“ศรีตรังโกลฟส์” เคาะราคา IPO 34 บาทต่อหุ้น คาดเทรดวันแรก 2 ก.ค.

“ศรีตรังโกลฟส์” (STGT) เคาะราคาขายไอพีโอ 34 บาทต่อหุ้น คาดเทรดวันแรก 2 กรกฎาคม 2563

บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 34 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อในช่วงทำ Bookbuilding อย่างคึกคัก มากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ในวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2563 นี้ พร้อมวางแผนขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2575 คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 8 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ STGT ในครั้งนี้

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ได้ร่วมกันกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 34 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันคุณภาพเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและแผนงานขยายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่มีความชัดเจน จึงเชื่อว่าราคาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับพื้นฐานและศักยภาพธุรกิจของ STGT โดยกำหนดเสนอขายหุ้น IPO แก่นักลงทุนในวันที่ 23-25 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฏาคมนี้

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ในการเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เนื่องจาก STGT มีพื้นฐานธุรกิจที่ดีและมีผลิตภัณฑ์ถุงมือยางซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 438,780,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้

Advertisment

การเสนอขายหุ้น IPO

STGT จะนำเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ โดยการเสนอขายครั้งนี้ แบ่งเป็น:

1. เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 432,780,000 หุ้น

2. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STGT) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 2,000,000 หุ้น

3. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 10,000,000 หุ้น ในจำนวนนี้จะเสนอขาย ณ วัน IPO จำนวนไม่เกิน 4,000,000 หุ้น และอีก 6,000,000 หุ้น จะเสนอขายในปีที่ 1 – 2 ภายหลังวัน IPO

Advertisment

4. หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2-3 (ถ้ามี) จะเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบันและผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ศรีตรังโกลฟส์

กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง

ผู้บริหารของ STGT ระบุว่า บริษัทฯ มีแผนงานขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติควบคู่กับการรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบ รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ ได้วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2567 ทั้งการขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง รวมถึงก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดสงขลาและชุมพร จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 70,000 ล้านชิ้นภายในปี 2571 รวมถึงในระยะยาวจะขยายเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นในปี 2575

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งกำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย ดังนั้นอัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย STGT จะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ใช้เพาะปลูกยางพาราและโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาเติบโตมาตลอด โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) ประเมินความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นับจากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้น ซึ่งมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของคนทั่วโลก

นอกจากนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ห้องแล็บและตรวจรักษาโรค

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ อาทิ ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบละตินอเมริกา ฯลฯ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน