ไพศาล ธรสารสมบัติ “TMT” ปรับโมเดลรับตลาดเหล็กขาลง

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คำที่หลาย ๆ คนมักใช้กันและมันก็น่าจะเป็นความจริง เมื่ออุตสาหกรรมเหล็กเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ สงครามการค้า การทุ่มตลาด ราคาตก มาตรการที่สกัดการทะลักเข้ามาของเหล็กจีนจนแทบจะเอาไม่อยู่ แต่ยังสามารถใช้จังหวะนี้ปรับโมเดลธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายไพศาล ธรสารสมบัติ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท  เป็นครั้งแรก หลังเปลี่ยนชื่อจาก “ค้าเหล็กไทย” ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สัญชาติไทยแท้นานกว่า 30 ปี ถึงแผนการดำเนินงาน การตั้งรับ บวกกลยุทธ์เชิงรุกในภาวะฝุ่นตลบ

สถานการณ์ตลาดเหล็ก

ในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2562) ที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้อ่อนตัวลง จากปัจจัยภายนอกที่ยังไม่เอื้อทั้งเบร็กซิต สงครามการค้า มีผลต่อการลงทุนในประเทศ และยังส่งตรงกระทบมายังอุตสาหกรรมเหล็ก ที่มีภาวะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (2561) ในเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่มูลค่าลดลง จากการบริโภคลดลง 4-5% การส่งออกอ่อนตัว ธุรกิจบริการไม่ดี ภาคการเกษตรที่หวังว่าฝนครึ่งปีหลังจะช่วยได้บ้าง แต่ในภาพรวมยังคงส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และเมื่อยอดขายรถยนต์ซึ่งเป็นพระเอกกำลังดรอปก็ดึงการลงทุนไปด้วย

ส่วนการลงทุนจากภาครัฐ วิสาหกิจที่เกิดขึ้นยังคงเป็นโครงการต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่าโปรเจ็กต์เดิมเหล่านี้ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ พลังงาน เครือข่ายไฟฟ้า การไฟฟ้า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ยังประคองการลงทุนไว้อยู่ ขณะที่ภาคการลงทุนฝั่งของเอกชน กลับเห็นการเติบโตไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเพราะนักลงทุนยังคงระมัดระวัง และต้องประเมินดูภาพรวมให้มีแนวโน้มดีกว่านี้

ซัพพลายล้น ราคาลง 10%

แน่นอนว่าเหล็กคือสินค้าโภคภัณฑ์ แม้มีปริมาณการผลิต ปริมาณการใช้สูง แต่ก็มีความอ่อนไหว ปี 2562 เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีจากสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ทำให้สินค้าจีนต้องหาตลาดใหม่ บวกกับการบริโภคที่ลดลงของโลก ปริมาณซัพพลายที่ล้น ทำให้มีการแย่งตลาดกันรุนแรง จึงฉุดราคาเหล็กโลกช่วงนี้อยู่ในจังหวะขาลงโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ตั้งแต่ต้นปี แต่อย่างน้อยก็คือไม่ได้เป็นภาวะผันผวน เป็นการลงแบบต่อเนื่อง ทำให้เรารู้ตัวเพื่อรับมือกับมันทันและปรับกลยุทธ์

แข่งเดือดหลังเลิกเซฟการ์ด 

เมื่อต้นปีรัฐยกเลิกมาตรการการปกป้อง (เซฟการ์ด) ส่งผลกระทบบ้าง แม้ว่าเหล็กจีนจะไม่เข้ามาไทยโดยตรง แต่จีนส่งออกไปทั่วโลก ทำให้ราคาปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด เปิดโอกาสให้สินค้าจีน สินค้าที่ใกล้เคียงทะลักไหลกลับเข้ามา เห็นจากตัวเลขนำเข้าที่สูงขึ้น อาจไม่ได้มาจากจีนโดยตรง แต่กระทบจากการที่สินค้าจากแหล่งอื่นต้องหาตลาดใหม่ ครึ่งปีแรกไทยมีการนำเข้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การบริโภคลดลง นั่นแปลว่าการผลิตในประเทศต้องได้รับผลกระทบ ผลิตลดลง รัฐควรต้องดูแลในภาวะแบบนี้ทุกคนรู้ว่าต้องไม่ขัดการค้าเสรี แต่ก็ต้องดูแลผู้ผลิตในประเทศด้วยเช่นกัน สิ่งที่ผู้ผลิตเขาต้องการ คือ การแข่งขันที่เป็นธรรม แฟร์เพลย์

เทียบราคาเหล็กไทย-นำเข้า

แกปราคาเหล็กนำเข้ากับราคาเหล็กในประเทศต่างกันน้อยมาก ในสินค้าเหล็กทุกตัวเดิมต่างกัน 5-10% ตอนนี้ผู้ผลิตเหล็กหั่นราคาต่างกันแค่ 4-5% เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 18 บาท/กก. นำเข้าจีน 17 บาท/กก.

นอกจากการปรับราคาลงแข่งกับเหล็กนำเข้า ผู้ผลิตในประเทศต้องบริหารด้านซัพพลายมากกว่านี้ โดยเฉพาะวัตถุดิบสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ อย่าถือเก็บไว้นาน เดิมเก็บไว้ 3 เดือน ให้เหลือ 1-2 เดือนเท่านั้น พยายามกำจัดซัพพลายส่วนเกิน โดยชะลอการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ การจัดการซัพพลายส่วนเกินถือเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการไปหวังเพิ่มปริมาณความต้องการใช้

แนวโน้มตลาดครึ่งปีหลัง 

ในครึ่งปีหลังข่าวดี คือ งบประมาณที่ภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะงบฯ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะเริ่มลงไปสู่ภูมิภาค แต่เราไม่กล้าคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้เหล็กจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องรอดูโครงการก่อสร้าง โครงการด้านการพัฒนาท้องถิ่น ที่จะเกิดขึ้นได้เร็วหรือไม่ หากทำได้ จะเป็นการสร้างโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรอไปถึงปี 2563 แต่หากติดกฎระเบียบการเบิกจ่ายของงบฯทุกอย่างก็ต้องข้ามไปปีหน้า ขณะเดียวกันโครงการท่าเรือ สนามบินก็ไม่เห็นในปี 2562 นี้แน่นอน

ทาง TMT เรามี 2 ตลาด คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง สัดส่วน 60% เป็นผู้รับเหมา ลูกค้างานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ รวมไปถึงงานซ่อมสร้างที่ใช้เหล็กทรงยาว เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้าง 2.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต สัดส่วน 40% ที่มีทั้งกลุ่มยานยนต์ กลุ่มที่อยู่ในพลังงาน อย่างเสาส่ง หม้อแปลง โรงไฟฟ้า ซับสเตชั่น กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องถางไถ กลุ่มการค้าการขนส่งหรือรถเชิงพาณิชย์ คอนเทนเนอร์ รถพ่วง ที่ใช้เหล็กทรงแบนและเหล็กแผ่น

กลยุทธ์ขาย Solution

เมื่อพฤติกรรมตลาดเริ่มเปลี่ยนไป ลูกค้าลดปริมาณการสั่ง แต่ใช้ความถี่มากขั้น นั่นคือสั่งเป็นลอตเล็ก ๆ ผสมสินค้ามากขึ้น ลูกค้าเมื่อสั่งสินค้าแล้วต้องรอ เขาจะไม่รอเพราะนั่นคือความเสี่ยง

เราจึงปรับโมเดลธุรกิจ เมื่อเราวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มหลักของเรา คือกลุ่มก่อสร้างและกลุ่มผู้ผลิตแล้ว เราจะบริหารสินค้าคงคลังใหม่ เสนอ solution ให้ลูกค้าคล้ายเข้าไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้รู้ว่าแต่ละลอตลูกค้าต้องการสินค้าประเภทไหนบ้าง เน้นช่วยลูกค้าลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ โดยสินค้าคงคลังต้องพร้อมทุกประเภท ทุกไอเท็มให้ครอบคลุม และหลากหลายมากขึ้น

แม้จะทำให้เรามีต้นทุนที่ต้องเพิ่มสต๊อกสินค้าหลากหลายประเภทขึ้น แต่ทำให้เรามีตลาดที่กว้างขึ้น ตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้นถือเป็นจุดแข็งของ TMT เพราะเรามี economies of scale และความพร้อมเรื่องการบริหารจัดการ ระบบเน็ตเวิร์ก กระบวนการผลิต การจัดส่งโลจิสติกส์ ระยะเวลาในการส่งมอบ ให้ลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น บนต้นทุนที่ลดลงจากการบริหารจัดการ ไม่ใช่จากราคาสินค้า

แผนลงทุนครึ่งปีหลัง

เราลงทุนต่อเนื่องมา 3 ปี สามารถรองรับการเติบโตเพียงพอแล้ว มีความสามารถ capacity รองรับการผลิตสูงถึง 1 ล้านตัน/ปี เป็นสัดส่วนการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน 70% และเหล็กโครงสร้างอื่น ๆ อีก 30% การลงทุนใหม่จากนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจ ล่าสุดเป็นการลงทุนขยายโรงงานผลิตอยู่ที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 1,000 ล้านบาท จะเสร็จปลายปีนี้ กำลังการผลิต 700,000 ตัน/ปี คาดว่าปี 2562 จะขยับขึ้นมาเป็น 800,000 ตัน/ปี โดยโฟกัสตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยเน้นประสิทธิภาพ เป็นการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ทุกวันนี้ TMT แข็งแกร่ง เราจะโฟกัสการลงทุนในประเทศยังไม่มีแผนลงทุนต่างประเทศ เพราะปัญหาด้านความไม่แน่นอนของกฎหมายในบางประเทศ

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ตามที่รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีรายได้รวม 8,617.36 ล้านบาท กำไรสุทธิ 182.83 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/2562 เล็กน้อย โดยทั้งปี 2562 ตั้งเป้ายอดขายโต 5% จากปีที่แล้ว กำไรเบื้องต้นคาดว่าจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปี 2561 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 17,419.90 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 405.88 ล้านบาท