CPTPP ยังไร้บทสรุป เปิดความเห็น 3 ฝ่ายร่วมประชุมหาทางออก

ขนส่งทางเรือ
ภาพประกอบข่าว : NHAC NGUYEN / AFP

ฝุ่นตลบ CPTPP กมธ.ต่างประเทศ โดดร่วมเปิดเวทีหารือทุกภาคส่วน ก่อนเคาะไทยร่วมขบวน CPTPP ด้านภาคประชาสังคมโอดคณะทำงาน กกร. เรียกหารือ แต่ไม่รับฟังความเห็น มั่นใจไทยเสียประโยชน์แน่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณาศึกษาผลกระทบ และข้อกังวลต่อการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership) ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม

คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวแทนภาครัฐประกอบด้วย อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประธานกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมด้วย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้พอจะทราบเรื่องการทางคณะกรรมาธิการดังกล่าวแล้ว แต่กรมยังไม่ได้รับหนังสือให้เข้าไปชี้แจงเรื่องนี้แต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้กรมยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนในระดับนโยบายเท่านั้นว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นเรื่องดังกล่าวก็ยังอยู่ในเพียงแค่ผลการศึกษาที่กรมดำเนินการเท่านั้น หากจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงจากนี้ก็ต้องระดับนโยบายมอบหมายอีกครั้งหนึ่ง

มองว่าหากทำได้เร็วจะทำให้การเจรจาง่ายกว่า เนื่องจากมีประเทศน้อยรายที่เป็นสมาชิก แต่หากล่าช้าหรือสมัครเข้าร่วมเจรจาช้าก็จะมีประเทศอื่น ๆ ตามเข้ามา หากไทยสมัครเจรจาช้ากว่านั้น การเจรจาก็อาจจะทำได้ลำบากมากขึ้น แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องหารือกับทุกฝ่ายทั้งเอกชน และภาคประชาสังคม โดยให้เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ความเห็นก็ไปในทิศทางบวก

แต่ทั้งนี้มองว่าไทยควรเข้าไปเจรจาก่อนถึงจะรู้ว่าไทยจะได้เปรียบ เสียเปรียบ ส่วนจะร่วมหรือไม่นั้นก็ต้องดูว่าประเทศไทยได้หรือเสีย เห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณา ศึกษาให้ทันภายในเดือนสิงหาคม 2563 เปิดให้ประเทศที่สนใจยื่นเข้าร่วมความตกลง เพราะหากช้าไปกว่าเดือนสิงหาคม แล้วไทยต้องการสมัครก็ต้องรอไปถึงปีหน้า

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดประชุมในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 เพื่อพิจารณาสรุปจุดยืนของเอกชนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ละสมาคมอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล โดยนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงาน และได้หารือกับทางภาคประชาสังคมไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นจะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาความตกลง CPTPP

ความเห็นภาคประชาสังคม

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอตช์) กล่าวว่า กรณีที่ กกร. จะเสนอให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ถือเป็นข้อสรุปที่ไม่มีรายละเอียด เป็นการดำเนินการที่ยังไม่รอบคอบ

รองประธานกลุ่ม เอฟทีเอวอตช์ ระบุว่าก่อนหน้านี้ กกร. ได้เชิญทางกลุ่มเข้าไปให้ข้อมูลในข้อกังวล แต่เป็นการรับฟังอย่างเดียว ไม่ได้นำมาหารือหรือนำไปแก้ไขปัญหาใดทั้งสิ้น ทั้งที่คณะทำงานที่ กกร.ตั้งขึ้น ซึ่งมี ส.อ.ท.อยู่ด้วย และทาง ส.อ.ท.ก็แสดงความกังวลถึงผลกระทบเหมือนกับกลุ่มภาคประชาสังคมเสนอไว้ ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา จะทำให้การขึ้นทะเบียนยาทำได้ล่าช้าหรือไม่ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทาง ส.อ.ท.ก็กังวล แต่ผลสรุปกลับออกมาให้ไทยเข้าร่วมเจรจา ซึ่งถ้าเจรจาและเข้าร่วมข้อตกลงแล้วไทยเสียหาย กกร.รับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นไหวหรือไม่

“ยอมรับว่าความตกลง CPTPP มีทั้งคนได้คนเสีย แต่คนได้ยอมหรือไม่ที่จะเสียภาษีเพิ่มเติม เกินกว่าภาษีที่ได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อนำรายได้ตรงนั้นมาเยียวยาผลกระทบกลุ่มที่เสียประโยชน์ ซึ่งเวลาที่กลุ่มพูดเรื่องนี้ เอกชนก็จะเงียบไม่เห็นตอบรับ และกรณีที่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ ทางกลุ่มเอฟทีเอวอตช์ ก็จะขอคัดค้านและให้ข้อมูลเรื่องความกังวลที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะรอดูการอภิปรายตั้งกรรมาธิการวิสามัญในสภาก่อน”

ผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัวได้ หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึงเร่งผลักดันการเจรจา FTA อื่น ๆ อาทิ RCEP Thai-EUสำหรับสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัวได้นั้นเมื่อทราบรายละเอียดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และไม่สามารถเจรจาแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ

“สรท.เสนอว่าต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดและเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะการเสียผลประโยชน์ของเกษตรกรจากการเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย ความชัดเจนในการควบคุมผลผลิตและพืช GMO ประเด็นด้านเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ตามอนุสัญญา ILO มาตรา 87 และ 98 การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้า remanufactured การกำกับดูแลการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า ความชัดเจนเกี่ยวกับ Waiver of Customs Duty มาตรการรองรับการเปิดเสรีภาคบริการสาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง และการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาด”

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขรายกลุ่มสินค้า ต้องได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่ากรอบเจรจาอื่นซึ่งไทยลงนามแล้ว และควรเจรจาในลักษณะทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ควบคู่กัน เพื่อให้มีความคืบหน้ากรณีไม่สามารถหาข้อสรุปในเวที CPTPP ยกระดับความสามารถภายในประเทศ เช่นเร่งแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่ล้าหลังให้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่เป็นสากล เร่งยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตามแนวทางของ Trade Facilitation Agreement ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO”s TFA)เป็นต้น


และเห็นควรจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถทดแทนการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับผลกระทบจากอนุสัญญา ILO อย่างไรก็ดี สำหรับการเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับประเทศ พร้อมทั้งชี้แจงในข้อกังวลที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด