ชง กนศ.เคาะฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู พ.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม.2562 ที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ ได้มีมติให้อียูกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น รวมถึงการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย และการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกสำคัญที่ทำให้ไทยกับอียูสามารถเดินหน้าหารือฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันได้ ภายหลังฝ่ายบริหารชุดใหม่ของอียูจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2562

ทั้งนี้ในส่วนของไทย อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือผู้มีส่วนได้เสียเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยตั้งเป้านำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.2562 และคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องขั้นตอนการดำเนินการต่อไป เพื่อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูภายในสิ้นปีนี้

สำหรับรายละเอียดการดำเนินการของกรมฯ ได้เตรียมข้อมูลการประเมินประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมเยียวยาหรือปรับตัว โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.ด้านการศึกษาวิจัย ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.2562 และ 2.ด้านการหารือผู้มีส่วนได้เสีย ได้จัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม ทั้งในรูปแบบกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ และทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุด

การฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยในส่วนของโอกาส จะช่วยขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนความท้าทาย เนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับหลายประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และเมร์โกซูร์ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย) มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ไทยจึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับเรื่องเหล่านี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249.16 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.–ส.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 29,757.10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 16,093.10 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 13,664 ล้านเหรียญสหรัฐ