Energy for All แก้แผน PDP ให้ “ชุมชน” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำหนดที่จะประชุมมอบนโยบายการทำงานให้กับกระทรวงพลังงานในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เป็นการมอบนโยบายหลังจากที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาถึงการดำเนินนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือ “energy for all” และพร้อมจะ “ทบทวน” แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) หลังจากที่แผนฉบับนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการอย่างหนัก

ล่าสุด สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เชิญ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน” แสดงให้เห็นถึงทิศทางพลังงานของประเทศภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

หนุนอนุรักษ์พลังงานอุตสาหกรรม 

ประเด็นแรก การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม หรือการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม มีเป้าหมายหลักไม่ใช่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถลดต้นทุน แต่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เพิ่มการอยู่รอดของ SMEs ด้วย แนวทางสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐปัจจุบันได้มีมาตรการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานออกมาหลายด้าน อาทิ ด้านการเงิน กองทุน การสนับสนุนโดยตรง ในขณะที่แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 มีเป้าหมายเพิ่มค่าสัดส่วนความเข้มข้นของการใช้พลังงานต่อ GDP หรือ energy in-tensity (EI) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี ลดได้ 8% ของ GDP แต่ในอนาคตอีก 17 ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มเป็น 30% ของ GDP ได้ภายในปี 2579

ปั้น 3 นวัตกรรมสู้ Disruption

ประเด็นที่ 2 รัฐบาลจะต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกระแส technology disruption โดยจะเห็นจากตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) จากเดิมช่วงกลางวันไปเป็นช่วงกลางคืน ส่วนแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานจะต้องมุ่งไปใน 3 เทคโนโลยีที่ต้องพัฒนา ได้แก่ ระบบจัดเก็บพลังงาน (energy storage), ระบบสายส่งอัจฉริยะ (smart grid) และการส่งเสริมเทคโนโลยีระดับชุมชน ซึ่งในอนาคต “ชุมชน” จะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟ (prosumer) ดังนั้น จึงต้องเปิดโอกาสให้คนตัวเล็ก (SMEs) เป็นเจ้าของพลังงานได้ รวมถึงการส่งเสริมสตาร์ตอัพด้านพลังงาน ซึ่งจะมองไปถึงแพลตฟอร์มและสมาร์ทมิเตอร์ด้วย

ฟื้นหญ้าเนเปียร์

นายสนธิรัตน์ได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงานในยุคนี้ว่า ประเทศไทยต้องดึงเอาจุดแข็งด้านการเกษตรขึ้นมาพัฒนาไปสู่การสร้าง “พลังงานบนดิน” โดยขณะนี้ได้เริ่มนำน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซลและส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 และกำลังพัฒนาน้ำมันจาก B7 สู่ไป B10 เพื่อบริหารจัดการดีมานด์-ซัพพลายผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่เพียงจะช่วยดูดซับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน โดยมีเป้าหมายจะดูดซับให้ได้ปีละ 2 ล้านตัน แต่ในอนาคตน้ำมันปาล์มยังสามารถนำไปต่อยอดเป็น “โอลีโอ เคมิคอล” ซึ่งอาจจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 20 บาท เป็น กก.ละ 100 บาทได้ “การใช้พลังงานบนดินจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก” นายสนธิรัตน์กล่าว

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีพืชพลังงานชนิดอื่นที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังงานบนดินได้ โดยล่าสุดได้ตั้ง “คณะทำงานขึ้นมาศึกษาทบทวนโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์” ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพและเคยถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับเดิม (PDP 2015) แต่ภายหลังถูก “ลด” สัดส่วนลงไป แต่ขณะนี้ก็ยังมีการปลูกหญ้าชนิดนี้อยู่ คาดว่าเชื้อเพลิงหญ้าเนเปียร์จะสามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 400-500 MW หากได้ข้อสรุปผลการศึกษาในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะนำข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการประกอบการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

“นโยบายของกระทรวงต่อจากนี้ไปเราจะเน้นไปที่พลังงานเป็นของทุกคน (energy for all) ไทยมีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียนได้ อย่างที่ สปป.ลาวเคยมีเป้าหมายจะเป็น “แบตเตอรี่ออฟเอเชีย” ส่วนไทยจะต้องเป็น “แลนด์ลิงก์ออฟอาเซียน” 

ส.อ.ท.หนุนสนธิรัตน์

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเพื่อนำมาใช้ในภาคการผลิต นำมาสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทางภาคอุตสาหกรรมก็จะต้องปรับเปลี่ยนตามนโยบาย industry transformation เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเบื้องต้น ส.อ.ท.เห็นด้วยกับนโยบาย energy for all ที่จะกระจายให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น และลดต้นทุนด้านพลังงานให้ภาคอุตสาหกรรม

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมได้ส่งเสริม-สนับสนุน และให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยสามารถดึงโรงงานเข้าร่วมกิจกรรมได้มากกว่า 4,892 โรงงาน มีการพัฒนาบุคลากร 25,435 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอีก 588 คน กระทั่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 8,000 ล้านบาท โดยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 1,200 หน่วย ลดพลังงานความร้อน 8,000 หน่วย และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 955,000 ตัน