“โครงการถุงมือยาง” อคส.ฉาว คู่สัญญาการ์เดียนโกลฟส์ตั้งอยู่ในอริยแลนด์

ตามหา - จากการลงพื้นที่สำรวจสถานที่ตั้ง บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ ระบุเลขที่ 131/45 หมู่ที่ 11 ต.นราภิรมย์ อ.บางเลนจ.นครปฐม ตามระบบ Google Map พบว่ามี ?อริยแลนด์? เป็นจุดรวมการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์แต่ก็ไม่พบอาคารโรงงานจึงโทรศัพท์สอบถามฝ่ายขายซึ่งรับว่ามีโรงงานตั้งอยู่จริงแต่ไม่ขอให้รายละเอียด

นายกฯสั่งเด้งอดีตรักษาการ ผอ.เข้ากรุ หลังทำสัญญาค้าถุงมือ 500 ล้านกล่อง 1 แสนล้าน “รุ่งโรจน์” ยืดอกรับทำธุรกรรมไม่ผ่านบอร์ด-ไม่เปิดเสนอราคา-ถอนเงินค่าข้าวถุงไปวางมัดจำ 2 พันล้าน ยึดมาตรา 26 พ.ร.ก.ตั้ง อคส. พร้อมให้สอบ ด้านบอร์ดสั่งระงับด่วนจ่อร้องดีเอสไอ-ปปง. ต้นตอ”การ์เดียนโกลฟส์” เพิ่งตั้งบริษัทก่อนทำสัญญาถุงมือยาง อคส. แค่2 เดือน วงการถุงมือยางไม่รู้จัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อมีการเปิดเผยสัญญาซื้อขายถุงมือยางเลขที่ อคส.ถม.356/2563 ที่มี พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ลงนามซื้อ-ขายกับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ปริมาณ 500 ล้านกล่อง กล่องละ225 บาท รวมเป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาทไปเมื่อ 31 ส.ค. 2563

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 31/2563 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2563 ให้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีมีผู้ยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจถุงมือยาง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า(บอร์ด อคส.) ร่วมกับตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อคส.มีมติเห็นชอบให้”ระงับ” โครงการซื้อขายถุงมือยาง เนื่องจากเห็นว่าสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานโดยไม่มีการวางแผนธุรกิจอย่างถูกต้องทั้งยังพบว่าไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบทางราชการในการตกลงทำสัญญาซื้อ-ขาย

และมีมติให้ดำเนินคดีเพื่ออายัดบัญชีการโอนเงิน 2,000 ล้านโดยเร็ว จากที่ได้มีการโอนเงินดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 เพื่อวางมัดจำค่าถุงมือพร้อมทั้งมอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส.คนใหม่ติดตามดำเนินการ ก่อนจะยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ควบคู่กันไปโดยเร็วที่สุด

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะอดีตรักษาการผอ.อคส. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนายกฯ และพร้อมให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะฟ้อง ปปง.หรือ ป.ป.ช. โดยขอยืนยันความบริสุทธิ์ในการทำงาน ตามหน้าที่รักษาการ ได้ยึดหลักตามกฎหมายพระราชกฤษฎาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 มาตรา 26 ซึ่งให้อำนาจเต็ม ผอ.อคส.สามารถทำงานได้เป็นเหตุผลที่ไม่ได้เสนอบอร์ด อคส. และไม่มีการเปิดซองเสนอราคา

โดยได้อธิบายว่า แม้ว่าในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้าจะกำหนดให้ปฏิบัติตามในข้อบังคับ ซึ่งระบุว่าหากอคส.จะจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน25 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจ ผอ.อคส.ลงนาม, ถ้าวงเงิน 25-50 ล้านบาท ให้ประธานบอร์ด อคส.ลงนาม, หากเกิน50 ล้านบาท ต้องขอให้บอร์ด อคส.พิจารณา

แต่ด้วยเหตุที่ได้ตรวจสอบแล้ว “ข้อบังคับ” ดังกล่าวไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่ากับว่าไม่มีผล จึงได้ยึดมาตรา 26 ตามกฎหมาย อคส.แทน โดยมาตรา 26 ระบุว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ ผอ.เป็นตัวแทนขององค์การ และเพื่อการนี้ ผอ.อาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด ไว้ในข้อบังคับว่าให้ปฏิบัติแทนกันได้นั้นก็ได้ ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดไว้ว่านิติกรรมใด ผอ.จะทำได้แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน นิติกรรมนั้น ผอ.ทำโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันองค์การ เว้นแต่คณะกรรมการจะได้ให้สัตยาบัน

ไม่เพียงเท่านั้น รักษาการ ผอ.ระบุว่าได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเบิกเงินสดจากบัญชีของ อคส. 2,000 ล้านเพื่อไปวางมัดจำให้บริษัทถุงมือยาง โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินที่เตรียมไว้สำหรับจ่ายคืนให้ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงคู่สัญญา อคส. 6 ราย ซึ่งเคสนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ทุกฝ่ายจึงตกลงกันให้มีการฝากเงินก้อนดังกล่าวไว้ เพื่อจะรักษาประโยชน์จากดอกเบี้ยไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด หากเทียบกับการฝากเงินรับดอกเบี้ยแค่ 1.35% ถือว่าไม่มาก

สำหรับเหตุผลที่ไม่เปิดเสนอราคาเนื่องจากมีผู้ซื้อถุงมือหลายรายที่ติดต่อขอซื้อมาที่ อคส. ขณะที่ อคส.ต้องการลดปัญหาการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนสะสม จึงตัดสินใจทำโครงการนี้ โดยเหตุที่ไม่ได้เปิดประมูล เพราะลูกค้าแจ้งว่าต้องการซื้อถุงมือของบริษัทนี้ เพราะมีคุณภาพมาตรฐานที่สามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ ที่สำคัญบริษัทนี้กำหนดให้วางค้ำประกันเพียง 2% ของมูลค่าถุงมือ ซึ่ง “ต่ำกว่า” ผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ ๆ ที่ให้วางค้ำประกันถึง 50% หรือ 50,000 ล้านบาท ซึ่ง อคส.ไม่มีเงินสดเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม “มั่นใจ” ว่า หากดำเนินโครงการสำเร็จครบ 2 ปี จะทำให้อคส.มีกำไรจากการขายถุงมือ กล่องละ5 บาท โดยราคาที่จะตั้งขายมีตั้งแต่กล่องละ 210-230 บาทขึ้นอยู่กับการตกลง เช่น ลูกค้าจะซื้อ 230 บาท ก็จะซื้อถุงมือในต้นทุน 225 บาทเป็นต้น และหากขายจนครบปริมาณจะมีกำไร3,500 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งคืนให้รัฐ 50% และเข้าสู่ อคส. 50% ถือว่าบรรลุเป้าหมายและขณะนี้ได้เริ่มส่งถุงมือลอตแรกเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เขาเคยใช้วิธีการนี้ดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ อคส.มาแล้ว เมื่อปี 2562โดยย้อนไปขณะนั้นจะปรากฏข้อมูลว่า อคส.ชนะประมูลจำหน่ายอาหารสดและข้าวสาร อคส.ให้กรมราชทัณฑ์ (เรือนจำ) 46 แห่ง ส่งผลให้มีรายได้ 1,004 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และมีกำไรประมาณ 30 ล้านบาท หรือราว 3%

รายงานข่าวระบุว่า ได้มีตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นิติบุคคลเลขที่ 0735563004477 ตั้งอยู่เลขที่ 131/45 หมู่ที่ 11 ต.นราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีนายรณรัสย์ หัดศรี ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลนั้น เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อ 22 มิ.ย. 2563หรือเพียง 2 เดือนก่อนทำสัญญา และมีทุน 2,500 ล้านบาท


แหล่งข่าววงการถุงมือยาง เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่รู้จักบริษัทการ์เดียนโกลฟส์ จำกัด เพิ่งก่อตั้ง