ค่าเงินบาท ทุบข้าวไทยกระอัก ส่งออกร่วง-รัฐชดเชยบาน

ข้าวราคาตกต่อเนื่อง ประกันรายได้รอบ 3 รัฐจ่ายเพิ่มบาน เอกชนเหงื่อตกดันยอดส่งออกเข้าเป้า 8 ล้านตัน เผย 10 เดือนแรกทำได้ 6.5 ล้านตัน ตลาดหด 28% แถมเดือน ต.ค.วูบหนักเหลือแค่ 6 แสนตัน บิ๊กส่งออกชี้ปี”63 หืดจับ ฝ่าวงล้อม 4 ปัจจัยลบ แล้งซ้ำ บาทแข็ง-แข่งเดือด เมียนมา-จีนเทสต๊อก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า มีแนวโน้มราคาข้าวจะลดต่ำลงอีก ทำให้รัฐต้องจ่ายชดเชยราคาประกันรายได้ให้เกษตรกรรอบ 3 เพิ่มมากขึ้น หลังดำเนินโครงการประกันรายได้มาต่อเนื่อง 2 รอบ โดยต้องเริ่มจ่ายชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวขาวและข้าวปทุมธานี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาข้าวในตลาดปรับลดลงจากรอบแรก ขณะเดียวกันแม้การจ่ายชดเชยจะไม่กระทบกลไกตลาด แต่มาตรการนี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาต้นตอที่ทำให้ราคาข้าวลดลง ทั้งจากปริมาณซัพพลายข้าวนาปี 2562/2563 ที่เริ่มทะลักออกมาพร้อมกันช่วงกลางเดือน พ.ย. และการส่งออกซึ่งเป็นช่องทางระบายผลผลิตข้าวประสบปัญหาชะลอตัวอย่างหนัก

ลุ้นยอดส่งออกเข้าเป้า 8 ล้านตัน

ตัวเลขล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า เดือน ต.ค. 2562 ยอดส่งออกอยู่ที่ 542,516.42 ตัน รวม 10 เดือน ส่งออกได้ 6.47 ล้านตัน ลดลง 28% ห่างจากเป้าหมายที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยวางไว้ที่ 8 ล้านตัน ดังนั้นหากต้องการจะผลักดันการส่งออกข้าวให้เป็นไปตามเป้าหมาย ช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) จะต้องส่งออกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 765,000 ตัน

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยที่ยังมีส่วนแบ่งการส่งออกสูงสุดช่วง 10 เดือนแรก นำโดยกลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ เดือน ต.ค.ส่งออกได้ 73,400.97 ตัน รวม 10 เดือนส่งออกได้ 864,621.63 ตัน ตามด้วยกลุ่มนครหลวง 66,376.96 ตัน รวม 10 เดือนส่งออกได้ 785,717.79 ตัน อันดับ 3 กลุ่มธนสรรไรซ์ 22,244.66 ตัน รวม 10 เดือน 497,857.15 ตัน อันดับ 4 กลุ่มซีพี 30,718.05 ตัน รวม 10 เดือนส่งออกได้ 377,558.88 ตัน และอันดับ 5 กลุ่มแสงฟ้า 36,883.60 ตัน รวม 10 เดือน ส่งออกได้รวม 371,233.80 ตัน

ปี”63หืดจับหวั่นคู่แข่งแย่งตลาด

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกช่วง 10 เดือนแรกลดลงอย่างมาก แต่ภาพรวมคาดว่าจะยังสามารถผลักดันให้ได้ตามเป้า 8 ล้านตัน ที่น่าห่วงคือภาพรวมการส่งออกข้าวในปี 2563 จะ “เหนื่อยหนัก” กว่าปีนี้ จาก 4 ปัจจัยหลักคือ ค่าบาทไทยยังคงแข็งค่ากว่าคู่แข่ง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งเฉลี่ยตันละ 20-70 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ซื้อหันไปหาคู่แข่งหน้าใหม่อย่างเมียนมาและจีน

ซึ่งมีโอกาสจะแซงไทย จากปัจจุบันที่สต๊อกข้าวจีนมีปริมาณมากทำให้จีนลดการนำเข้าและหันมาเป็นผู้ส่งออกแทน และปัจจัยสุดท้ายซึ่งน่ากังวลมากที่สุดคือภาวะแล้งหนักในปีหน้า เนื่องจากขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ลดลงไปเหลือ 40% แล้ว

“ทั้งปีนี้น่าจะส่งออกได้ 8 ล้านตัน แต่ปีหน้าเหนื่อยแน่ครับ จะหนักกว่าปีนี้อีก จากค่าบาท คู่แข่งสต๊อกมาก ขายถูก ราคาเราก็สู้คู่แข่งไม่ได้ เขาคงไปเน้นจีน พม่า อินเดีย ซึ่งราคาต่ำกว่าตั้งแต่ 20-70 เหรียญ แล้วแต่ว่าจะเป็นข้าวแหล่งกำเนิดจากประเทศไหน คู่แข่งหน้าใหม่มาแรง ส่วนเวียดนามก็ขยับไปขายคุณภาพสูงขึ้น ประกอบกับจะแล้งหนักด้วย”

กระทุ้งรัฐเร่งแก้ปัญหาต้นตอ

สำหรับแนวทางผลักดันการส่งออกขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นตลาดส่งออกที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งอิรัก อิหร่าน และการเดินหน้าเจรจาขายข้าวจีทูจีกับคอฟโก้ รัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งยังคงเหลืออีก 3 แสนตัน นอกจากนี้ ไทยควรเจรจาผลักดันให้ไนจีเรียลดภาษีเปิดให้นำเข้าข้าว

“ไทยอาจต้องพิจารณาวิธีการใหม่ เช่น ไปเจรจาแลกซื้อน้ำมัน-ข้าว เรื่องนี้ผมเคยหารือกับ ปตท. คิดว่าเป็นไปได้ ตอนนี้เขาปิดการนำเข้ารวมถึงปิดชายแดนเบนิน สกัดการนำเข้ามาระยะนึงแล้วทำให้ตลาดข้าวนึ่งไม่ดี”

สอดคล้องกับที่นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด มองว่าการส่งออกข้าวปีนี้น่าจะทำได้ 8-8.5 ล้านตัน มาตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้ว เหตุผลสำคัญเป็นเพราะราคาและค่าเงินบาททำให้แข่งขันลำบาก หากค่าบาทยังทรงแบบนี้ปีหน้าคงลำบาก และทางรัฐบาลจีนก็ยังคงไม่มาเจรจาต่อรองในการรับมอบข้าวจีทูจีอีก 3 แสนตัน ในส่วนของบริษัทคาดว่าปี 2563 จะมียอดการส่งออกปริมาณ 5 แสนตันใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะบริษัทหันมามุ่งทำตลาดข้าวถุงในประเทศมากขึ้น มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดหลายกิจกรรม แนวโน้มในอนาคตมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออก และการค้าภายในประเทศให้อยู่ในระดับ 50:50

งวด 3 รัฐต้องจ่ายชดเชยเพิ่ม

ขณะที่ตลาดข้าวในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลงเช่นกัน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้การส่งออกไทยลดลง 2-3 ล้านตัน เหลือ 8 ล้านตัน จากปีก่อนที่ทำได้ 11 ล้านตัน ขณะที่ภาพรวมการค้าข้าวโลกยังคงเท่าเดิมประมาณปีละ 40 ล้านตัน เท่ากับว่าไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์ว่าเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวใด เพราะเหตุใด เช่น จากค่าบาทเราแข็งกว่าคู่แข่ง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่เช่นนั้นอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกไปแบบถาวร

“ราคาข้าวสารและข้าวเปลือกในประเทศขณะนี้กลุ่มที่อ่อนตัวลงมากที่สุด คือข้าวขาว 5% ข้าวนึ่ง และข้าวปทุมธานี ราคาตลาดยังลดลง ผลจากการส่งออกลด งวด 3 รัฐบาลอาจจะต้องจ่ายชดเชยข้าวขาวและข้าวปทุมธานีต่อ ส่วนราคาข้าวเหนียวตอนนี้ฟื้นกลับมาบ้างจากที่ลดลงไปต่ำสุด 10,000 บาทต่อตัน เพิ่มเป็น 11,500-12,500 บาทต่อตัน จากราคาที่เคยสูงสุดที่ทำได้ 16,000 บาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวสารเหนียวก็เพิ่มขึ้นด้วย เป็น 30,000 บาทต่อตัน จากเดิมที่ทำได้ 25,000-26,000 บาทต่อตันในส่วนของข้าวเหนียวไม่น่าห่วงเพราะสต๊อกไม่มี และเป็นข้าวที่ผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นหลัก ปีละ 3 แสนตัน ส่วนราคาข้าวหอมมะลิก็ขยับขึ้นเช่นกันเพราะเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวนาปีแล้ว คาดว่าไม่นานน่าจะเก็บเกี่ยวหมด ราคาข้าวหอมมะลิไม่สูงเท่าปี 2561 ที่มีภัยแล้ง ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิปรับสูงขึ้นผิดปกติ ตอนนี้ปรับฐานลงมาสู่ปกติ”

3 มาตรการคู่ขนานประกันรายได้

และหลังจากรัฐบาล โดยกรมการค้าภายใน ประกาศ 3 มาตรการ คู่ขนานกับโครงการประกันรายได้ โดยโรงสีได้สิทธิ์เข้าร่วมในส่วนของโครงการชดเชยดอกเบี้ยที่รัฐกำหนดวงเงินชดเชย 510 ล้านบาท สำหรับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน จะเริ่มรับซื้อตั้งแต่ 20 พ.ย. 2562-30 เม.ย. 2563 และเก็บสต๊อกไว้ตั้งแต่ 20 พ.ย. 2562-31 ธ.ค. 2563

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ปีนี้โรงสีน่าจะให้ความสนใจเข้าโครงการนี้ ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปี 2561/2562 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 194 โรง รับซื้อข้าวเปลือกนาปีเก็บสต๊อกได้ 3.22 ล้านตัน จากเป้าหมาย 5 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินรับซื้อ 43,403 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการตลาดในปีหน้า ขณะนี้ยังคาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะผลพวงจากภาวะภัยแล้งว่าจะรุนแรงเหมือนปีก่อนหรือไม่ เพราะปีก่อนทางกระทรวงเกษตรฯให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเหลือ 4.5 ล้านไร่ หากปีนี้สถานการณ์รุนแรงก็อาจจะลดลงต่อเนื่อง