ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช “บางจาก” ตั้ง BiiC ลุย Startup

การเปิดตัว “สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ” หรือ Bangchak Initiative and Innovation Center : BiiC ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น ในการลงทุน ในธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพและพลังงานไฟฟ้าสีเขียว สร้างมูลค่าเพิ่มฉีกหนีการทำธุรกิจน้ำมัน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากฯ ถึงทิศทางการทำงานของ BiiC

การแสวงหา Startup
เราเป็นแวนเจอร์แคปิทัล (VC) มีทีมไปอยู่ที่ Silicon Valley ปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เดือน ที่ผ่านมาเราพบ startup ที่น่าสนใจประมาณ 300-400 บริษัท แล้วก็คัดเลือกมาเหลือ 20 บริษัท มาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยตัดสินใจในการลงทุน สุดท้ายมาพิจารณากันแล้วเหลือ startup ปีละ 2-3 บริษัท เรียกว่าเราคัดแล้วคัดอีก

โดยแนวทางการคัดเลือก startup ที่บางจากจะเข้าไปลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เราไม่เน้นธุรกิจซอฟต์แวร์ แต่จะเน้นธุรกิจไฟฟ้า-พลังงานสะอาด-ไบโอเบส ที่จับต้องได้เป็นกึ่ง ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งก็ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร แต่ก็ช่วยต่อยอดธุรกิจของเราได้

นำร่องลงทุน 2 บริษัท 
บางจากเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของเขาแล้วก็ดูความคืบหน้าของกิจการว่าเป็นอย่างไร เริ่มจากแล็บสเกล, ไพรอตสเกล และคอมเมอร์เชียลสเกล เมื่อไรสามารถพัฒนาขึ้นมาถึงระดับคอมเมอร์เชียลสเกล เราก็น่าจะทำอะไรได้ จริง ๆ เรื่องทั้งหมด

เริ่มจาก 5 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเข้ามาบางจากใหม่ ๆ ผมขอเงินบอร์ดไว้ 4-5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อมาลงทุนในธุรกิจเหมืองลิเทียม ซึ่งถึงวันนี้เหมืองลิเทียมก็ตั้งไข่ได้แล้ว ถ้าไม่มีอันนี้ ชีวิตบางจากก็จะอยู่กับโรงกลั่นน้ำมันอย่างเดียวเป็นที่มาว่า บอร์ดเห็นด้วยและนำมาสู่การตั้ง VC (venture capital)

สำหรับบริษัท Geltor ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ มีเทคโนโลยีชีวภาพในการสังเคราะห์คอลลาเจนโดยปราศจากส่วนผสมของสัตว์หรือไขมันสัตว์ เฟสแรกมุ่งผลิตคอลลาเจนสำหรับใช้ผสมในเครื่องสำอาง โดยคอลลาเจนของ Geltor มีคุณสมบัติที่ดีกว่าที่ขายกันอยู่ทั่วไป เช่นไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ให้ความชุ่มชื้นมากกว่าถึง 5 เท่า และในเฟสถัดไปจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม

ส่วนบริษัท Enevate ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการผลิต “ลิเทียมแบตเตอรี่” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้สามารถชาร์จพลังงานได้รวดเร็วขึ้น 10 เท่า ในอนาคตสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV charging stations ที่ชาร์จได้รวดเร็วเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน ทั้งยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอีกกว่า 80 รายการ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และที่อยู่ระหว่างรอจดทะเบียน ส่วนเมื่อปี 2561 BiiC ได้ลงทุนใน startup ไป 2 ราย คือ บริษัท Semtive ดำเนินธุรกิจด้านกังหันลมผลิตไฟฟ้า กับบริษัท Bonumose ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตน้ำตาลเพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบพืชในกลุ่มที่มีปริมาณแป้งสูง

Startup เชื่อมต่อเหมืองลิเทียม
ผลผลิตลิเทียมจากเหมืองที่อาร์เจนตินาลอตแรกจะเริ่มขายกลางปีหน้า (2563) ไฟแนนเชียลไทม์ให้ข้อมูลเรื่องลิเทียมว่า จะเป็นแร่ธาตุที่หายากมากในปี 2023 และวันนี้ทั่วโลก 60% อยู่ที่จีน ส่วนสหรัฐมีแค่ 1% ทางสภายุโรประบุให้ลิเทียมเป็น strategic mineral ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ ถ้าเราไม่มี startup ก็ไม่มีโอกาสจะเข้าถึง

ส่วนการดำเนินการเหมืองช่วงแรก เราจะขายเป็น “ผงลิเทียม” ก่อน ลักษณะเหมือนผงแฟ้บสีขาว เป็นลิเทียมคาร์บอเนตไปทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขายให้บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แหล่งที่เราไปลงทุนเป็นแหล่งที่มีแร่ลิเทียมอุดมสมบูรณ์ที่สุด คือ ในน้ำ 100 ลิตร มีลิเทียม 0.2 กรัม ถือว่ามีความเข้มข้นสูงแล้ว แต่การผลิตลิเทียมเป็นตันเป็นร้อยตันพันตันถือว่ายากมาก

เหมืองลิเทียมใหญ่ที่สุดในโลก
เหมืองลิเทียมที่บางจากเข้าไปลงทุนตอนนี้น่าจะเป็นเหมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แหล่งลิเทียมของเราผลิตได้ 40,000 ตัน หรือเท่ากับ 20% ของลิเทียมที่ผลิตจากทั่วโลก 200,000 ตัน โดยปีแรกเหมืองน่าจะผลิตได้ประมาณ 10,000-20,000 ตัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มกำลังผลิตในปีต่อ ๆ ไป ส่วนราคาขายลิเทียมตอนนี้ประมาณตันละ 12,000 เหรียญสหรัฐ (36,000 บาท) หรือคิดเป็น กก.ละ 12 เหรียญ ก็ประมาณ 400-500 บาท ที่ราคามันแพงก็เพราะมันสกัดออกมายาก จริง ๆ ลิเทียมคือเกลือประเภทหนึ่ง ถ้าเทียบกับเกลือทั่วไปถือว่าแพงมาก ลูกค้าแย่งกัน ตอนนี้เป็นที่ต้องการผลิตได้เท่าไรก็ขายได้หมด

แผนการตลาดของลิเทียม
ในอนาคตวางแผนไว้ว่า ลิเทียมส่วนหนึ่งจะขนส่งทางเรือป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมของบางจากที่จะตั้งขึ้นในประเทศไทย แต่ต้องรอให้เทคโนโลยีแบตเตอรี่นิ่งก่อน ตอนนี้มีคนสนใจทำแบตเตอรี่รถยนต์ EV กันมาก แต่เทคโนโลยีมันยังไม่นิ่ง เหมือนสมัยก่อนที่คนทำน้ำมัน เราจะเป็นแก๊สโซฮอล์ 95/โซฮอล์ 91 ก็ไม่มีมาตรฐาน เพิ่งมากำหนดออกเทนมาตรฐานกันไม่กี่ปีนี้เอง ดังนั้น หากตลาดแบตเตอรี่ EV มันใหญ่พอก็จะมีการสร้างมาตรฐาน แต่วันนี้ตลาดยังไม่มี ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งแต่ละคนก็ว่ากันไป เช่น เทคโนโลยีของเทสล่า-ซัมซุง-โฟล์ค แต่มันต้องมีมาตรฐานจึงจะแลกเปลี่ยนกันได้

วันนี้ถ้าบางจากกระโดดเร็วเกินไปแล้วก้าวผิดก็จะมีปัญหา เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ๆ เหมืองลิเทียมตอนนี้ผลิตออกมาก็ขายเป็นผงให้คนทำแบตเตอรี่ไปก่อน

รายได้จากเหมือง
เหมืองแห่งนี้บางจากถือหุ้นสัดส่วน 17-18% ไม่ได้เยอะ ถ้าเหมืองสามารถผลิตลิเทียมได้ถึง 40,000 ตันในปีหนึ่ง ๆ บางจากจะมี EBITDA 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเรา 20% ก็ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ผมว่าก็น่าสนใจ

ส่วนของรัฐบาลอาร์เจนตินาถือเป็นหุ้นลมในเหมืองประมาณ 7-8% ตามระบบสัมปทานเหมือง ความจริงแหล่งแร่ลิเทียมตรงบริเวณนี้ถูกเรียกว่า 3 เหลี่ยมลิเทียม มีอาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวีย ถือว่ามีปริมาณลิเทียมมากที่สุดของโลก แต่ช่วงหลังก็มีทางเพิร์ท (ออสเตรเลีย) ออกมาเยอะ แต่เป็นระบบการผลิตต้นทุนสูง โดยที่อาร์เจนตินาผลิตต้นทุนตันละ 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐ แต่เพิร์ทผลิตลิเทียมด้วยต้นทุนสูงกว่าตันละ 6,000-7,000 เหรียญสหรัฐ

ต่อยอดนวัตกรรม Biobase

นอกจากนี้ บางจากเองกำลังศึกษาต่อยอดเรื่องของการนำ “กะลาปาล์ม” ไปทำเป็นไบโอเบส ตัวกะลาปาล์มสามารถเอาไปทำเป็นน้ำตาล และต่อยอดเป็นพลาสติกได้ พวกนี้สุดท้ายมี C5-C6 เอามาทำเสื้อผ้า ซึ่งตัวนี้มีเยื่อแปลงเป็นเส้นใยได้

ราคาน้ำมันครึ่งปีหลัง

เป็นอะไรที่หวือหวามาก ผมคิดว่าคงอยู่ที่ประมาณ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรลไม่น่าไปไกลนะ อย่างที่ทราบผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อค่าการกลั่น ซึ่งเราคิดว่า ไตรมาส 2/2562 จะฟื้น แต่ยังทรงๆ อยู่ แต่วันนี้บางจากไม่ใช่โรงกลั่นน้ำมันอย่างเดียวแล้ว เรามีโรงไฟฟ้าก็บรรเทาได้ในระดับหนึ่ง เป็นการบาลานซ์พอร์ต ธุรกิจที่ยั่งยืนไม่มีใครมีธุรกิจเดียว ต้องทำอะไรที่คิดว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือต่อยอดได้

“สินค้านวัตกรรมที่เรามอนิเตอร์อยู่ ผมมองว่าวันนี้ 2-3% ของ EBITDA เป็นสินค้านวัตกรรม และอีก 10 ปีข้างหน้าขึ้นไปเป็น 30-40% เพราะบางจากเพิ่งตั้งไข่ วันนี้สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือ BiiC ขึ้นมา บอกเลยว่า0-3 เราไม่สนใจ ถ้าทำแล้วไม่รู้เมื่อไรได้ เราขอ 4-5 หรือ 6 ได้ยิ่งดี เอามาต่อยอด ถ้าเป็น 9 คือ เป็นเชิงพาณิชย์ให้คนอื่นไปคิด 0-3 เรายอมจ่ายแพงหน่อยซื้อ 4-5-6 มาดีกว่า”