กมธ.เลื่อนสรุปผลร่วม CPTPP จี้ตั้งกองทุนเยียวยา-คุมละเมิดพันธุ์ข้าว

กมธ.วิสามัญยืดเวลาศึกษาผลกระทบ CPTPP ต่ออีกครึ่งเดือน ชี้ต้องศึกษาทุกมิติก่อนเสนอรัฐบาล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุมพิจารณาศึกษาสรุปผลการวิจัย ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ครั้งที่ 4 ซึ่งนายวีระกรได้มีการตั้งคำถามต่อที่ประชุมว่า ระยะเวลาการพิจารณา 1 เดือนให้เสร็จสิ้น (10 ก.ค.2563) อาจเร็วเกินไปหรือไม่

วีระกร คำประกอบ

เนื่องจากมองว่าหากเข้าร่วมต้องครอบคลุมภาพกว้าง ไม่ควรให้น้ำหนักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กรรมาธิการมีคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 3 คณะย่อยศึกษาทุกด้านถึงผลกระทบที่จะตามมา ที่สำคัญข้อกังวลเรื่องอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 และประเด็นละเอียดอ่อนมากที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์ “ข้าวไทย”เป็นไปได้หรือไม่ว่าขอยกเว้นพืชชนิดนี้ ต้องหารือให้รอบคอบ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.เห็นว่าควรขอขยายเวลาถึงวันที่ 25กรกฎาคม 2563 เพื่่อศึกษากรณีใครได้-ใครเสียประโยชน์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นอย่างกองทุน FTA ซึ่งต้องปฏิบัติได้จริง

นายนิกร จำนง รองประธานอนุกรรมาธิการเกษตรและพันธุ์พืช กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ยังมีข้อกังวลขอให้ยกเว้นเรื่องข้าวออกจาก UPOV ก่อนได้หรือไม่ และไทยควรตั้งกองทุนเยียวภายใต้กระทรวงพาณิชย์ และควรแก้กฎหมายให้สอดรับกับบริบทภายในและสากลก่อนเข้าร่วม ที่สำคัญ เวลาแค่ 1 เดือนไม่ทันแน่นอน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ CPTPPกล่าวว่า การตีความพันธุ์พืชยังไม่ชัดเจน ซึ่ง CPTPP บังคับเข้าร่วม UPOV 1991จะให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองต้นทางของสายพันธุ์นั้น ๆ เป็นการเปิดทางต่างชาติให้สามารถละเมิดได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ญี่ปุ่นจะให้ไทยส่งไปเม็กซิโกทั้งที่ไม่ใช่เส้นทางโลจิสติกส์ แต่ญี่ปุ่นจะไปลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมยาของไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP และสิทธิพิเศษของอุตสาหกรรมสัญชาติไทยลดลงอย่างมาก การจัดซื้อจัดจ้างซึ่งภาครัฐต้องเปิดตลาดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม

นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า รัฐบาลควรมีคำอธิบายว่าจะเจรจาอะไรบ้าง บางเรื่องที่เจรจาไม่ได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา UPOV ข้อเสียเปรียบด้านเกษตร เช่น ต้นทุนการเลี้ยงหมูแคนาดา 30 บาท/กก.ต่ำกว่าต้นทุนไทย 60 บาท/กก. อนาคตเกษตรกร 2 แสนกว่าครอบครัวจะได้รับผลกระทบ ใครจะรับผิดชอบ


นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทชิ้นส่วนญี่ปุ่นลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากผลิตเพื่อไปขายเม็กซิโก การเข้าร่วมจะเป็นโอกาสที่ไทยจะกระตุ้นลงทุน แต่ถ้าเราไม่ร่วม โอกาสที่ญี่ปุ่นย้ายไปเวียดนามสูงมาก ส่วนกรณี UPOV ต้องลงรายละเอียดทำไมเวียดนามได้รับประโยชน์พิจารณาส่วนนี้ด้วย