แจ้งข้อหาหมิ่นประมาท โฆษกกรมศุล “วิชัย” ไม่ยอมข้อมูลหน้ากากคลาดเคลื่อน

(แฟ้มภาพ) นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในวันที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับโฆษกกรมศุลกากร กับ บก.ปอท.

อธิบดีกรมการค้าภายในเข้าแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกับโฆษกกรมศุลกากรหลังจากให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนและมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ พร้อมชี้แจงขั้นตอนการขอส่งออก พบมีเพียง 12.7 ล้านชิ้นเท่านั้น

วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาการหมิ่นประมาทโดยการประชาสัมพันธ์ เพราะเอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาออกสื่อ ทำให้กรมการค้าภายใน ได้รับความเสียหาย กับนายชัยยุทธ คำคูณ  ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ที่รายงานการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยเป็นการให้ส่งออกหน้ากากอนามัย ตามใบอนุญาตของกรมการค้าภายใน

โดยย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เพราะหลังจากมีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกแล้ว ยกเว้นกรณีที่หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทยและหน้ากากที่มีลิขสิทธิ์ หรือมีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมียื่นขออนุญาตส่งออกรวม 53 ล้านชิ้น แต่คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ส่งออกได้เพียง 12.7 ล้านชิ้น  ซึ่งจำนวนการส่งออกจะสำแดงเป็นชิ้น ไม่ใช่คิดเป็นปริมาณตัน

“ซึ่งหากผู้ให้ข่าว ไม่มั่นใจในข้อมูล ก็ควรสอบถามมายังกรมการค้าภายในก่อน เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นคลาดเคลื่อน เพราะขณะนี้หากมีเรื่องของหน้ากากอยามัย จะเป็นประเด็นขึ้นทันที พร้อมยืนยันว่า ดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน และดำเนินคดีภายใต้กรมการค้าภายใน และยื่นยันว่าเรื่องนี้ ไม่ได้ไปโยงกับประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องในแนวทางปฎิบัติที่กรมฯ รับผิดชอบ แต่หากใครจะตำหนิส่วนตัวก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องของกรมฯ จึงยอมไม่ได้ และอยากให้สังคมรับรู้ความถูกต้องเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีความบาดหมางหรือรู้จักเป็นการส่วนตัว หรือมีความแค้นส่วนตัว แต่เป็นการดำเนินเพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน”

ในวันเดียวกัน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัย ว่า  จากการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ จากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่ามีความคลาดเคลื่อนไปมาก เพราะหากจากดูเวลาการประกาศควบคุมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ คุมการส่งออกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่หากเป็นการส่งออกก่อนหน้านี้จะยังถือว่าเป็นการส่งออกในการค้าปกติ ที่ยังไม่พบปัญหาไวรัสโควิด- 19 ขณะที่ตัวเลข 330 ตัน เท่ากับจำนวนชิ้นหน้ากากถึง 80 ล้านชิ้น ซึ่งความเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งพิกัดการส่งออกนั้น เป็นพิกัดที่ผสมหรือรวมหลายสินค้า แต่หากดูเฉพาะหน้ากากสีเขียวที่มีการจำกัดจะถูกแยกไม่ได้รวมกัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหน้ากากอนามัยในประเทศมีมากถึง 71 ชนิด แต่หากดูเฉพาะชนิดที่ห้ามส่งออกนั้นคือเป็นชนิดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และประเทศไทยใช้เป็นส่วนใหญ่ และการพิจารณาการส่งออกจะต้องผ่านคณะกรรมการและเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มีลิขสิทธิ์ มีทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นชนิดหน้ากากที่ไม่ใช้ภายในประเทศ โดยคณะกรรมการพิจารณาและอนุญาตให้มีการส่งออกไปได้นั้นมีแค่อยู่ในช่วง 17-28 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนการขออนุญาตส่งออกในเดือนมีนาคม 2563 นี้ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ส่วนที่มีการปฏิเสธไม่ให้อนุญาตส่งออกมีถึง 41 ล้านชิ้น ส่วนที่อนุญาตไปนั้นมีเพียง 12.7 ล้านชิ้นพิจารณาเป็นอยู่ที่ 40 ตัน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้รับชี้แจงจากโรงงาน 11 โรงงานว่าสามารถเพิ่มสายการผลิตจาก 1.2 ล้านชิ้น เป็น 1.56 ล้านชิ้น ทำให้ปริมาณการจัดสรรไปยังหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ในส่วนของโรงพยาบาลในทุกสังกัด จะเพิ่มขึ้นจาก 7 แสนชิ้นเป็น 8 แสนชิ้น ขณะที่ในส่วนของค้าปลีก ประชาชนทั่วไปจากเดิม 5 แสนชิ้น เป็น 7.6 แสนชิ้น ขณะที่กระแสข่าวหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หรือมีการสต๊อกหรือขายแพงขนาดนี้ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นยังไม่พบจำนวนดังกล่าว แต่ที่พบคืออยู่ที่ 10,000 ชิ้น และก็ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหาไม่ดำเนินการแจ้งสต๊อกไป ส่วนการนำเข้าปัจจุบันพบว่าลดลงเหลือเพียง 9 แสนชิ้น จากอดีตที่สามารถนำเข้าได้ถึง 16 ล้านชิ้น สำหรับการสรุปผลการจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเพิ่มเป็น 123 ราย ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2563

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โดยสถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดถึงวันที่ 11 มีนาคม 2563 มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 123 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 82 ราย และในต่างจังหวัด 41 ราย นอกจากได้จับกุมคนขายหน้ากากอนามัยแพงอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ กระทรวงยังได้ตรวจสอบจับกุมผู้กระทำความผิดขายเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ล้างมือที่เป็นสินค้าควบคุมในข้อหาขายแพงเกินสมควร ได้อีก 2 คดี ที่จังหวัดนครปฐม 1 คดี และจังหวัดปทุมธานี 1 คดี

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเข้มงวดตรวจสอบจับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ทั้งร้านค้าปกติและร้านค้าผ่านออนไลน์ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด สำหรับโทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในข้อหาขายเกินราคาควบคุม จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท และหากเป็นผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายก็ต้องแจ้งปริมาณการถือครองสินค้าต่อกรมการค้าภายใน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย หากพบเห็นผู้กระทำผิด โปรดแจ้งข้อมูลและหลักฐานมายังสายด่วน 1569 หรือสื่อโซเชียลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ส่วนผลการจับกุม ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 จำนวน 8 ราย ดังนี้ กรุงเทพฯ จำนวน 2 ราย โดยเป็นการล่อซื้อและจับกุมผู้ค้า Online บน Platform Lasada ที่กระทำผิดในข้อหาขายเกินราคาควบคุมและข้อหาขายแพงเกินสมควรทั้ง 2 ราย ซึ่งได้มีการดำเนินคดีกับ Lasada ที่เป็น Platform การค้าออนไลน์ด้วย


ต่างจังหวัด จำนวน 6 ราย ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ 1 ราย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 ราย จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย จังหวัดนครปฐม 1 ราย โดยเป็นผู้ค้า Online บน Platform Lasada ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วย และจังหวัดปทุมธานีอีก 2 ราย โดยทั้ง 6 ราย เป็นการกระทำผิดทั้งในข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายหน้ากากอนามัย ข้อหาขายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุม และในจำนวนนี้เป็นการจับดำเนินคดีกับผู้ขายแอลกอฮอล์แพงเกินสมควรด้วย