2 กลุ่มชิงดำท่าแหลมฉบังเฟส3 ทุนจีนผนึกปตท.-กัลฟ์แข่งไชน่าเรลเวย์

ไม่พลิกโผ ! 2 กลุ่มชิงดำเค้ก 8.5 หมื่นล้านพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 “ปตท.-กัลฟ์ฯ” ผนึกรับเหมาจีน แข่งสู้ “กลุ่มนทลิน-พริมาฯ” จับตากลุ่ม ปตท.มาแรง 

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 กทท.เปิดให้เอกชน 34 รายที่ซื้อทีโออาร์โครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3

ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท เข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน โดย กทท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 53,490 ล้านบาท และเอกชนจะลงทุน 30,871 ล้านบาท

ปรากฏว่ามี 2 กลุ่มที่ยื่นซองประมูล ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บจ.นทลิน จำกัด, บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง, บมจ.พริมา มารีน และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 ซึ่งผ่านการพิจารณาทั้ง 2 ราย จากทั้งหมดเปิดให้ยื่น 5 ซอง ประกอบด้วย 1.ซองไม่ปิดผนึก เอกสารหลักฐานยื่นข้อเสนอ 2.ซองปิดผนึกคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ 3.ซองปิดผนึกข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุนโครงการ เช่น แนวคิดก่อสร้างท่าเทียบเรือ

แผนการก่อสร้าง แผนการระดมทุน 4.ซองปิดผนึกข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ค่าสัมปทานคงที่ ค่าสัมปทานผันแปร และ 5.ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ

ทั้งนี้ กทท.คาดว่าจะทราบผลผู้ชนะภายในวันที่ 11 เมษายนนี้ ซึ่งผู้ชนะจะใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และได้สัมปทานการให้บริการบำรุงรักษาโครงการเป็นระยะเวลา 35 ปี พร้อมเปิดบริการในปี 2566

สำหรับโครงการนี้สร้างบนพื้นที่รวม 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 4 ท่า ยาวรวม 4,420 เมตร รองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 7 ล้านทีอียู/ปี มีท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน/ปี

เมื่อเปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% เหลือ 12%

รายงานข่าวแจ้งว่า พิจารณาผู้มายื่นซองแล้ว กลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้งานสูงคือกลุ่ม ปตท.ที่ร่วมกับกัลฟ์ฯและจีน