“ศรีตรังโกลฟส์” ยอดขายถุงมือยางทะลักข้ามปี-อานิสงส์ “โควิด”

ศรีตรัง ถุงมือยาง

อานิสงส์โควิด-19 ดันยอดสั่งซื้อถุงมือยางพุ่ง 3 แสนล้านชิ้น “ศรีตรังโกลฟส์” ออร์เดอร์ทะลักถึงปีหน้า ทุ่ม 30,000 ล้านขยายกำลังผลิต 3 แห่ง ลุยเพิ่มช่องทางออนไลน์ พร้อมเฝ้าระวังค่าบาท-เข้มเก็บหนี้

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นทั่วโลกเนื่องจากเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญ และเริ่มเป็นสินค้าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ตามข้อมูลสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) ประเมินความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกช่วง 5 ปีว่า จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.2% จาก 212,000 ล้านชิ้นในปี 2559 เป็น 300,000 ล้านชิ้นในปี 2562 นับเป็นโอกาสของธุรกิจนี้ และที่สำคัญการแข่งขันกันน้อย เพราะการลงทุนต้องมีใบอนุญาตผลิตถุงมือทางการแพทย์ซึ่งใช้เวลานานถึงครึ่งปี

“แนวโน้มความต้องการถุงมือยางจะยังดีต่อเนื่องอีก 2-3 ปี ผลจากช่วงโควิด ซึ่งถ้าอิงจากการแพร่ระบาดของโรคในอดีต เช่น ซาร์ส H1N1 จะเห็นว่าดีมานด์เติบโตในระดับ 2 หลัก และขณะนี้ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นตามวิถีใหม่ new normal ทำให้มีการใช้ถุงมือยางขยายไปทุกที่ เช่น ห้างสรรพสินค้าร้านอาหาร ผู้ขายอาหารตามท้องถนนก็ใช้ และทุกอุตสาหกรรมต้องใช้ รัฐบาลสนับสนุนเพื่อทางการแพทย์ ได้ยกเว้นภาษีจาก BOI จ่ายภาษีไม่ถึง 7% ในปีนี้ลดลงครึ่งหนึ่งจากปีที่แล้ว”

ขยายกำลังผลิต

 

ทางบริษัทเตรียมแผนลงทุนขยายการผลิตในปีนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการออกแบบเครื่องจักร นำระบบการผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติ (automation) ลดการใช้เเรงงานคนและลดความเสียหายสินค้า พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี 2 เฟส จากเฟสแรกที่มีกำลังผลิต 5,000 ล้านชิ้น เพื่อให้เริ่มผลิตได้ปีหน้า และที่ จ.สงขลา คาดว่าแล้วเสร็จปี 2566 ด้วยงบฯลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายกำลังการผลิตที่โรงงานใน จ.ชุมพรอีก 70,000 ล้านชิ้น ด้วยเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งจาก 27,153 ล้านชิ้นเป็น 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2568 และเป็น 100,000 ล้านชิ้นต่อปีในปี 2575

ศรีตรัง ถุงมือยาง

“ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เริ่มมองเห็นเทรนด์การดูแลสุขภาพ กระทั่งเกิดโควิด ออร์เดอร์เพิ่มเข้ามา 3,000-4,000 ล้านบาท เป็นถุงมือยางตรวจโรค 65% และถุงมือยางธรรมชาติ 35% ส่งผลให้ยอดขายล้นไปถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม จากที่เน้นส่งออกเป็นหลัก สิ่งที่ระวังมากที่สุด คือ การเก็บหนี้ในสถานการณ์ที่ออร์เดอร์จำนวนมาก ได้เตรียมบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า และดูเครดิตลูกค้า อีกทั้งต้องดูภาวะปกติเรื่องค่าเงินบาทซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของธุรกิจ ซึ่งราคาถุงมือที่ขายในไตรมาสแรกเป็นราคาที่ตั้งไว้ก่อนเกิดโควิด-19 จึงยังไม่สะท้อนราคาและดีมานด์จากโควิด-19 แต่เป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตและค่าเงินบาทที่อ่อนลง”

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 มีรายได้ 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทส่งออกสินค้าไปยัง 140 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% แบ่งเป็นเอเชีย 40% ยุโรป 20% อเมริกา 20% และอื่น ๆ ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา แอฟริกา

ขณะที่ตลาดในประเทศมีสัดส่วน 10% หลังจากนี้จะมุ่งขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก เน้นเจาะตลาดกลุ่มที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่การใช้ถุงมือยางยังค่อนข้างต่ำ เช่น ละตินอเมริกาและแอฟริกา ผ่านโรงพยาบาล ร้านขายยา และมหกรรมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ พร้อมทั้งมุ่งสู่ช่องทางออนไลน์ เพราะช่วงปลายปีที่แล้วช่องทางนี้เติบโตสูงมาก