13 ยักษ์การ์เมนต์แห่ปรับไลน์ หันผลิตชุดปลอดเชื้อ PPE

13 โรงงานการ์เมนต์ปรับไลน์หันผลิตชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE ให้องค์การเภสัชกรรม หลังความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูป-ชุดกีฬาในตลาดโลกลดฮวบ ช็อปแบรนด์ดังแห่ปิดตัว ด้านยักษ์ใหญ่ “ไฮ-เทค” ปรับโรงงานผลิตใน 4 ประเทศทำชุด PPE 5 ล้านชุดทยอยส่งออกตามมาตรฐานผู้สั่งซื้อ หวังพยุงการจ้างแรงงาน 9,000 คน รับกระแสความต้องการในตลาดพุ่งยาวไปถึงกลางปีหน้า

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทออย่างมาก ยอดคำสั่งซื้อได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการหันไปพัฒนาและผลิตชุดป้องกันตนเอง PPE (Coverall/Surgical Gown) เกรดทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีความต้องการจัดหาชุดป้องกันตนเอง PPE (Coverall/Surgical Gown) เกรดทางการแพทย์ ด้วยการจัดซื้อจากแหล่งผลิตทั้งในและนอกประเทศ โดย ล่าสุด อภ.ได้ประชุมร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย และผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศจำนวน 13 บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย GPO-COVID-19 Approved Vendor List เพื่อทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพการตัดเย็บและทดสอบประสิทธิภาพการซักซ้ำของชุด PPE แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (ReusableIsolation Gown) เพื่อทดแทนชุดนำเข้าได้ถึง 800,000 ชุด

13 โรงงานเร่งผลิตชุด PPE

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่สามารถพัฒนาชุด PPE ตามมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้กับองค์การเภสัชกรรมได้แล้วจำนวน 12 ราย โดยจะดำเนินการผลิตชุดลอตแรก 40,000 ชุดส่งมอบในเดือนเมษายนในมูลค่าเฉลี่ยชุดละ 450 บาท รวมประมาณ 20 ล้านบาท ชุด PPE ที่ผลิตนี้สามารถนำกลับมาซักใช้ได้อีก 30 ครั้ง หรือเฉลี่ยค่าชุดครั้งละ 15 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากหากเทียบกับชุด PPE ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

“ผลกระทบของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมนี้ก็คือ ความต้องการเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มลดลง ดังนั้น ผู้ผลิตเสื้อผ้าจึงได้ปรับไลน์การผลิตด้วยการหันไปผลิตชุด PPE กับหน้ากากผ้าแทน เพื่อจำหน่ายในประเทศแทนการนำเข้า ซึ่งในอนาคตเราจะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ส่งออกชุด PPE ตอนนี้ยังติดปัญหาคือ ฝั่งผู้นำเข้าชุด PPE ในต่างประเทศยังไม่ได้รับรองชุด PPE ตามมาตรฐาน อย.ของไทย ทำให้การส่งออกตอนนี้ยังทำได้ยาก แต่สมาคมกำลังทำเรื่องขอรับการสนับสนุนพัฒนาห้องปฏิบัติการกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯอยู่” นายยุทธนากล่าว

ทั้งนี้ โรงงานของผู้ประกอบการทั้ง 13 รายที่ทำการผลิตชุด PPE ได้แก่

  1. บริษัท ทองไทยการทอ ผลิตจำนวน 4,000 ชุด
  2. บริษัท สิ่งทอซาติน 4,000 ชุด
  3. บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล 4,000 ชุด
  4. บริษัท แอพพาเรล ครีเอชั่น 4,000 ชุด
  5. บริษัท โอเรียนตอล การ์เมนท์ 4,000 ชุด
  6. บริษัท สหพัฒน์/บูติคนิวซิตี้ 4,000 ชุด
  7. บริษัท วีที การ์เมนท์ 4,000 ชุด
  8. บริษัท ไทยการ์เมนต์เอ็กซปอร์ต 4,000 ชุด
  9. บริษัท วีเค การ์เม้นท์ 4,000 ชุด
  10. บริษัท B.V.L Trading 3,000 ชุด
  11. บริษัท สุขบุญทิพย์ 3,000 ชุด
  12. บริษัท เอเซียการ์เม้นท์ 1,000 ชุด
  13. บริษัท รัตนาแอพพาเรียบแคร์ 1,000 ชุด

กลุ่มไฮ-เทค ปรับไลน์การผลิต

ด้านนายวสันต์ วิตนากร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับไลน์การผลิตหันมาผลิตชุด PPE และหน้ากากผ้าแล้ว จากเดิมที่รับผลิตเสื้อกีฬาแบรนด์ดังจากทั่วโลก แต่ตอนนี้ความต้องการเสื้อผ้ากีฬาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านค้าปลีก ช็อป และเอาต์เลต ทั่วโลกต้องปิดตัวไปกว่า 70% โดยเฉพาะตลาดหลัก ๆ ของไทยอย่าง สหรัฐ-สหภาพยุโรป หรือแม้แต่ตลาดในเอเชีย สวนทางกับความต้องการชุด PPE ที่เพิ่มขึ้นจนแทบเรียกว่า ชุด PPE กำลังจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว คาดว่าแนวโน้มความต้องการชุด PPE ยังคงมีมากต่อเนื่องไปถึงปี 2564

ปัจจุบันโรงงานผลิตในเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และในไทย ของกลุ่มไฮ-เทค ได้ปรับไลน์มาผลิตชุด PPE แล้วประมาณ 25% ของกำลังการผลิตรวมหรือราว 5 ล้านชุด โดยบริษัทได้พัฒนาชุด PPE ที่ได้มาตรฐานทั้งตามแบบของ อย.ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. และมาตรฐาน ISO เพื่อขยายตลาดส่งออกชุด PPE ไปยังตลาดสหรัฐ และบริษัทได้ประสานกับพันธมิตรเพื่อรับรองคุณภาพชุด PPE ผ่านห้องปฏิบัติการผ้า (lab) แล้ว

“มาตรฐานชุดของเราสามารถเทียบกับชุด PPE ที่นำเข้าจากต่างประเทศในแบรนด์ 3M และดูปองท์ ตอนนี้เรามีคำสั่งซื้อไปยังสหรัฐแล้ว ซึ่งมากกว่าที่รับผลิตชุด PPE ให้กับองค์การเภสัชกรรมเพียงแค่หลัก 1,000 ชุด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดว่าวัตถุดิบผ้าที่ใช้ในประเทศจะมีปริมาณเพียงพอหรือไม่” นายวสันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าความต้องการชุด PPE ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะเป็นเพียงระยะสั้นหรือประมาณกลางถึงปี 2564 แต่ทางโรงงานในกลุ่มไฮ-เทค ต้องการที่จะรักษากำลังการผลิตไว้ เพื่อให้สามารถจ้างแรงงานที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 9,000 คนต่อไปได้ หากความต้องการเสื้อผ้ากีฬาในอนาคตกลับมา “เราก็จะกลับไปผลิตชุดกีฬาอีก”