ลำไยนอกฤดูสู่ตลาดจีน โอกาสของเกษตรกรไทย

อาทร เจียมเด่นงาม, ธนพร ตั้งตระกูล, อภิชญา ศรีรัตน์
ส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกลำไยเป็นอันดับ 1 ของโลก จากข้อมูลการส่งออกในปี 2561 ประเทศไทยส่งออกลำไยมูลค่ารวม 27,726.8 ล้านบาท แบ่งเป็นลำไยสด 17,219.3 ล้านบาท ลำไยอบแห้งและแช่แข็ง 10,507.5 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปจีนและบางส่วนผ่านเวียดนามเข้าสู่จีน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ในด้านผลผลิตประเทศไทยผลิตลำไยมากถึง 1,055,847 ตัน เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีนเท่านั้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังปี 2550 แม้ว่าผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาของลำไยกลับเพิ่มขึ้นและมีความผันผวนน้อยลง ซึ่งความสำเร็จนี้มาจากการปรับตัวของเกษตรกรไทยและความร่วมมือจากภาครัฐ

ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญของลำไยที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ช่วงปี 2532–2539 เกษตรกรค้นพบวิธีการทำลำไยนอกฤดูแต่ยังขาดความชำนาญ ทำให้ต้นลำไยบางส่วนเสียหาย การทำลำไยนอกฤดูจึงยังไม่แพร่หลาย ต่อมาช่วงปี 2545-2548 เกิดวิกฤตผลผลิตลำไยล้นตลาด ส่วนหนึ่งเพราะล้งรับซื้อมีน้อยราย ทำให้ราคาลำไยลดลงไปต่ำกว่า 15 บาท/กิโลกรัม จนกระทั่งปี 2550 เริ่มส่งออกลำไยอบแห้งไปจีนได้มากขึ้น ทำให้ล้งจีนเข้ามารับซื้อ ตลาดลำไยจึงกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เกษตรกรมีแรงจูงใจปลูกลำไยมากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการปรับตัวทำลำไยนอกฤดูเพื่อส่งออกไปตลาดจีน ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกลำไยมากถึง 1,138,561 ไร่ เกษตรกรกว่า 200,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือประมาณ 70% ภาคตะวันออก 28% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2% ที่น่าสนใจคือเป็นการทำลำไยนอกฤดูมากกว่า 50% ของพื้นที่ทั้งหมด

จากข้อมูลจะเห็นว่าในช่วงก่อนปี 2550 ราคาลำไยจะค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ เมื่อปีใดผลผลิตมากราคาก็จะลดลง ปีใดมีผลผลิตน้อยราคาก็จะสูงมาก (เช่นปี 2541 เกิดเอลนิโญทำให้มีผลผลิตน้อยราคาจึงพุ่งเกิน 80 บาท/กิโลกรัม) ภายหลังปี 2550 แม้ว่าผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาก็ไม่ได้ตกต่ำเหมือนในอดีต เนื่องจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเกษตรกรร่วมมือกันพัฒนาการผลิตลำไย มีการวิจัยและเผยแพร่ความรู้ในการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตอย่างถูกต้อง ให้ความรู้ด้านเทคนิคการดูแลรักษาตัดแต่งกิ่งและจัดทรงพุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตลำไยนอกฤดูที่มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีภายหลังการเก็บเกี่ยวให้สามารถเก็บรักษาลำไยได้นานขึ้น ทำให้ส่งออกลำไยได้ตลอดทั้งปี

เกษตรกร ภาครัฐ ร่วมก้าวผ่านปัญหาการกระจุกตัวของผลผลิต เมื่อเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตกับราคาลำไย ระหว่างก่อนหน้าการทำลำไยนอกฤดู (ปี 2548-2549) กับภายหลังการทำลำไยนอกฤดู (ปี 2561-2562) จะเห็นว่าช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ก่อนการทำลำไยนอกฤดูราคาที่เกษตรกรขายได้จะตกลงมาอยู่ที่ 10-15 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ภายหลังการทำลำไยนอกฤดูราคาสามารถคงอยู่ที่ 25-30 บาท/กิโลกรัมได้

อนาคตตลาดส่งออกลำไยยังมีทิศทางดี จากหลายปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ตลาดจีนยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยมีความเชื่อว่าลำไยคือ “ผลไม้ตามังกร กินแล้วโชคดี มีสรรพคุณทางยา” (2) ผลผลิตภายในประเทศจีนไม่เพียงพอ ผลิตได้เองเพียง 1.2-1.4 ล้านตัน ขณะที่ต้องการบริโภคมากถึง 2 ล้านตัน/ปี (3) ลำไยไทยมีคุณภาพสูง ผลใหญ่ รสชาติหวาน เนื้อหนา เม็ดเล็ก ต่างจากลำไยปิงปองของเวียดนาม (4) ระบบขนส่งดีขึ้น ทั้งช่องทางเรือและรถยนต์ โดยเฉพาะเส้นทาง R3A และ R12 ที่เชื่อมโยง 4 ประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม สปป.ลาว และ ไทย (5) ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้การส่งออกลำไยไทยสะดวกมากขึ้น


การผลิตลำไยต้องพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ เกษตรกรต้องเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) ภาคธุรกิจควรเน้นพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาและแปรรูป ให้ตรงความต้องการของตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำลำไยอบแห้งสีทองซึ่งเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ภาครัฐสนับสนุนการวิจัยถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ การป้องกันความเสี่ยงโรคต่างๆ การควบคุมมาตรฐานการส่งออก รวมทั้งช่วยขยายตลาดใหม่ๆ