“อุตฯไบโอชีวภาพ” สะดุด มิตรผล-KSLพับแผนลงทุน-ไม่มีตลาด

(Photo by Marco Bulgarelli/Gamma-Rapho via Getty Images)

ผ่านมา 1 ปีเศษ หลังจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินหน้านโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ bioeconomy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 วางแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่ส่วนต่อขยายในบริเวณจังหวัดภาคหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ครอบคลุม 3 จังหวัด จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น รวมมูลค่าโครงการ 5 ปี 133,000 ล้านบาท

ดันไทย “ฮับอาเซียน”

นโยบายนี้มุ่งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “Bio Hub of ASEAN” โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เป็นกลไกทำให้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายnew S-curve ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งภายหลังจาก ครม.ผ่านมาตรการ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ออกประกาศให้สามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ไว้ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

ส่วนที่เหลือคือการเตรียมความพร้อม ที่ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ให้เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ แต่ขณะนี้กฎหมายก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ

1 ปีไม่คืบ มิตรผล-KSL พับแผน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับมาตรการ bioeconomy ถือเป็นแนวคิดที่เชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม หากประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อย่างมาก และการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับผังก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกคัดค้านจากชุมชนเกษตรกร

แต่ผ่านไปกว่า 1 ปี กลับดูท่าทีว่า มาตรการ bioeconomy ที่เคยคาดหวังให้รายใหญ่ ๆ ลงทุนตามแผน 1.33 แสนล้านที่วางไว้ โดยขณะนี้มีเพียงกลุ่ม ปตท. โดยบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ที่จับมือกับทางกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผุดโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ภายใต้เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท

ขณะที่ “บริษัท มิตรผล จำกัด” คือ อีกหนึ่งรายที่มีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ จ.ขอนแก่น ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 30,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังต้องชะลอแผนนี้ออกไป เนื่องจากยังต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชุมชนก่อนว่า อุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ก็ต้องสั่งทบทวนแผนไบโอฯแล้วเช่นกัน “นายชลัช ชินธรรมมิตร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ KSL กล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลเน้นให้การยกเว้นและลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ลงทุน จนลืมมองว่าขณะนี้ตลาดมีความต้องการ หรือมีดีมานด์มากน้อยเพียงใด

อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วจะต้องประกาศเป็นนโยบายใหญ่ รัฐต้องกำหนดลดปริมาณการใช้พลาสติกลงกี่เปอร์เซ็นต์ภายในปีใด และให้เหลือศูนย์ในปีใด ควบคู่ไปกับส่งออกมาตรการสร้างดีมานด์ในกลุ่มผู้ใช้ เช่น บริษัทใดลดการใช้พลาสติกลงได้มาก สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ คาดว่าขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างการร่างมาตรการดีมานด์นี้อยู่ ซึ่งแนวทางนี้จึงจะทำให้เอกชนกล้าที่จะลงทุน เพราะคุ้มและรู้ว่ามีตลาดรองรับ ขณะที่เรื่องของการหาพาร์ตเนอร์และเทคโนโลยี knowhow ไม่ใช่เรื่องยาก

BOI ชี้ครอบคลุม THAILAND Plus

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการ bioeconomy ถูกเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดบีโอไอหลายครั้ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานบอร์ด ได้สั่งการให้นำกลับไปดูเรื่องของเชิงพื้นที่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน บีโอไอได้คลอดแพ็กเกจไทยแลนด์พลัสออกมา ซึ่งมีความครอบคลุมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็นับว่าสามารถใช้แพ็กเกจนี้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้ ดังนั้น การจะออกมาตรการ bioeconomy อาจยังต้องใช้เวลาทบทวนก่อน

ด้านนายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ไทยเองเก่งในการเป็นผู้ผลิตอ้อยสู่น้ำตาล มีวัตถุดิบ มีโรงงานน้ำตาล แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพนั้น เรื่องสำคัญคือการมีพาร์ตเนอร์เทคโนโลยีที่เก่ง เพราะจะเกิดอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมาอีกมาก วันนี้จึงทำให้เห็นว่า กลุ่ม ปตท.นั้นจับมือกับ KTIS ลงทุนไปแล้ว ส่วนรายที่เหลือต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าทุกคนได้เตรียมความพร้อมไว้บ้างแล้ว

สัดส่วนการใช้ไบโอชีวภาพไม่ถึง 5%

ภราดร จุลชาติ

ขณะที่นายภราดร จุลชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขอความร่วมมือให้ห้างค้าปลีกลดการใช้ถุงพลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single used) ซึ่งมีความบางน้อยกว่า 35 ไมครอน เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ถุงที่มีความหนามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ ทั้งนี้ ถุงประเภทดังกล่าวมีปริมาณการใช้ 45,000 ล้านใบต่อปี

ในระหว่างนี้ เอกชนเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการมาตรการส่งเสริมการดำเนินตามโรดแมปให้มีผลทางปฏิบัติมากขึ้น โดยเอกชนจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงาน PPP ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคู่ขนานกันไป

“ที่ผ่านมาไบโอชีวภาพไม่ได้รับความนิยม มีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 5% เพราะมีข้อจำกัดด้านคุณสมบัติราคาสูง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่มีจำกัด จึงไม่ได้รับความนิยม หากรัฐจะส่งเสริมควรเน้นกลุ่มที่บรรจุอาหาร และต้องทำโรงทำปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อรองรับขยะกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้บรรจุอาหาร และไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ต้องปรับทำให้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพไปเลย”