รู้จัก “สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์” รมว.พลังงาน คนใน-สายตรง “ประยุทธ์”

หลายคนคงยังไม่คุ้นเคยกับชื่อ “สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ที่ก้าวมารับตำแหน่งแทน “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และตำแหน่งของ  “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมารที่ประกาศลาออกไปก่อนหน้านี้

“สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์” ปรากฏตัวที่ตึกไทยคู่ฟ้า นั่งด้านขวามือของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษามานานล่วงหน้าหลายเดือน

“สุพัฒน์พงษ์” จึงเป็นรัฐมนตรีโควต้ากลาง ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควบรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง บ่งบอกนัยยะว่าตำแหน่งนี้ยากที่ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ จะตั้งป้อมเขย่าเก้าอี้ รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นที่หมายปองของแกนนำ “กลุ่มสามมิตร”

เพราะทั้งสองตำแหน่งของ “สุพัฒนพงษ์” ในเชิงสัญลักษณ์ และการบริหารทีมเศรษฐกิจ โชว์สถานภาพและคอนเนกชั่นอันแนบแน่น-สายตรงของนายกรัฐมนตรี

ก่อนที่นักธุรกิจในวงการพลังงานจะรู้จัก “สุพัฒนพงษ์” เขาเป็นที่คุ้นเคยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเพื่อร่วมรุ่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปริญญาบัตร ปรอ. 20) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์ทำงานอยู่ในแวดวงการเงิน โดยในช่วงปี 2550 ได้นั่งเป็นกรรมการและกรรมการบริหาร ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์

ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ 5 ปี “สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์”  คร่ำหวอดในวงการพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ ปตท. ระหว่างเดือนก.พ. 2559 ถึง เดือน มิ.ย. 2563

เส้นทางสู่การทำงานด้านพลังงาน จากพื้นฐานการศึกษาที่จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งยังพ่วงท้ายด้วยการศึกษาอบรมในหลักสูตรต่างๆมากมาย อาทิ “การปฏิรูปและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม” (Business Revolution and Innovation Network: BRAIN) รุ่นที่ 2/2561 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 23/2559 สถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 3/2558 (นธป. 3) วิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ

หลักสูตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน รุ่นที่ 12/2557 สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 4 (วพน. 4) สถาบันวิทยาการพลังงาน

หลักสูตร Oxford Energy Seminar 2013, United Kingdom หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ. 50) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปริญญาบัตร ปรอ. 20) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และAdvance Management Program, INSEAD University, France เป็นต้น

นอกจากนี้ “รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน”  ยังมีประสบการจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่น ทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี

เป๋ยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านบริหารธุรกิจ) ในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และนายกสมาคม สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สุพัฒนพงษ์” เมื่อครั้งดำรองตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ปี 2561เขานำเสนอมุมมองด้านการแก้ไขปัญหาขยะขวดพลาสติกในทะเลที่นำมารีไซเคิลผลิตเป็นเม็ดพลาสติก และต่อยอดเป็นเส้นใยในการทักทอเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ในโครงการ  “UPCYCLING THE OCEAN”

และมองไปสู่ New Business Model “โรงงานรีไซเคิล” ที่จะเริ่มวางระบบการเก็บขยะขวดพลาสติกนำมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลและผลิตต่อยอดอย่างจริงจัง และยังมีโครงการลงทุนในอีอีซีอีก 130,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี

เมื่อ “สุพัฒนพงษ์” ต้องมารับหน้าที่สำคัญในกระทรวงพลังงาน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกระทรวงเล็กที่มีงบประมาณหลักไม่กี่พันล้านบาท แต่เชื่อมโยงกับการวางยุทธศาสตร์การสร้างความั่นคงทางพลังงาน และการทำงานในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณมหาศาลทั้ง ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

นับว่าเป็นจุดที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการผลักดันและสานต่อภารกิจเดิมที่ค้างอยู่ทั้ง การขับเคลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)แก้ไขแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) วางอนาคตการผลิตไฟฟ้าของไทย

การสานต่อนโยบายการเปิดเสรีให้มีการนำเข้า LNG เพื่อให้ประเทศไทยมีวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนไฟฟ้า และรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน การปลดล็อกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ การสานต่อโครงการใช้บล็อกเชนซื้อขายน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล การแก้ไขปัญหาการรื้อถอนและส่งมอบแท่นผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอนที่งวดเข้ามาทุกที

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นงาน “เผือกร้อน” ที่รอ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานคนใหม่มาสะสาง

ประสบการณ์ทำงานของ “สุพัฒนพงษ์” นับว่าไม่ธรรมดา นับถอยหลังไประหว่างเดือน ก.ย. 2557 – มิ.ย. 2563 เป็นกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

• ต.ค. 2557 – ก.ย. 2562 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
• ต.ค.2557 – ก.ย. 2562 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
• เม.ย. 2560 – ก.ย. 2562 ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
• 2557 – 2562 กรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited
• ก.พ. 2558 – ก.ย. 2562 กรรมการ โรงเรียนกำเนิดวิทย์
• พ.ค. 2558 – ก.ย. 2562 กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิทยสิริเมธี
• ธ.ค. 2557 – ก.ย. 2562 อุปนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย
• พ.ย. 2557 – ก.ย. 2562 กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
• พ.ย. 2557 – ก.ย. 2562 รองประธานมูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้
• พ.ค. 2558 – มี.ค. 2561 กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
• 2558 – 2561 รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• พ.ย. 2557 – ก.ค. 2560 รองประธานกรรมการ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)