บิ๊กพลังงาน แฉไอ้โม่งหลัง “โรงไฟฟ้าชุมชน” ตั้งโต๊ะ รับผลประโยชน์

ศึกชิงกระทรวงแรงงาน

ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกลายเป็นเก้าอี้สุดฮอตที่สังคมตั้งคำถามว่า เหตุใดกระทรวงเล็ก ๆ งบฯปีละไม่กี่พันล้านจะทำให้นักการเมืองวิ่งวุ่นฝุ่นตลบได้เพียงนี้

สมัยที่ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” จะเข้ารับตำแหน่งในสมัย ครม.ประยุทธ์ 2/1 ก็มีกระแสข่าวว่าขัดใจแกนนำกลุ่มสามมิตร “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อย่างหนัก และแม้ว่า “นายสุริยะ” จะได้รับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ที่มีขนาดงบประมาณมากกว่าเท่าตัว แต่ก็ยังกินแหนงแคลงใจกันอยู่ และหลัง “สนธิรัตน์” เข้ารับตำแหน่งแล้ว

ยังส่ง “อนุรุทธิ์ นาคาศัย” น้องชาย “อนุชา” ในกลุ่มสามมิตรมาเป็นที่ปรึกษาเงาข้างเก้าอี้อีก มาถึงคราว

ครม.ประยุทธ์ 2/2 กลุ่มนี้จึงวางจองเก้าอี้ตัวนี้อีกครั้ง ที่ผ่านมานโยบายของนายสนธิรัตน์หลัก ๆ เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อทุกคน หรือ energy for all โดยเฉพาะการปลุกปั้น “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ” เพื่อให้ทุกชุมชนเข้าถึงพลังงานและมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้า โดยชุมชนใดมีผลผลิตทางการเกษตรอะไรก็สามารถนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าซึ่งจะได้ผลตอบแทนจากค่าเชื้อเพลิง ได้ค่าไฟฟ้า และได้ใช้ไฟฟ้าด้วย

โดยกำหนดสัดส่วนว่าเอกชนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า 60-90% และวิสาหกิจชุมชนถือหุ้นสัดส่วน 10-40% คอนเซ็ปต์นี้ “วินวิน” ทุกฝ่าย ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หากลงทุนจริงทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท แต่ความยากของการผลักดันโครงการนี้ก็คือ การต้องปรับแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) เพื่อบรรจุโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ไว้ในแผน จากเดิมที่ไม่ปรากฏในแผนมาก่อน

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงานกล่าวว่า ด้วยเหตุที่ต้องทบทวนแผน PDP ใหม่ ทั้งส่วนก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ ทำให้การแก้แผนเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าจะผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 19 มีนาคม 2563

ต่อด้วยการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมาตรงกับจังหวะที่ติดภารกิจเรื่องการแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้การแก้แผน PDP ลากยาวถึงปลายเดือนมิถุนายน เท่านั้นยังไม่พอการส่งร่างดังกล่าวเวียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรอรับความเห็น ปรากฏว่าใช้เวลานาน 2 สัปดาห์ “บางกระทรวง”

เตะถ่วงการให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ก็ได้เกิดปมรุนแรงไปกว่านั้น กล่าวคือ มีกระแสเรื่อง “ไอ้โม่ง” ตั้งโต๊ะเรียกรับสมัครโรงไฟฟ้าละ 5 ล้านบาท (5 เมกะวัตต์) ด้วยการวางมัดจำก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมมุติถ้าตั้งโรงไฟฟ้า 100 โรง ก็จะมีเงินสะพัด 500 ล้านบาท ถือเป็นทุนหมุนเวียนได้เลย ประเด็นนี้ทุกคนโจมตีมาที่หัวขบวน ซึ่งนำมาสู่การปรับวิธีการพิจารณาโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการ “ดัดหลัง” ไอ้โม่งด้วยการไม่เอาเอกชนมาเสนอขอตั้งโรงไฟฟ้าเป็นตัวตั้ง แต่เอาชุมชนเป็นแกนนำตั้งโรงไฟฟ้า พื้นที่ไหนใช่เอาตรงนั้น แล้วค่อยหาเอกชนมาแมตชิ่ง หักมุมแก้เกมคนที่เรียกกิน “ค่าหัวคิว”

ถามว่าโรงไฟฟ้านี่เป็นธุรกิจที่ผลตอบแทนดีขนาดไหน เบื้องต้นอัตราผลตอบแทน (IRR) อยู่ที่ 7-8% ซึ่งถือว่าต่ำในวงการไฟฟ้าไม่มีใครทำกัน แต่เชื่อว่ากระบวนการนี้ต่อยอดไปถึงการนำสัญญาซื้อขายไฟ (PEA) ไปขายต่อกินค่าหัวคิวอีก แน่นอนว่าโครงการนี้ยังไม่รู้อนาคต บริษัทที่จ่ายไปแล้วก็อาจจะต้องสูญเปล่าเพราะมีโอกาสจะดีเลย์ออกไป หากว่าที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ดึงแผนกลับมารีวิว รายใหญ่ก็อาจจะรุมสกัดลดจำนวนผู้เล่นรายจิ๊บรายจ้อยในตลาดเหลือแต่ผู้ที่ผลิตเดิมที่มีกำลังผลิตสูงไว้ และยึดแผน PDP เดิมซึ่งจะไม่มีการตั้งโรงไฟฟ้าใหม่อีกนานนับ 10 ปี

เช่นเดียวกับ “โครงการโซลาร์ประชาชน” ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและนำไฟฟ้าที่เหลือมาขายเข้าสู่ระบบให้รัฐ สร้างรายได้ในระยะยาว แต่ทว่าโครงการนี้ยังคงเป็นเพียงภาพฝัน จากเป้าหมายครั้งแรกตั้งเป้าไว้ 10,000 เมกะวัตต์ ค่อย ๆ ลดลงเป็น 1,000 เมกะวัตต์ และเหลือ 100 เมกะวัตต์ในที่สุด ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกมีผู้สมัครเพียง 1 เมกะวัตต์ ปัจจัยที่ให้โครงการนี้ไม่เกิดไม่เพียงแค่เรตค่าตอบแทนรับซื้อไฟฟ้าที่ให้เพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าที่ซื้อจากเอกชนถึง 2-3 บาทต่อหน่วย และเงื่อนไขสุดหินที่กำหนดให้ประชาชนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ต้องมี “วุฒิวิศวกร” รับรอง “ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก” เพราะทั้งประเทศวุฒิวิศวกรแค่ 1,000 คน ก่อนปิดฉากการทำงาน “สนธิรัตน์” ประกาศว่า ต้องแก้ไขและผลักดันให้ได้ 50 เมกะวัตต์ในสิ้นปี 2563

ส่วนการจะดึง “นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท. และ รมช.คมนาคมกลับสู่เก้าอี้ รมต.พลังงานภายใต้ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ดูจะเหนื่อยหนักเพราะไม่เพียงต้องเผชิญกับความท้าทายจากแรงต้านในพรรคพลังประชารัฐ แต่หลายฝ่ายมองถึงอนาคตนโยบายกระทรวงพลังงานที่เกิดขึ้น อดีตซีอีโอปตท. อาจมีนโยบายบริหารที่ยังเป็น ปตท.ซึ่งหลาย ๆ โครงการอาจเปลี่ยนทิศ เช่นการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีที่ถึงแม้ว่าจะมีการให้ใบอนุญาตบริษัทผู้นำเข้าเพื่อมุ่งสู่การเปิดเสรี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นยังต้องหาทางใช้ท่อส่งของปตท.ต่อไป หากตกลงกันไม่ได้การนำเข้าในปี 2564-2565 ก็ยังต้องลุ้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างน้ำจิ้มของโครงการภายใต้เก้าอี้ รมต.พลังงาน แต่ในกระทรวงนี้ยังมีโครงการที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์สัญญาสัมปทานต่าง ๆ มากมายที่ยังรอรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาสานต่อไม่ว่าจะเป็น “ไพรินทร์” หรือ “สุริยะ” หรือใครอื่น ก็ต้องจับตา การขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน กรณีแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา การวางอนาคตไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน รวมถึงข้อพิพาทกรณีรื้อถอนแท่นขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับเชฟรอน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ด้วย