คำสัญญา 5 พรรคการเมือง ยกชั้น SME หนุนเมดอินไทยแลนด์

โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค. 2562

ไทยจะได้รัฐบาลใหม่มาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย “นายสุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท. จัดทำ “สมุดปกขาว” ส่งมอบให้ 5 พรรคการเมือง ในงาน “Shaping Thai Industry : ทิศทางอุตสาหกรรมไทย” มีเป้าหมายให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ยกระดับ SMEs ส่งเสริม Made-in-Thailand ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น ปฏิรูปบุคลากร ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ และยกเลิกค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

ปชป.ชูพัฒนาทักษะแรงงาน

เรื่องบุคลากรและทักษะแรงงานถือเป็นข้อกังวลแรกก่อนก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 “นายถาวร ชลัษเฐียร” รองประธานงานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ภาคการศึกษาที่ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและปริมาณให้เพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของเอกชน ช่วยให้ไทยแข่งขันได้ในระดับสากล ?

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า พรรคมีแผนชัดเจนเรื่องปรับการศึกษาไปสู่สายอาชีพมากขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการหลักของประเทศ โดยสนับสนุนการเรียนฟรีถึง ปวส. และระบบทวิภาคี ซึ่งประสบความสำเร็จอยู่

แต่จะต้องมีการขยายปรับรูปแบบเพื่อสร้างมาตรการที่มีแรงจูงใจเพื่อเอกชน รวมถึงการจ้างงานด้วย เรื่องที่ 2 การปรับระบบการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่เด็กเล็ก-จบการศึกษาจำเป็นมาก เพราะปรับระบบการศึกษาจากแบบโลกยุคเก่า ให้ไปสู่การพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ เทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาการรวมศูนย์บริหารจัดการการศึกษา ซึ่งทำให้หลักสูตรไม่คล่องตัว ทั้งนี้ พรรคมี 2 กลไก คือ 1.ต้องกระจายอำนาจไปยังสถาบันการศึกษา โดยไม่ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อนุมัติ จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี 2.ตั้งกองทุน Smart Education มีรายได้แน่นอน และเป็นอิสระจากรัฐ เอาเงินนี้ไปให้เอกชน startup ที่สนใจทำงานการศึกษา

นอกจากนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (technology disruption) จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโดยการเพิ่มทักษะ (reskill) ด้านเทคโนโลยี ด้านภาษี การประกอบการ โดยพรรคมีโครงการคูปอง 1 ล้านใบ/ปี มูลค่าใบละ 3,500 บาท ซึ่งจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ยื่นจัดทำหลักสูตรนี้ แล้วภาครัฐเข้ามารับรอง ในส่วนเรื่องการจ่ายเงินให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือแรงงาน ประชาธิปัตย์เป็นผู้เริ่มตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ แต่กลับไม่เชื่อมโยงกับการจ่ายค่าแรงตามมาตรฐาน ฉะนั้น ถ้าเรามี “ระบบประกันรายได้ 120,000 บาท/ปี” จะตัดปัญหาความกังวลใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำไป และยังจะยึดโยงกับทักษะการทำงานอย่างชัดเจน โดยกระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะต้องเชื่อมโยงการทำงานกัน ที่สำคัญ กฎระเบียบต้องเอื้อให้คนกล้าคิด กล้าทำ กล้าวิจารณ์ อุตสาหกรรมในอนาคตต้องเน้นเสรีภาพ เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพจะไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการสร้างสรรค์

Made-in-Thailand วาระชาติ

ประเด็นการยกระดับ SMEs มีความเข้มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยภาครัฐมุ่งส่งเสริมหลายรูปแบบ ทั้งตั้งกองทุน อบรมพัฒนา แต่ก็ยังไม่พอ “นายปรีชา ส่งวัฒนา” ประธานกรรมการบริหาร สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ส.อ.ท. และประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทฟลายนาว (FLYNOW) มองว่า การพัฒนา SMEs ไทยเป็นแบบเดิม ๆ มาโดยตลอด ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ว่าที่รัฐบาลจะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถให้สินค้า Made-in-Thailand ไปสู่เวทีโลกได้อย่างไร ?

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชี้ให้เห็นว่า “Made-in-Thailand จะต้องเป็นวาระแห่งชาติ” ถึงเวลาแล้วที่จะนำแนวคิด Made-in-Thailand ในบริบทของศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้มีการกระจายการผลิตไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

สิ่งสำคัญ คือ ไทยวาง position อย่างไร ซึ่งมองว่าไทยมีจุดแข็งเกี่ยวกับสินค้าที่มีการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมถึงสินค้าโอท็อป ซึ่งจะต้องไปเชื่อมโยงและใช้โอกาสจากการเจรจาการค้ากับต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ รวมถึงต้องผลักดัน startup ให้เกิดขึ้น พร้อมชูจุดขายคุณค่าของนวัตกรรม (value creation) อัตลักษณ์ความเป็นไทย รวมถึงการสร้างมาตรฐาน

เพื่อไทยชูลดรื้อกฎหมาย

อีกด้านภาคอุตสาหกรรมขุ่นข้องหมองใจกับขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ใช้เวลานาน ซ้ำซ้อน และยังมีค่าแป๊ะเจี๊ยะ “นายทวี ปิยะพัฒนา” รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี.ตั้งคำถามว่า จะมีแนวทางแก้กฎระเบียบ/กฎหมายอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และจะใช้เวลานานเท่าไร ?

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหานี้ทำให้สูญเสียประมาณ 1,100 ล้านบาท และยังเป็นช่องทางทุจริต ในช่วง 3 เดือนแรกพรรคจะเอกซเรย์กฎหมาย/ระเบียบ ของแต่ละกระทรวงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของใบอนุญาต ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่กำกับดูแล และลดกระบวนการ จากนั้น 6 เดือน จะเริ่มทำการตัดกฎหมาย และลด “ใบอนุญาต 1,500 ฉบับ เหลือเพียง 300 ฉบับ” แก้กฎหมายไทยบางฉบับ

ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ 20 ปี เช่น กฎหมายแรงงานต่างด้าว กฎหมายการตรวจโรงงาน ด้วยวิธีการ 1.ปรับเปลี่ยนให้เอกชนเป็นศูนย์กลาง และรัฐคอยอำนวยความสะดวก 2.ลดเวลาขั้นตอนในการขออนุญาต พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์โบนัส หากหน่วยงานใดบริการเร็ว หรือหน่วยงานใดช้า มีโทษปรับ 3.เอกซเรย์กฎหมายทุก 3 ปี รองรับการดิสรัปต์ในอนาคต

Cooffice Working Space หนุนนวัตกรรม

“เทคโนโลยีและนวัตกรรม” คือ ทางรอดของอุตสาหกรรมในยุคนี้ “นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” รองประธาน ส.อ.ท. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งคำถามกับพรรคการเมืองว่า นโยบายในการต่อยอดนวัตกรรม และแนวทางที่จะทำให้ SMEs เข้าถึงนวัตกรรมเป็นอย่างไร ?

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มองว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ โดยให้คนรุ่นใหม่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ส่งเสริมการตั้งพื้นที่ทำงาน หรือสถานที่ราชการ แบบ “coof-fice working space” ทุกที่ในไทย ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายไอทีให้เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใช้สถานที่เหล่านั้นทำงาน ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทที่สนับสนุนนวัตกรรมให้ SMEs และ startup จนสามารถทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้

สุดท้าย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธาน ส.อ.ท. ตั้งคำถามว่า จะมีมาตรการและนโยบายในเชิงรูปธรรมอย่างไร เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ?


นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตัวอย่างจากโกดัก โนเกีย อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทยที่ถูกดิสรัปทีฟเทคโนโลยี เข้ามาเปลี่ยนชีวิต อุตสาหกรรมจะรอดและแข่งขันได้ต้องมีนวัตกรรม มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่การรับจ้างผลิต (OEM) อีกต่อไป โดยสนับสนุนให้ใช้วิธีซื้อแบรนด์จากต่างประเทศแล้วผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์นั้น ได้ผลตอบรับที่รวดเร็ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศ ตัดกฎหมายเก่าที่ไม่เคยใช้เลยกว่า 20 ปีทิ้ง ส่วนกฎหมายที่เหลือใช้วิธีปรับปรุงให้ง่ายขึ้น