ไทย-ฮ่องกงดันการค้า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ‘สมคิด-แคร์รีหล่ำ’เชื่อมGBAลงทุนCLMV

สมคิด-แคร์รี หล่ำ ไฟเขียว FTA ไทย-ฮ่องกง เชื่อมตลาดหุ้นฮ่องกง-SET 50-พาณิชย์เดินหน้าศึกษา FTA ดันส่งออกทะลุเป้าหมายผู้นำวางไว้ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือระดับสูง (HLJC) กับนางแคร์รี หล่ำ (The Honourable Mrs.Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และคณะผู้บริหาร นักธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทยกับฮ่องกง 5 ฉบับ ในด้านการคมนาคม การค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลาดเงิน ตลาดทุน สตาร์ตอัพ การวิจัยและนวัตกรรม การศึกษา รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทั้งนี้ สองฝ่ายตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และได้เริ่มหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ฮ่องกง เพราะฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางด้านการกระจายการส่งออกสินค้าและด้านบริการ พร้อมทั้งปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชน

“การมาครั้งนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์และมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับฮ่องกงและจีน นับเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮ่องกง เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย และต่อภูมิภาคโดยส่วนรวม เพราะฮ่องกงเป็นหัวหอกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area : GBA) และเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก เป็นที่รวมของผู้ประกอบการระดับโลก เต็มไปด้วยบริษัทใหญ่และเล็กที่มีพลวัตสูง และก้าวไปสู่ตลาดโลกอย่างสง่างาม และมีเทคโนโลยีในการพัฒนาสตาร์ตอัพระดับโลก ส่วนไทยมีสถานการณ์ทางการเงินมั่นคงและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ เป็นศูนย์กลางของ CLMVT ที่มีศักยภาพสูงสุดของโลก และเป็นซัพพลายเชนที่สำคัญของภูมิภาคนี้และของโลก ประเด็นสำคัญ คือ การเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการลงนาม MOU 5 ฉบับ ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ” นายสมคิดกล่าว

สำหรับประเด็นที่หารือกัน ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 การส่งเสริมการค้าและการลงทุน สินค้าเกษตรและผลไม้ อุตสาหกรรมใหม่

ประเด็นที่ 2 ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ซึ่งนักลงทุนฮ่องกงมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับฮ่องกงเพื่อเตรียมการและลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดนักลงทุนอุตสาหกรรมใหม่

ประเด็นที่ 3 ด้านการเงิน (financial market) เชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของไทยและฮ่องกง เริ่มจาก 50 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET50) และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง รวมถึงกองทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำ regulatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ ตลท. จะไปหารือในฮ่องกง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand เพื่อผลิต startup และพัฒนา SMEs ผ่านกองทุนเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ และประเด็นที่ 5 ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีพลังแห่งความสร้างสรรค์ (creative power) อยู่มาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ สองฝ่ายจึงจะร่วมกันพัฒนและเสริมสร้างให้มีการใช้พลังนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป

นางแคร์รี่ หล่ำ กล่าวว่า ฮ่องกงตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ขึ้นในไทย ซึ่งการลงนาม MOU 5 ฉบับ ครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และจะเป็นเวทีริเริ่ม FTA ไทย-ฮ่องกง ให้ใกล้ชิด และขยายความร่วมมือให้ชัดเจนมากขึ้น

“นายสมคิดเป็นเพื่อนของดิฉันที่มีบทบาทสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับไทย เป็นเพื่อนที่ดีทั้งในยามที่ฮ่องกงประสบกับสภาวะที่ยากลำบาก และในสภาวะที่ดี ซึ่งการที่นายสมคิดเดินทางมาร่วมสัมมนาเขตยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า หรือ GBA เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ไทยให้ความสำคัญกับฮ่องกง ดังนั้น นับจากนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือ การเกื้อกูลผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งภายในฮ่องกง ขอย้ำให้คนไทยมั่นใจว่า ฮ่องกงจะยึด One Country Two System (1 ประเทศ 2 ระบบ) ฮ่องกงจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ได้ โดยมีไทยให้การสนับสนุน”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่รัฐบาลสองฝ่ายได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ซึ่งเชื่อว่าจะให้ประโยชน์ต่อสองฝ่ายมากขึ้นจากเดิมก่อนหน้านี้ เพิ่งจะบังคับใช้เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น 4 เดือน นับจากมีผลบังคับใช้ (มิ.ย.-ก.ย. 2562) มีการใช้สิทธิ ลดภาษี เพื่อส่งออกไปยังฮ่องกง ตามกรอบเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง มูลค่า 7.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง ซอส ผ้าทอ โพลิเมอร์ และโพลิเอทิลีน เป็นต้น

“ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าของฮ่องกงถือว่าเป็นประเทศมีการค้าเสรี มีอัตราภาษีส่วนใหญ่เป็น 0% แต่หากมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินและโลจิสติกส์ ทั้งยังสามารถเชื่อมโครงข่ายเส้นทาง One Belt One Road และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay ระหว่างมณฑลกวางตุ้ง มาเก๊า และฮ่องกง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุนของไทยในฮ่องกง และของนักลงทุนฮ่องกงในไทยในอนาต”

รายงานจากกรมศุลกากร ระบุว่า ปัจจุบันฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2562) สองฝ่ายมีมูลค่าการค้า 12,108.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 9,844.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.60% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน
แบบลูกสูบและส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น

สำหรับการนำเข้าจากฮ่องกง 2,264.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.92% โดยสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น