ปิดฉากเจ้าภาพอาเซียน ปี’62 พาณิชย์ประกาศความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ 10 ด้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ ว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับต่างๆ ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี ระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระดับปลัดกระทรวง ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรืออธิบดี จนถึงระดับคณะทำงาน รวมแล้วกว่า 20 การประชุม ซึ่งการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้นอกจากที่ไทยจะมีบทบาทและเป็นที่สนใจในประชาคมโลกแล้ว ไทยยังได้มีโอกาสที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ไทยให้ความสำคัญ และอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

โดยในปีนี้ ไทยได้กำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 (Priority Economic Deliverables) รวม 13 ประเด็น ซึ่งขณะนี้อาเซียนดำเนินการเสร็จแล้ว 10 ประเด็น ได้แก่ (1) แผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล (2) แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (3) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (4) หลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น (5) การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (6) แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน (7) แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน (8) การจัดทำความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและสถาบันวิจัยในอาเซียน และความสำเร็จล่าสุดที่ผู้นำประกาศในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ได้แก่ (9) การประกาศแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ (10) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป และอีก 3 ประเด็นที่เหลือคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งประเด็นด้านเศรษฐกิจฯ จะช่วยเตรียมความพร้อมของอาเซียนเพื่อรองรับอนาคต ส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในอาเซียนและอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

นอกจากนี้ ประเด็นด้านเศรษฐกิจฯ ที่ไทยกำหนดแล้ว ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาอาเซียนยังประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง อาทิ (1) การลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการ และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น (2) การลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) ที่ไม่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น (3) การสรุปการเจรจาเพื่อให้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self-Certification) สามารถเริ่มใช้งานได้ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป (4) การได้ข้อสรุปข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน (AP MRA) ที่เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2548 ที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่รับรองโดยหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนของประเทศสมาชิกโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการส่งออก-นำเข้าสินค้ายานยนต์ภายในภูมิภาค (5) การมีผลบังคับใช้ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) เมื่อวันที่ 11 และ 17 มิถุนายน 2562 (6) การลงนามพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อปรับปรุงความตกลงฉบับเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีการค้าสินค้า ให้รวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการคุ้มครองการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงการประชุม ASEAN Summit รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นความตกลงที่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยปรับปรุงพิธีสารฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์และมีความชัดเจนมากขึ้น และสอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยจะสามารถใช้กลไกระงับข้อพิพาทใหม่ของอาเซียนในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทต่างๆ และกดดันสมาชิกให้ปฏิบัติตามพันธกรณี

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,792 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.91 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,247 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเกินดุล 23,298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย