3ฝ่ายเสียงแตก”ชาวนา-โรงสี”จี้เพิ่มราคาประกันข้าวปทุมฯ

เอกชนหนุน นบข.เคาะประกันรายได้ข้าว “ชาวนา-โรงสี” ร้องขอเพิ่มราคาประกันข้าวปทุมฯอีกตันละ 500-1,000 บาท สร้างแรงจูงใจปลูก หวั่นภัยแล้งฉุดผลิตข้าวเปลือกลด ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน “ชาวนาอีสาน” วืดเงินชดเชย จี้รัฐเคาะมาตรการพิเศษ-พักชำระหนี้ ธ.ก.ส. 3 ปี-หาพันธุ์ข้าวให้ปลูก ด้านผู้ส่งออกแนะรัฐกำหนดราคาต้องไม่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้แข่งขันได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล-สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เห็นชอบร่วมกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร กำหนดประเภทข้าว 5 ชนิด (ระดับความชื้น 15%) ได้แก่

1.ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน หรือ 40 ไร่

2.ข้าวเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่

3.ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่

4.ข้าวหอมนอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่

5.ข้าวหอมปทุมฯ ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ หรือไม่เกิน 25 ตัน

โดยหลังจากนี้จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินการ และงบประมาณดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการที่ประกันรายได้นั้น เกษตรกรที่จะเข้าโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากการชำระเงินนั้นจะดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ส่วนการกำกับดูแลจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแก้ไขปัญหาและกรรมการนโยบายบริหารข้าวระดับจังหวัด

พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าระบบนาแปลงใหญ่ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมการผลิตข้าวควบคู่ไปด้วย

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ยังต้องการเสนอให้พิจารณาปรับเพิ่มราคาประกันข้าวหอมปทุมฯอีกตันละ 1,000 บาท จากเดิมกำหนดตันละ 11,000 บาท เป็นราคา 12,000 บาท เนื่องจากราคาข้าวปทุมฯที่กำหนดเป็นราคาใกล้เคียงกับข้าวเปลือกเจ้ามากเกินไป แต่คุณภาพของข้าว 2 ชนิดต่างกันมาก โดยข้าวหอมปทุมฯปลูกและดูแลยากกว่า ทั้งยังไม่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ อย่างข้าวเปลือกเจ้าที่สามารถปลูกได้ทุกที่และเติบโตเร็ว

สำหรับราคาข้าวในตลาด ณ ปัจจุบัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตันละ 7,000-7,500 บาท แต่หากความชื้น 25% ตันละ 9,000-9,800 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ความชื้นที่ 15% ส่วนต้นทุนการเพาะปลูกข้าวขณะนี้อยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่

“ราคาขายสูงขึ้นขณะนี้ จากสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อยลง แต่สิ่งที่เกษตรกรกังวลและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเป็นอันดับแรกก่อนเดินหน้านโยบายประกันรายได้ข้าว

คือ ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพราะจากที่ได้รับรายงานเบื้องต้น จ.ชัยภูมิ พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 66,000 ไร่ นครราชสีมา เสียหาย 130,000 ไร่ บุรีรัมย์ และ 5 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลตัวเลขความเสียหายของนาข้าว

คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าว 2562/63 จะลดลงจากปกติผลิตได้ 30 ล้านตันข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวจะลดลงมาก ซึ่งจากสถานการณ์ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาดนี้ คาดว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณประกันรายได้ไม่สูงมากนัก”

พร้อมกันนี้ได้เสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบพื้นที่นาและผลผลิตเสียหาย พร้อมทั้งการหาพันธุ์ข้าว กข 105 มาให้เกษตรกรนำมาปลูกทดแทนข้าวที่เสียหาย พร้อมทั้งการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.ให้กับเกษตรกรระยะ 3 ปี และเสนอมาตรการดูแลระบบและส่งเสริมระบบชลประทาน เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เชื่อว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากนโยบายนี้ แต่ก็ขอให้พิจารณาทบทวนราคาประกันข้าวหอมปทุมฯ และข้าวเปลือกเจ้าอีกครั้ง เพราะกำหนดราคาประกันใกล้เคียงกันเกินไป ควรปรับให้มีช่วงห่างมากกว่านี้ เช่น เพิ่มราคาข้าวหอมปทุมธานี อีกตันละ 500 บาท เป็น 11,500 บาทต่อตัน รวมไปถึงข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมนอกเขต เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูกและเข้าร่วมโครงการเนื่องจากคุณภาพข้าวแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันอาจทำให้รัฐบาลใช้งบประมาณไม่มากนัก เนื่องจากภัยแล้งทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาดี ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องกำหนดมาตรการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ ขณะนี้ราคาข้าวหอมปทุมฯ ความชื้น 15% ตันละ 10,000-11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ตันละ 7,800-8,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวปรับสูงขึ้นไปจนถึงผลผลิตออกเดือนตุลาคมนี้

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้ข้าวของรัฐบาลนั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี ทางสมาคมก็เห็นด้วยในการส่งเสริมรายได้ แต่ทั้งนี้มองว่าระดับราคาต้องการให้พิจารณาในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากอาจจะกระทบต่อการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ เพราะราคาข้าวไทยอาจจะสูงกว่าคู่แข่ง และในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทย ส่วนจะราคาเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ดี การหามาตรการเข้ามาดูแลในระยะยาวเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปลายทาง

สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะเรื่องของนาแปลงใหญ่อาจจะต้องร่วมมือทุกหน่วยงาน และผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วม เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันนาแปลงใหญ่ยังมีการเข้าร่วมน้อย โดยเป้าหมายควรจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ อาจจะต้องเข้ามาดูแลทั้งในเรื่องของพื้นที่ ผลผลิตที่จะเพาะปลูก