พาณิชย์เช็กสต๊อกยาง 3 พันรายสกัดขาใหญ่ทุบราคา

ยางพารา
Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

ผู้ประกอบการยางพาราเกือบ 3 พันรายทั่วประเทศระส่ำ “พาณิชย์” ไล่เช็กสต๊อกสกัดปัญหาทุบราคา “จุรินทร์” นำทีมพาณิชย์-เกษตรฯ-มหาดไทย ลุยตรวจประเดิม “ไทยฮั้วฯ” ด้านสหกรณ์ชาวสวนยางก็โดนด้วย ราคายางยังทรงตัวสูง จากภัยแล้งกระทบเริ่มกรีดยางได้ช้ากว่าปกติ ราคาส่งออกยางขยับเพิ่ม กก.ละ 2 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยว่าตามที่เกิดสถานการณ์ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ปรับตัวลดลง 7% เหลือ กก.ละ 56 บาทอย่างรวดเร็ว ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด่วน เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น นำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อตรวจสอบปริมาณยางคงเหลือในสต๊อกของผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 2,711 ราย

ล่าสุด นายจุรินทร์เปิดเผยว่า ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานของบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) สาขาบางกล่ำ อําเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตามมาตรการดูแลราคายางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จำเป็นต้องมีมาตรการติดตามดูแลโดยเฉพาะสต๊อกยางพารา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลชดเชย 2%

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมเตรียมแผนตรวจสอบสต๊อกยางพาราให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งจนถึงขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 16% จากนั้นจะสรุปรายงานผลการตรวจสอบเสนอรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“ปริมาณสต๊อกยางพาราในขณะนี้มีเท่าไรนั้นไม่สามารถแจ้งได้ เนื่องจากมีผลต่อราคาซื้อ-ขายยางพาราในตลาด ทางกรมจะดำเนินการตรวจสอบสต๊อกให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้”

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้ดำเนินการตรวจสต๊อกยางพาราอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการรับซื้อยางพาราของผู้ประกอบการว่ามีการรับซื้อยางพาราว่าเป็นอย่างไร เป็นการช่วยกระตุ้นการรับซื้อยางพาราของผู้ประกอบการเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น มีผลต่อความต้องการยางรถยนต์ ซึ่งนั่นหมายความว่าวัตถุดิบอย่างยางแผ่น ยางแท่ง จึงเป็นที่ต้องการในการผลิตล้อยางรถยนต์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ถุงมือยางธรรมชาติเป็นที่ต้องการด้วย จากปัจจัยนี้ทำให้ยางพารามีความต้องการเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินมาตรการเชิงรุกกระตุ้นตลาดยางพาราโดยผลักดันการส่งออก โดยได้จัดเจรจาซื้อ-ขายสินค้าจากยางพารา รวมไปถึงการติดตามการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขายยางพาราที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งส่งมอบให้กับลูกค้า เช่น จีนตุรกี และอีกหลายประเทศ ทำให้ยางพาราเป็นที่ต้องการและดันราคายางพาราสูงขึ้น เกษตรกรได้รายได้ จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามสถานการณ์ราคา สต๊อกยางพาราอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายไม่ให้มีการกดราคาในตลาด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกลุ่มสหกรณ์เกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า ทีมตรวจสอบทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกยางพาราของทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ และกลุ่มสหกรณ์จากปกติที่จะมีเฉพาะกรมวิชาการที่ลงมาตรวจสต๊อกทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน ในส่วนการสต๊อกยางของสหกรณ์จะเป็นไปในลักษณะของการรวบรวมจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมาเก็บไว้ 7 วัน ไม่ได้มีสต๊อกปริมาณมากเท่ากับผู้ส่งออก

“สหกรณ์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการสต๊อกในปีนี้ว่า เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งจึงไม่สามารถกรีดยางได้ตามกำหนดปกติจะเริ่มกรีดช่วงเมษายน-พฤษภาคมก็เลื่อนมาเป็นสิงหาคม และมาประสบปัญหาฝนตกกรีดไม่ได้ ทำให้ผลผลิตยางออกช้า และลดลงประมาณ 40-50%เอกชนส่วนหนึ่งก็คาดการณ์ผิดว่ายางจะเริ่มออกในเดือนมิถุนายน แต่ผลผลิตหายไป และฝนตกลงมา นอกจากนี้ บริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นอร์ท อีสรับเบอร์) ประสบปัญหาไฟไหม้โรงงานซึ่งทุกคนกังวลว่าจะหยุดรับซื้อหรือไม่แต่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวก็กลับมาซื้อปกติ และยังให้ราคาที่ดีกว่าตลาดประมาณ 1 บาทด้วย”

สำหรับราคายางล่าสุด ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2563 โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ กก.ละ 51.50 บาทจากเดือนก่อนที่ราคา กก.ละ 46.40 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 52.65 บาท จากเดือนก่อนที่ราคา กก.ละ 49.20 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 58.09 บาทจากเดือนก่อนที่ราคา กก.ละ 53.40 บาทส่วนราคาส่งออกเอฟโอบีอยู่ที่ 62.75 บาทจากเดือนก่อนที่ราคา กก.ละ 59.50 บาท