ปิดฉากแชมป์ส่งออกกล้วยไม้ โควิดทุบตลาด 5 พันล้านวูบ “บิ๊กตู่” เมินช่วย

สุดทนผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยทยอยเจ๊ง จากเบอร์ 1 โลก รายได้ปีละ 5 พันล้านบาทกลายเป็นศูนย์ แถมแบกต้นทุนอ่วมซ้ำเจอโควิดมาระลอก 2 ฉุดตลาดในประเทศกำลังซื้อหด สมาคมส.ผู้ส่งออกกล้วยไม้ร้องบิ๊กตู่กว่า 3 เดือนไม่ตอบรับ มองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เอกชนนับ 10 รายทิ้งสวนหนีตายแปลงสวนเป็นร้านอาหาร ผันตัวขายออนไลน์

นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกดอกกล้วยไม้ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวงจรธุรกิจกล้วยไม้เริ่มอ่อนกำลัง ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถแบกรับภาระที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ ทั้งยังมีกระเเสข่าวว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 ยิ่งทำให้ยังไม่ปรากฏสัญญาณว่าการแพร่ระบาดจะมีแนวโน้มสิ้นสุดได้เมื่อไร

“ขณะนี้ผู้ประกอบการสมาชิกสมาคม 40-50 รายทั่วประเทศ ขาดรายได้ทันทีทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ส่งออกไม่สามารถพยุง และรักษาสถานภาพของธุรกิจให้ยืนหยัดต่อได้ สมาคมประเมินว่า หากแนวโน้มการส่งออกไม่มีสัญญาณดีขึ้นทั้งปีถึงต้นปีหน้า มูลค่าการส่งออกกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี และจะต้องติดลบอีก แม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ จีน ยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีการแพร่กระจาย และพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ได้ระงับการนำเข้าโดยสิ้นเชิง”

ก่อนหน้านี้ ในสมาคมได้หารือร่วมกันเห็นตรงกันว่า ภายใน 1 เดือนข้างหน้า ขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือ โดยได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาแต่ไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเริ่มปรับธุรกิจจากสวนกล้วยไม้ไปประกอบธุรกิจเป็นร้านอาหารใช้สวนเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเริ่มมองหาอาชีพเสริมไปขายสินค้าออนไลน์ โดยมีประมาณ 10 รายทิ้งกิจการเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนทั้งแรงงานและการดูแลกล้วยไม้ทุกวันได้

“ถามว่าท้อไหม เราท้อมาก แต่เข้าใจรัฐบาล ทุกธุรกิจเจ๊งระนาว ยิ่งเป็นธุรกิจดอกไม้นับเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือย ขายในประเทศเศรษฐกิจไม่ดี คนก็ไม่มีกำลังซื้อ ทุกเจ้าควักเงินเก็บสำรองมาใช้แทบไม่เหลือ ยื่นหนังสือไปถึงนายกฯก็ไม่มีความคืบหน้าเลย จาก 5,000 ล้านบาท

ที่คิดว่าเป็นศูนย์ คิดว่าถึงปีหน้าติดลบไปอีกแน่นอน แม้เดือนที่ผ่านมาที่เหมือนจะดีขึ้น เช่น อิตาลี อเมริกา ออร์เดอร์มาก็เจอค่าส่งแพงเจอระบาดซ้ำอีกหยุดชะงักเลย ส่วนคู่แข่ง เช่น จีนเองยังไปได้ เขาก็เน้นขายในจีนเองเช่นกัน แต่ไทยทุกวันนี้ดอกกล้วยไม้ที่ออกทั้งหมด ต้องตัดทิ้งอย่างเดียว เพราะทุกอย่างหยุดหมด ต้องบอกว่าเราอยู่กันไม่ได้แล้ว จึงอยากร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเยียวยาธุรกิจนี้ไม่ให้ล้มเพราะเราส่งออกอันดับ 1 มองเห็นเราบ้างก็ยังดี”

สำหรับข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1) ขอให้สถาบันการเงินหยุดพักชำระหนี้ชั่วคราวแก่บริษัทผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ หากมีการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้ยกเว้นการนำเงื่อนไขต่าง ๆ มาเป็นเหตุในการปฏิเสธการพิจารณาการขอกู้ใหม่ และให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงินกู้ โดยให้ระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่ต่ำกว่า 5 ปี

2) ขออนุมัติเงินกู้วงเงินดอกเบี้ยต่ำ แบบไม่มีเงื่อนไขเป็นกรณีพิเศษ ให้กับบริษัทผู้ส่งออกกล้วยไม้ และเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั้งหมด วงเงินรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกรณีพิเศษช่วงวิกฤตการณ์ส่งออกไม่ได้

3) ให้ยกเลิก หรือลดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับผู้ประกอบการจาก 4% เหลือ 1% และ 4) ลดการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลของบริษัท/ผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย 20% เหลือ 15% ในระยะเวลา 2-5 ปี

นายเข้มเเข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กล้วยไม้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าหลักล้วนเป็นประเทศที่เกิดการระบาด ทำให้มีมาตรการล็อกดาวน์ งด และลดเที่ยวบิน ส่งผลให้ยอดส่งออกช่วง 4 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ลดลง 40.14% มูลค่าลดลง 31.61% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เเนวทางของกรมที่ทำได้คือสนับสนุนตลาดกล้วยไม้ในประเทศให้มากที่สุด โดยการประชาสัมพันธ์เเหล่งผลิต เปิดพรีออร์เดอร์ Line official account “DPAE Orchids” ที่เป็นแปลงใหญ่ 11 แปลง 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม 6 แปลง สมุทรสาคร 3 แปลง นนทบุรี 1 แปลง กรุงเทพฯ 1 แปลง ช่วยให้สามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าที่สวนจาก 30-70 สต. เป็นช่อละ 2.50 บาท