ส่อง “นโยบายพลังงาน” ชูพลังงานทดแทน-กำกับ ปตท.เข้ม

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) จัดดีเบต “ส่องนโยบายพลังงาน เลือกตั้ง 62” ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเชิญตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง คือ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ และพลังธรรมใหม่ ยกเว้น พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวทีนี้

โดยสรุปนโยบายหลักของทุกพรรคโฟกัสที่การส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทน นโยบายการดูแลราคาพลังงาน-นโยบายเกี่ยวกับบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และการกำกับดูแลบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ภูมิใจไทยหนุนพืชพลังงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานจากพืชพลังงาน ข้าว มัน ปาล์ม อ้อย อย่างจริงจัง โดยให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนปีละ 25% เป็นเวลา 4 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีพลังงานทดแทน 100% โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นผู้ช่วยรัฐบาล จัดให้มีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ (B20) และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อย่างจริงจัง

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ผลิตอยู่เพียง 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และในอนาคตจะสร้างโรงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันที่กระบี่ ยกระดับราคาผลปาล์มไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กก. และมีเสถียรภาพ และหันไปส่งออกปิโตรเลียมเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น

“พรรคไม่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และจากพลังงานลม เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์คืนมาอย่างแท้จริง”

ปชป.ตรึงดีเซลลิตรละ 30

ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางพลังงานหลังประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณแล้ว นโยบายหลักเร่งด่วนจะ “ตรึงราคาน้ำมันดีเซล” ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเพราะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และ NGV ต้องไม่แพงมากไปกว่าดีเซล นอกจากนี้ พรรคกำหนดเป้าหมายว่า ภายใน 2021 ประเทศต้องมีสัดส่วนพลังงานทดแทน 25% และผลักดันโซลาร์รูฟท็อป โดยพรรคมีนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว (green industry) โดย ปตท.ต้องเพิ่มบทบาทจากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบ อาทิ ธุรกิจแบตเตอรี่สู่สมาร์ทกริด สมาร์ทมิเตอร์ และขยายไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น และจะมีการประกันราคาผลปาล์ม ไม่ต่ำกว่า 4 บาท/กก. สร้างเสถียรภาพราคา

พปชร.ชู 3 สร้าง

ขณะที่ นายสันติ กีระนันทน์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคมีแนวคิดสร้าง 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.สร้างความมั่นคงพลังงานให้ประชาชนเข้าถึงได้ 2.สร้างประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด โดยจะอุดหนุนราคาพลังงานเท่าที่จำเป็น รวมทั้งผลักดันพลังงานทดแทนให้มากขึ้น โดยจะหนุนภาษีไปทำปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล และบังคับการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 transform และกำหนดแผนโรดแมป 5 ปี ทำแผนรถยนต์ไฮบริด ส่งเสริมรถยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างเสถียรภาพโรงไฟฟ้าภาคใต้

พลังธรรมใหม่ลดราคาน้ำมัน

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า นโยบายสิ่งแรกหากพรรคได้เป็นรัฐบาล คือ 1.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด และยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดีเซลไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม พร้อมกันนี้จะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ลดลง 5 บาทต่อถัง และลดราคาไฟฟ้า ด้วยการทำให้ระบบการเชื่อมโยงไฟฟ้าโปร่งใส ทั้งนี้ จะตั้งคณะกรรมการบูรณาการร่วมด้านพลังงานหมุนเวียนด้วย 2.ตรวจสอบแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วประเทศ 3.ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม 4.ใช้นโยบายพลังงานคู่กับการเติบโตด้านการเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น

โดยพรรคเห็นด้วยกับทุกพรรคที่จะสนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และพืชพลังงาน เพียงแต่ยังไม่ควรสนับสนุนประเด็นโซลาร์เซลล์มากนัก เพราะนอกจากจะมีผลต่อการทุจริต สิ่งแวดล้อมแล้ว ไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีต้นทุนสูง ต้องผลักดันพลังงานลม น้ำ และพืช ให้มั่นคงก่อน

อนาคตใหม่ เล็งรื้อ PDP

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายจะปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ใหม่ โดยขยายเป้าหมายพลังงานทดแทนให้มากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีเพียง 20% ถือเป็นตัวเลขที่ไม่สมจริง หากมองถึงเทรนด์ของพลังงานโลกและการแข่งขัน และต้องสร้างการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งเรื่องการใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทบทวนมาตรการส่งเสริม รถราง EV อาคารใหม่ที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง residential โดยให้ BOI ยกเว้นภาษีประเภทกิจการที่มีการอนุรักษ์พลังงาน ขณะเดียวกัน การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล

แต่ต้องทำ EIA และควรให้จัดตั้งกองทุน EIA โดยให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อนำไปจ้างที่ปรึกษาดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเขย่า ปตท.และทั้ง 5 พรรคมีนโยบายเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ปตท. โดยภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และไม่ยึดคืน ปตท.แต่มองว่าปตท.ไม่ควรมุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ประชาชนด้วย

ขณะที่ประชาธิปัตย์ชี้ว่าไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ส่วนการกำกับดูแล ปตท.และบริษัทลูกนั้นรัฐควรมีกลไก โดยปรับแก้กฎหมายผ่านกลไกภาษีเข้ามาช่วยให้ชัดเจน อนาคตการลงทุนของ ปตท.ต้องดูผลตอบแทน เพื่อให้ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทพลังงานไทย เป็นที่พึ่งของประชาชน สอดคล้องกับพลังประชารัฐที่ไม่มีนโยบายให้ ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศ แต่มุ่งเน้นความชัดเจนการกำกับ ปตท.

ส่วนพรรคพลังธรรมใหม่ ยืนยันว่าแม้ไม่มีนโยบายยึดคืน ปตท.แต่ต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC) โดยให้รัฐถือหุ้น 100% ดูแลเรื่องน้ำมันและปิโตรเลียมของประเทศ และต้องตรวจสอบการทำงาน ความโปร่งใส การทุจริตใน ปตท.และคืนกำไรให้ประชาชน สอดคล้องกับอนาคตใหม่ที่มองว่า ต้องกำกับ ปตท.เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดธุรกิจ

นายบรรยง พงษ์พานิช ตัวแทน ERS กล่าวว่า พลังงานมีความสำคัญต่อทุกประเทศ และมีความเชื่อมโยงกันกับระบบเศรษฐกิจ ในอดีตน้ำมันเป็นพลังงานหลัก แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาพลังงานอื่นทดแทนตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเพียงพอเสี่ยงต่อวิกฤตด้านพลังงาน เช่น เวเนซุเอลา ในส่วนของไทยถือว่ามีการบริหารจัดการค่อนข้างดี แม้ว่าจะเคยมีวิกฤตพลังงาน แต่ถือว่าราบรื่น มีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลน และราคาที่ไม่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม อนาคตยังมีความท้าทาย ทุกพรรคการเมืองจะมีโอกาสนำนโยบายที่หาเสียงไปบริหารประเทศ