าวเป็นผลมาจากมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2561 ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่รับ” อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับนี้

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเข้ามาว่า นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเองได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี เพื่อความช่วยเหลือชาวประมงในหลาย ๆ ปัญหา รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่ 188 ที่ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน โดยอ้างถึงมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของสมาคมมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่รับ” อนุสัญญา C188 ด้วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาจากจังหวัดสงขลาว่า สมาคมประมงสงขลาคัดค้านการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่ 188 เนื่องจากการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง “เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ” ทั้งการปรับเปลี่ยนตัวเรือ สวัสดิการที่จะต้องจัดให้ลูกเรือประมง ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำประมงในประเทศ การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จะออกมาใหม่ (ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ….) จะต้องใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่หลายปีมานี้

ชาวประมงต้องเผชิญกับการปฏิบัติตามกฎหมาย-ระเบียบใหม่ ๆ ที่ออกมาบังคับในการแก้ปัญหา IUU ของภาครัฐ รวมไปถึงปัจจุบันราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำทำให้ชาวประมงต้องประสบภาวะการขาดทุนเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดได้มีกลุ่มชาวประมงเดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อคัดค้านการรับอนุสัญญา C188 และได้มีตัวแทนชาวประมงเข้าหารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สรุปรัฐบาลไทยยังคงยืนยันที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญา C188 ต่อไป

แต่ขั้นตอนการออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง จะให้ชาวประมงมีตัวแทนในชั้นกรรมาธิการ ส่วนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว แต่ “เกินไปกว่า” ข้อกำหนดใน C188 ให้ยกเลิก เพื่อคืนสิทธิ์ให้กับชาวประมงต่อไป