ปิ่นทอง-IRPCทุ่ม4,200ล้าน ผุด”2โรงไฟฟ้าก๊าซ”120MW

สุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน)

“ปิ่นทอง อินดัสเตรียล” จับมือ “ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์” ทุ่ม 4,200 ล้านบาท ผุดโรงไฟฟ้าก๊าซอีก 2 แห่ง รวม 120 เมกะวัตต์ ที่ชลบุรี เผยนักลงทุนจีนจ่อเซ็นซื้อที่ดิน 150 ไร่ ขนทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปักหมุดในนิคมใหม่ปิ่นทอง 6 คาดดึงมูลค่าการลงทุนได้ถึง 38,000 ล้านบาท

นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกลุ่ม ปตท. โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ จำกัด ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซ 2 แห่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองโครงการ 5 จ.ชลบุรี 1 โรงขนาด 60 เมกะวัตต์ และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองโครงการ 1-2 จ.ชลบุรี 1 โรงขนาด 60 เมกะวัตต์ คาดว่าใช้เงินลงทุนกว่า 4,200 ล้านบาท โดยจะเห็นความชัดเจนของโครงการนี้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ทั้งนี้ โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนการลงทุน 5 ปีของบริษัทซึ่งได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ แล้วอีก 1,900 ไร่ ยังพร้อมขยายไปยังธุรกิจอื่น

ขณะเดียวกัน นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทเตรียมเปิดพื้นที่ขายในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 6) ที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นนิคมแห่งใหม่ที่ร่วมดำเนินการกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ใช้เงินลงทุน 2,625.78 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,322.40 ไร่ เป็นพื้นที่ก่อตั้งโรงงาน 954.33 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 228.59 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 739.67 ไร่ ขณะนี้ได้ผ่านการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในไทยอีกประมาณ 38,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานถึง 9,500 อัตรา และเตรียมยื่นขอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการของ EEC โดยเป้าหมายเน้นนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับนักลงทุนจีนไว้แล้วและเตรียมเซ็นสัญญาซื้อพื้นที่ 150 ไร่


“ภาพรวมการลงทุนขณะนี้ นักลงทุนจีนเริ่มส่งสัญญาณการย้ายเข้ามาไทยตามแผนการลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 บวกกับสงครามการค้าส่งผลให้สัดส่วนของนักลงทุนจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 72% จากเดิมเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะนโยบายที่ชัดเจนรวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม แบบแผน ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้การตัดสินใจของนักลงทุนได้ 100%”