ทำความรู้จัก CPTPP วิเคราะห์ “โอกาส” และ “ความท้าทาย”

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสคัดค้าน CPTPP อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ หลายคนที่ยังงงว่า ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5 ตัวนี้ คืออะไร แล้วทำไมถึงมีคนออกมาต่อต้านมากมาย มารวมกันตรงนี้ได้เลย

ทำความรู้จัก CPTPP วิเคราะห์ “โอกาส” และ “ความท้าทาย”

1.ปี 2549 มีการก่อตั้ง “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม

2.ปี 2560 สหรัฐฯ ถอนตัวออก ประเทศสมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศ เดินหน้าต่อ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership)

3.ความตกลง CPTPP ประกอบด้วยประเด็นการค้า 30 บท ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ เช่น การเปิดตลาดสินค้าในระดับสูงร้อยละ 95-99 ของรายการสินค้าทั้งหมด การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

4.ไทยได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP เนื่องจากเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน (ร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก) และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13 ของ GDP โลก)

5.ปี 2562 ไทยมีการค้ากับสมาชิก CPTPP รวมมูลค่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 31.5 ของการค้ารวมไทย) แบ่งเป็นการส่งออกไปสมาชิก CPTPP มูลค่า 73.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 32.2 ของการส่งออกไทยไปโลก) และการนำเข้าจากสมาชิกCPTPP มูลค่า 66.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 30.6 ของการนำเข้าไทยจากโลก)

6.ประเทศไทยมีการตั้งคณะทำงาน เตรียมพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่จากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย

CPTPP คืออะไร
ภาพ: AFP PHOTO / CLAUDIO REYES

7.ผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP ชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัวร้อยละ 0.12 (คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท) และ การลงทุนจะขยายตัวร้อยละ 5.14 (คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท)

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัว ทั้งจากการเปิดตลาดเพิ่มเติมกับสมาชิก CPTPP ที่ไทยมี FTA ด้วย และกับประเทศที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วย คือ แคนาดา และเม็กซิโก

โดยสินค้าที่สมาชิก CPTPP อาจเปิดตลาดเพิ่มให้ไทยได้มากขึ้นกว่า FTA ปัจจุบัน อาทิ เนื้อไก่สด/แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และผลไม้สด/แห้ง

8.ขณะเดียวกัน การยกระดับกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติและนักลงทุนไทย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ การเข้าร่วมความตกลงจะช่วยรักษาสถานะของไทยในห่วงโซ่การผลิตภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว

9.ผลการศึกษาชี้ว่า หากไทยไม่เข้าร่วมความตกลง CPTPP เศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบ โดย GDP จะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.25 (คิดเป็นมูลค่าที่เสียไปคือ 26,629 ล้านบาท) การลงทุนของไทยจะได้รับผลกระทบร้อยละ 0.49 (คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียไป คือ 14,270 ล้านบาท) รวมถึงเสียโอกาสในการขยายการค้าและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภูมิภาคในระยะยาวให้กับประเทศคู่ค้า

10.แต่หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประชาชนในหลายด้าน โดยเว็บไซต์ ilaw.or.th สรุปไว้ดังนี้

10.1.ประเทศไทยต้องปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ซึ่งจะห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป

10.2.ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐ และ ต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุน/ให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่า รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค จะกลายเป็นว่า เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า และยารักษาโรค

10.3.ต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก ซึ่งต่อไปการออกกฎหมาย ระเบียบและกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเกินขอบเขตที่ CPTPP กำหนด

10.4.สิ่งที่ไทยต้องยอมรับหากจะเข้า CPTPP คือ การลงทุนใน portfolio หรือการลงทุนโดยการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในกรณีต่างประเทศ เคยมีนักลงทุนฟ้องร้องรัฐ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการกำหนดนโยบาย
การออกกฎหมาย ถึงขั้นฟ้องเพื่อยกเลิกนโยบายได้เลย

10.5.ประเทศไทยต้องยอมรับการที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods) โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ เท่ากับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทย เพราะในความตกลงฯ ระบุว่า “ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว” ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบในเรื่องนี้ ถ้ารับมาแล้ว ใช้ได้ไม่นาน ก็ไม่ต่างกับรับซากเครื่องมือเหล่านี้มาทิ้งที่ประเทศไทย

สาเหตุที่มีการหยิบยกเรื่อง CPTPP ขึ้นมานั้น เนื่องจาก รัฐบาลเตรียมนำเรื่องการเข้าร่วมภาคี ความตกลง CPTPP เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) นั่นเอง