“ญี่ปุ่น” ล็อบบี้ฝุ่นตลบหนุนไทยเข้า CPTPP

ทูตญี่ปุ่นเข้าพบ “วีระกร” ประธาน กมธ.วิสามัญ เชียร์ไทยเข้าร่วม CPTPP แนะช่องเจรจา “พันธุ์พืช-สิทธิบัตรยา” อ้าง 5,500 บริษัทญี่ปุ่น ต้องการให้ไทยเข้าร่วมหวังเชื่อมโยงตลาดส่งออก 11 ประเทศ ชี้ไม่เข้าร่วม GDP วูบ -0.37% เสียหาย 2 ล้านล้านบาท

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะมีการประชุม คณะกรรมาธิการความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP Commission ซึ่งกำหนดประชุมปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เพื่อพิจารณาวาระรับ “สมาชิกใหม่” โดยประเทศที่สนใจจะเข้าร่วม CPTPP จะต้องยื่นขอสมัครไปที่นิวซีแลนด์ เพื่อรอการรับรองให้ความเห็นชอบจากสมาชิก CPTPP จำนวน 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว

ส่วนประเทศไทยนั้นจนกระทั่งถึงขณะนี้ ครม.ยังไม่ให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ หลังเกิดความขัดแย้งในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้นในประเทศ จนสุดท้ายมีการ “โยน” เรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาก่อนที่จะเข้า ครม. ถือเป็นการ “เพิ่มขั้นตอน” โดยไม่มีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งจากฝ่ายรัฐบาล ท่ามกลางความกังวลกลัวประเทศไทยจะยื่นเรื่องสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ทันสมัยประชุม ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

UPOV แค่เรื่องเข้าใจผิด

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมาธิการจะสรุปผลการศึกษาเพื่อเสนอสู่การพิจารณาของสภาได้ภายในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการด้านเกษตรและพันธุ์พืช คณะอนุกรรมาธิการสาธารณสุข ยาและเครื่องมือแพทย์ คณะอนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน คาดว่าจะนำไปสู่การหาข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ

“เราให้กรมวิชาการเกษตรทำรายงานตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์พืชว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือไม่ เพราะจะต้องเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 จะมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร ซึ่งกรมตอบว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของ NGO ที่เอาข้อมูลจากข้อตกลง TPP หรือ CPTPP ฉบับเดิมที่มีสหรัฐอยู่ด้วยมาใช้ ในขณะที่ CPTPP มีข้อบทที่ A15.2 อนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ได้” นายวีระกรกล่าว

ญี่ปุ่นกล่อมไทยเข้าร่วม

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วม CPTPP หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ทางฝ่ายไทยได้แสดงความกังวลในประเด็นเรื่องของเมล็ดพันธุ์พืช แต่ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่า ในการเจรจาความตกลง CPTPP มีข้อบท A15.2 ยกเว้นให้กับ “พันธุ์พืชพื้นเมือง” และ “ให้พันธุ์พืชที่อยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP”

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในไทย มีบริษัทเข้ามาตั้งอยู่ประมาณ 5,500 บริษัท หากไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ไปจนถึงขั้นเข้าเป็นสมาชิกแล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นก็จะสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังสมาชิก CPTPP 7 ประเทศ และกำลังจะกลายเป็น 11 ประเทศได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบระหว่างกันด้วย

“ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นอีก แต่เค้าไม่ได้มาขู่ว่า ถ้าไทยไม่เข้าร่วม CPTPP แล้วจะถอนการลงทุน เพียงแต่มาให้ข้อมูลเชิง positive พร้อมทั้งแสดงผลการศึกษาว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.2% หากไม่เข้าร่วมจะทำให้ GDP ลดลง 2.5% ซึ่งหักลบสิ่งที่เราจะได้และสูญเสียแล้ว เท่ากับว่า GDP จะหายไป 0.37% หรือคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท”

ให้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาได้

สำหรับข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตรยา จะทำให้เกิดการผูกขาดยามีราคาสูงขึ้น โดยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถใช้ “มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (compulsory licencing หรือ CL)” เพื่อให้หน่วยงานไทย เช่น องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรช่วยเหลือประชาชนได้นั้น นายวีระกรกล่าวว่า ไทยกลัวว่าจะใช้ CL ไม่ได้ แต่ในความตกลง CPTPP กำหนดว่า สมาชิกยังสามารถใช้ CL ได้ใน 3 กรณี คือ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน (emergency), การเกิดโรคระบาด (pandamic) และใช้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งไทยมักจะใช้กรณีเหล่านี้ เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาที่มีสิทธิบัตรจากต่างชาติ เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ มาช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว และญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้ ข้อมูล การวิจัยและพัฒนาให้กับบริษัทยาในไทยต่อไป

“ด้านการเปิดตลาดสินค้า ทางญี่ปุ่นบอกว่า เค้าก็ไม่ได้เปิดในสินค้าครบ 100% เปิดเสรีไป 97% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ยังเหลืออีก 3% เช่นเดียวกับสมาชิก CPTPP ประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ก็ต่อรองขอทยอยลดภาษีเปิดตลาดสินค้ายาวนานถึง 21 ปี เพื่อผ่อนผันการใช้บังคับ” นายวีระกรกล่าว

เกษตรกรไม่ถูกจำกัดสิทธิ

น.ส.ธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ว่า ผู้ที่คิดค้นปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่จะได้รับการคุ้มครองในฐานะเจ้าของพันธุ์ ผู้ใช้จะไม่สามารถนำพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการปรับปรุงไปขยายผลผลิตต่อเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

ส่วนกรณีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองสำหรับไทย เช่น ไรซ์เบอรี่ ไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีเจ้าของแล้ว ดังนั้น
ผู้ใดจะขายเมล็ดพันธุ์นี้ต้องไปขออนุญาตเจ้าของ หากต้องเก็บเมล็ดไว้ ไทยทำได้อยู่แล้ว โดย UPOV สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกไว้ไม่จำกัดปริมาณ อะไรที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมสามารถกล่าวได้ว่า จะใช้อำนาจรัฐ ใช้สิทธิ์นี้ เก็บไว้ในครอบครองได้ ฉะนั้น เกษตรกรครอบครองเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์

นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องมองว่าการจะเข้าร่วมไม่ว่าจะเรื่องใดต้องมองเรื่องผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับเมล็ดพันธุ์ มีข้อทักท้วงว่ามีการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศมีการคุ้มครองสิทธิทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่ทุกหน่วยงานต้องมีมาตรการมารองรับ หากมีการทดแทนโปรดักต์หรือมีการปรับปรุงพันธุ์ 100% ไม่ได้มองว่าเป็นการผูกขาด แต่มองว่าเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ส่วน น.ส.กนกวรรณ ชดเชย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า ภาคเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พันธุ์พืช แก้ไขนิยามพันธุ์พื้นเมืองทั่วไป เพื่อให้สอดรับกับอนุสัญญา UPOV