ผู้ส่งออก “ผัก-ผลไม้” กระอัก ค่าเฟรดเครื่องบินพุ่ง 10 เท่า

พิษโควิด-19 กระทบขนส่งทางอากาศ ทั้งแออัด-ค่าแอร์เฟรดพุ่ง 10 เท่า ผู้ส่งออก “ผักผลไม้-ดอกไม้-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-อุปกรณ์การแพทย์” กระอัก ลูกค้าชะลอออร์เดอร์ สมาคมกล้วยไม้โอดสูญรายได้ 5,000 ล้าน หนี้ท่วมติดเครดิตบูโรจ่อปิดสวน สมาคมผลไม้คาดส่งออกวูบเหลือ 1 ใน 3 ยอมรับต้องลดราคาซื้อผลไม้หน้าสวนเพื่อบาลานซ์ต้นทุน

การขยายช่วงเวลาห้ามอากาศยานทำการบินทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก นอกจากจะทำให้เที่ยวบินโดยสารของสายการบินลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศ แม้จะได้รับการยกเว้น แต่กลับปรากฏค่าระวางบรรทุกสินค้าปรับราคาขึ้น 10 เท่าตัว

กระอักค่าเฟรดขึ้น 10 เท่า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกสินค้าทางเครื่องบิน (แอร์เฟรด) กำลังประสบปัญหาการระงับเที่ยวบินโดยสาร แม้บางส่วนหันมาทำขนส่งสินค้าหลังจากขนส่งผู้โดยสารไม่ได้ แต่ก็มีจำนวนเที่ยวบินลดลง ประกอบกับมีการปรับอัตราค่าระวางสินค้าทางอากาศสูงขึ้นถึง 6-10 เท่า ขึ้นอยู่กับสายการบินที่ freight forwarder ทำการเช่าเหมาลำ ในเส้นทางการบินนั้น ๆ

ยกตัวอย่าง เส้นทางการบินสำหรับการขนส่งสินค้ายังคงทำการบินได้ตามปกติระยะทาง 4-5 ชม. จากประเทศไทยถึงเกาหลี-ญี่ปุ่น ผู้ส่งออกจะต้องใช้บริการ freight forwarder เพื่อทำการรวบรวมสินค้าเพื่อ “ขนส่งต่อ” เที่ยวบินส่งต่อ เพราะไม่มีเที่ยวบินตรงสู่ปลายทาง ถ้าจะขนสินค้าส่งไปยุโรปก็ต้องไปลงต่อเครื่องที่สิงคโปร์ ทาง freight forwarder ก็จะบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นต้นทุนส่งออก ทำให้ราคาขายปลายทางแพงมากจนลูกค้ารับไม่ได้ แต่บางเส้นทางหันไปใช้ขนส่งทางบกแทน เช่น ส่งสินค้าไปจีน แต่ก็ต้องผ่าน 3 ประเทศ ซึ่งมีการใช้มาตรการกักตัว 14 วันทุกประเทศ หากรอระยะเวลากักตัวสิ้นสุดลง ผลไม้ก็จะเน่าเสีย จึงต้องใช้วิธีเปลี่ยนตัวคนขับรถทีละประเทศ ซึ่งก็เป็นต้นทุนของผู้ส่งออก

“ขณะนี้ผู้นำเข้า-ส่งออกต้องแบกรับอัตราค่าระวางที่ปรับตัวขึ้นสูง 6-10 เท่า อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมยังต้องเผชิญปัญหาความล่าช้าในการนำสินค้าออกจากท่าอากาศยาน ทำให้มีสินค้าตกค้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่ยานยนต์บางชิ้นที่จำเป็น ไม้ตัดดอก กลุ่มผักและผลไม้ โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้พรีเมี่ยมส่งออก ที่ตอนนี้มีปริมาณผลผลิตออกมาพร้อมกันมาก ราคาตกลงจากเดิมลูกละ 120 บาท ตอนนี้เหลือลูกละ 30 บาท” นายวิศิษฐ์กล่าว

ล่าสุดทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ออกประกาศขยายช่วงเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 18 เมษายน เป็นวันที่ 30 เมษายน 2563 ทางผู้ประกอบการก็จะต้องเตรียมความพร้อมดำเนินงานป้องกันปัญหาความหนาแน่นในพื้นที่ของท่าอากาศยานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาเครื่องบินเช่าเหมาลำ หรือประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการหรือสินค้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยนำเครื่องบินโดยสารที่ถูกยกเลิกเที่ยวบินโดยสารมาขนส่งสินค้าแทน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเน่าเสียง่าย ไปยังตลาดเป้าหมายในกรณีฉุกเฉิน อาทิ ผักและผลไม้ตามฤดูกาล และสินค้าเร่งด่วนต่อหน่วยงานทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็น อีกทั้งสินค้าเร่งด่วนของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์

กล้วยไม้สูญ 5,000 ล้าน

นายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ไทย กล่าวว่าปัญหาเรื่องการขนส่งตอนนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก จากเดิมมีเที่ยวบินขนส่งผลไม้ 3-5 ลำต่อวัน ก็ลดลงเหลือ 1-2 ลำต่อวัน การใช้บริการแออัดมากขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ ค่าเฟรดปรับสูงขึ้น 3 เท่า ถ้าส่งออกไปเกาหลี หรือเพิ่ม 4-5 เท่าจากปกติถ้าไปญี่ปุ่น และต้องไปต่อเครื่อง “ส่วนเส้นทางยุโรปส่งออกไม่ได้เลย” ซึ่งเทียบตามน้ำหนักแล้ว ขนส่งผักเพิ่มขึ้นจากเดิม กก.ละ 70-80 บาท เป็น 250-400 บาท ส่วนผลกระทบต่อราคาปลายทางก็ขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้าจะรับไหวหรือไม่ เช่น ถ้าค่าเฟรดแพงแล้วราคาผลไม้ถูก หักลบแล้วบาลานซ์หรือไม่

“ไตรมาสแรกการส่งออกผักและผลไม้ของไทยหายไปแล้ว 1 ใน 3 ปัญหาโควิดทำผู้บริโภคไม่ออกจากบ้าน กำลังซื้อลดลง ส่งออกลดลง การขนส่งแออัด ค่าขนส่งแพงขึ้น ซึ่งในปีนี้มะม่วงจะหนักหน่อย เพราะผลผลิตออกมาพร้อมกันค่อนข้างมาก ทุเรียนยังระบายทางรถหรือทางเรือได้ ติดปัญหาขลุกขลักแค่ตอนตรวจสอบโรค แต่ก็ยังพอไปได้ ราคาอยู่ที่ กก.ละ 150-180 บาท ผู้ส่งออกยังประคองตัวแต่ก็สาหัส ภาพรวมทั้งปีก็คงจะได้ประมาณ 1 ใน 3 จากปกติ ต้องรอดูว่าสายการบินเส้นทางใดจะกลับมาเป็นปกติได้ เช่น ตะวันออกกลางน่าจะกลับมาได้ก่อน ถ้ามีการเพิ่มเที่ยวบินก็จะช่วยได้” นายพจน์กล่าว

สอดคล้องกับ นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย และประธานบริหาร TOC กรุ๊ป ในเครือกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกกล้วยไม้ที่เป็นสมาชิกสมาคมจำนวน 40 บริษัท กำลังเดือดร้อนเพราะไม่สามารถส่งออกดอกกล้วยไม้ได้ จากการประกาศปิดประเทศของตลาดหลัก สหรัฐ-จีน-อิตาลี-ออสเตรเลีย-เวียดนาม และบางประเทศสายการบินหยุดบิน ทำให้ผู้นำเข้าต้องยกเลิกออร์เดอร์ 100% หรือบางประเทศที่ยังทำการบินได้ แต่ต้นทุนค่าเฟรดปรับขึ้น 4-5 เท่า จากราคา 10 บาท

ต่อช่อ มาเป็น 40-50 บาทต่อช่อ ซึ่งพอต้นทุนสูงมาก ลูกค้าก็รับไม่ไหว คาดว่ายอดส่งออกดอกกล้วยไม้ไตรมาสแรกปี 2562 จะหายไป 1,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี จะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันไทยผลิตกล้วยไม้ส่งออก 80% ที่เหลือ 20% ขายภายในประเทศ พอส่งออกไม่ได้ก็จะหันมาขายตลาดในประเทศก็แย่ตามไปด้วย เพราะคนไม่ออกจากบ้านไม่จับจ่าย เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้สวนต่าง ๆ จำเป็นต้องตัดดอกออกมา เพราะถ้าไม่ตัดก็ต้องฉีดยา เพิ่มปุ๋ย ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก ผู้ส่งออกก็ยังต้องบริหารจัดการธุรกิจต่อ ต้องจ่ายค่าแรงงาน โดยภายในอุตสาหกรรมนี้มีแรงงานประมาณ 5,000-10,000 คน และต้องจ่ายประกันสังคมในส่วนของนายจ้างสมทบ 4% และแรงงานอีก 1% ปัญหาโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อเนื่องจากปัญหาค่าบาทแข็ง ทำให้ธุรกิจส่งออกแย่ลงไปอีก หลายรายติดหนี้ธนาคาร ติดลิสต์เครดิตบูโร ถ้าภาครัฐไม่มาช่วยก็คงไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ หากเป็นไปได้ ขอให้เข้ามาช่วยค่าแรงงาน ลดการจ่ายประกันสังคม และปลดลิสต์บูโร เพื่อให้ส่งออกได้”

ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์มีคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรและอาหารไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าว ไก่ และอาหารสัตว์ แต่ไทยไม่สามารถส่งออกได้เต็มที่ ทางกระทรวงจะเร่งหารือกับภาคเอกชน โดยในวันที่ 17 เมษายนนี้ โดยเฉพาะกับผู้ส่งออกสินค้าเกษตร-ข้าว-ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

จากที่ก่อนหน้านี้ได้หารือกับตัวแทนตลาดไท-นายกสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย-สมาคมตลาดสดไทย และประธานสภาเกษตรกรไปแล้ว ทางกระทรวงจะจัดทำฐานข้อมูลผลไม้แต่ละชนิดทั้งอุปสงค์และอุปทาน และอาจจะใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรกว่า 800 แห่ง ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด รวบรวมผลไม้ให้ไปรษณีย์ไทย และแพลตฟอร์มการค้าต่าง ๆ จัดทำแคมเปญสนับสนุนการบริโภคผลไม้ไทยเกรดพรีเมี่ยมทั้งช่องทางปกติและออนไลน์ คาดว่าจะเปิดตัวพาร์ตเนอร์ได้ในปลายเดือนนี้