สมรภูมิส่งออกข้าวQ2เดือด เวียดนาม-อินเดียคืนสังเวียนฉุดราคาดิ่ง

FILE PHOTO : AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

ตลาดส่งออกข้าวไตรมาส 2 ระอุ “เวียดนาม-อินเดีย-กัมพูชา” หวนคืนสังเวียน ฉุดราคาส่งออกดิ่ง 60 เหรียญสหรัฐตัน ส.ส่งออกข้าวยังมั่นใจดันยอดส่งออกไตรมาส 2 ทะลุ 2 ล้านตัน เห็นสัญญาณตลาดนำเข้าใหญ่จ่อซื้อทั้งปีอีก 2.5 ล้านตัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เวียดนาม อินเดีย และกัมพูชา ประกาศกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งหลังจากที่ได้ประกาศ “จำกัดการส่งออก” ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อสำรองสต๊อกข้าวสำหรับบริโภคภายในประเทศ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลให้ตลาดส่งออกกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า แม้ว่ายอดการส่งออกเดือนพฤษภาคมนี้ อาจจะมีปริมาณ 625,000 ตัน ลดลงจากเดือนเมษายนที่เคยทำได้ 670,000 ตัน ผลจากที่เวียดนามประกาศกลับมาส่งออกข้าวเป็นปกติ และอินเดียเริ่มมีสัญญาณที่จะส่งออกข้าวมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมคาดว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 มีโอกาสส่งได้ถึง 2 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 625,000 ตันต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ส่งออกได้ 1.46 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 486,000 ตันต่อเดือน เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวไทยปรับลงมาอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้ โดยราคาข้าวไทยตอนนี้ปรับลดลงจากเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนหน้า เช่น ราคาข้าวขาว 5% เฉลี่ยตันละ 550 เหรียญสหรัฐ เหลือ 480-490 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% เวียดนามตันละ 440-450 เหรียญสหรัฐ อินเดียตันละ 365-370 เหรียญสหรัฐ ทำให้ช่วงห่างราคาข้าวไทยกับคู่แข่งลดลงเหลือ 50 จากเดิมที่ห่างกัน 80-100 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ประกอบกับผู้นำเข้าเริ่มมีสัญญาณนำเข้าข้าวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น โดยหลังจากนี้เชื่อว่าแอฟริกาจะมีการนำเข้าข้าวนึ่ง เพราะปีที่ผ่านมาไม่มีการนำเข้าเลย ส่วนอินโดนีเซียปีนี้คาดว่าจะนำเข้าข้าวขาว 15% แบบจีทูจีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน จากเมื่อปี 2562 ไม่ได้มีการนำเข้าข้าวเลยเช่นกัน โดยจะเริ่มนำเข้าในช่วงไตรมาส 4 เช่นเดียวกับมาเลเซียคาดว่าจะนำเข้าข้าว 1.5 ล้านตันในปีนี้

ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งชะลอนำเข้าข้าวแบบจีทูจี 3 แสนตันไปก่อนหน้านี้ เพราะติดปัญหาโควิด-19 ยังเสี่ยงที่อาจจะหันไปซื้อข้าวเวียดนามเนื่องจากราคาถูกกว่าไทย ส่วนฮ่องกงก็อาจชะลอนำเข้าข้าวหอมมะลิเนื่องจากได้นำเข้าเพิ่มขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าข้าวหอมกัมพูชา 850 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวหอมเวียดนาม 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3 ต้องรอประเมินผลผลิตที่ออกสู่ตลาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์การผลิตข้าวของคู่แข่งทั้งอินเดีย และปากีสถานซึ่งมีปัญหาโควิด-19 อาจพิจารณา”เก็บสต๊อกข้าว” เพื่อบริโภคภายใน ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย 7.5 ล้านตัน

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวสาร 5% ปรับตัวลงมาจาก17,500-18,000บาทต่อตัน มาอยู่ที่14,500บาทต่อตัน ทำให้ราคาข้าวสารปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-15% จากการส่งออกข้าวไทยลดลงหลังเวียดนามเริ่มกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับกำลังซื้อลดลงจากปัญหาของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ผู้บริโภคชะลอการซื้อลง


“ตอนนี้โรงสีต้องปรับตัวรับสถานการณ์เพื่อประคองธุรกิจและการจ้างแรงงานต่อไปได้ ส่วนแนวโน้มปริมาณข้าวฤดูการผลิต 2563/2564 ยังต้องรอประเมินสถานการณ์น้ำก่อนที่จะสรุปอีกครั้ง”