ทุนไทยในเมียนมาฝ่าโควิด-19 ค้าชายแดนวูบ พนักงานไทยตกค้าง 400 คน

ผู้คนในประเทศเมียนมาร์
Ye Aung THU / AFP

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสมถึง 39,696 คน เสียชีวิต 972 คน ทำให้เมียนมากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและภาคธุรกิจในเมียนมาเป็นอย่างมาก รวมถึง “ธุรกิจไทย” ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาด้วย

พนักงานทำงานที่บ้าน

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมามีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะถึง 50,000 ราย โดยพื้นที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่ 80% อยู่ในย่างกุ้ง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญทั้งของเมียนมาและนักลงทุนจากต่างชาติ

“การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้การดำเนินธุรกิจ การดำรงชีวิตในเมียนมาลำบากมากขึ้น เห็นได้จากรัฐบาลเมียนมาได้ออกประกาศห้ามออกนอกบ้าน หากไม่มีความจำเป็น และบังคับห้ามมีการเดินทางข้ามจังหวัดในเมียนมา หากจะเดินทางต้องมีเอกสารรับรอง การออกไปซื้อของใช้นอกบ้าน มีการจำกัดจำนวนผู้ที่ออกจากบ้าน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจการซื้อขายสินค้าในเมียนมาเกิดการชะลอตัว ร้านค้าทั่วไปเปิดให้บริการน้อยลง” นายกริชกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาปัจจุบันมีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะมีบริษัทรายใหญ่ เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ., บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG และบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) รวมไปถึงบริษัทรายกลางและรายเล็กที่ลงทุนในเมียนมาต่างยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะคนไทยที่ทำงานในเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทที่ไปประกอบธุรกิจในเมียนมาต้องปรับการทำงานมาทำที่บ้านมากขึ้น

“ตอนนี้คนไทยที่ทำงานในเมียนมากว่า 300-400 คน ซึ่งเป็นพนักงานอยู่ในบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ โดยบริษัทต้องปรับแผนแจ้งให้พนักงานตนเองทำงานที่บ้านเป็นหลักเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การประสานงานและหรือการเจรจาธุรกิจจะติดต่อผ่านออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการ
ที่ทำธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค ยอดรายได้ลดลงกว่า 70% จากความต้องการสินค้าลดลงเพราะคนเมียนมาไม่ออกนอกบ้าน ร้านค้าต่าง ๆ จึงปิดร้านไม่ค่อยให้บริการ ผู้ประกอบการไทยบางรายถึงกับต้องลดเงินเดือนพนักงานลงเพื่อที่จะประคองธุรกิจไปก่อนในช่วงนี้”

สอดรับกับข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำย่างกุ้ง ที่รายงานว่า มีนักลงทุนไทยเป็นอันดับ 6 ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา รองจากสิงคโปร์-จีน-ฮ่องกง-เวียดนาม-ญี่ปุ่น (ตารางประกอบ)

CP-แม็คโครงัดแผนสู้โควิด

จากการสอบถามภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในเมียนมาเห็นว่า ประเทศไทยอาจต้องให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และต้องปรับตัวตั้งรับ โดยวางแผน BCP รับมือวิกฤตโควิดไม่ให้ธุรกิจสะดุด ยกตัวอย่าง กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่เข้าไปลงทุนด้านปศุสัตว์-ซีพี เฟรชมาร์ท-ไก่ย่างห้าดาว และศูนย์จัดส่งและกระจายสินค้ามาตั้งแต่ปี 2561

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล CPF กล่าวว่า ท่ามกลางความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทได้ดำเนินมาตรการควบคุมการผลิตที่เข้มงวดตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า การผลิตอาหารมีความปลอดภัยสูงสุด ทั้งยังดูแลพนักงานไทยและต่างชาติให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ โดยกำหนดมาตรการดูแลสุขภาพพนักงานทุกคนอย่างเข้มงวด มีการป้องกันตนเองตามมาตรฐานวิถีชีวิตใหม่ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การเว้นระยะห่างและการล้างมือบ่อย ๆ

“ในกระบวนการผลิตอาหาร บริษัทได้ตรวจอุณหภูมิพนักงานและผู้รับเหมาก่อนเข้าโรงงานด้วย และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เทอร์โมสแกนเนอร์ พร้อมทั้งกำหนดให้ทุกคนต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดร่างกายก่อนเปลี่ยนมาสวมใส่แบบฟอร์มเข้าสถานที่ของโรงงาน การทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณจุดเสี่ยงในสถานที่ทำงาน การสื่อสารข่าวสารข้อมูลและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ” น.ส.พิมลรัตน์กล่าว

ด้าน นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโครมีสาขาในกรุงย่างกุ้ง 1 แห่งคือ สาขาซัทซัน ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดในทุกมิติ เสริมจากแนวปฏิบัติหลักของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาเมียนมา โดยเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดสาขาเป็น 09.00-21.00 น. พร้อมวางมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนชาวเมียนมาได้เข้ามาซื้อสินค้าอย่างมั่นใจ

“แม็คโครตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเปิดสาขาที่ประเทศใด เราจะดูแลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกับที่สาขาซัทซัน กรุงย่างกุ้ง เราได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น และปรับรูปแบบการจับจ่ายสู่วิถีใหม่ ด้วยการตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนที่จะเข้าสาขา การกำหนดให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าสาขา การเพิ่มจำนวนจุดวางแอลกอฮอล์เจลให้มากขึ้น การทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย โดยเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดรถเข็นสินค้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งเคาน์เตอร์บริการต่าง ๆ ตลอดจนคุมเข้มเรื่องการรักษาระยะห่าง ลดความแออัดภายในสาขา รวมถึงเน้นย้ำข้อปฏิบัติสำคัญให้พนักงานทุกคนทั้ง”

“คนไทยและพนักงานเมียนมา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจให้คำนึงถึงความปลอดภัยก่อนเข้าพื้นที่ทุกครั้ง”
ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่รับทราบรายงานในส่วนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ไปเปิดหลักสูตรที่เมียนมาทั้งในมัณฑะเลย์และย่างกุ้งนั้น ได้มีการปรับแผนเพื่อรับวิกฤตโควิด โดยให้บุคลากรเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยหมด และได้ใช้วิธีปรับการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ 100% แทน “ทำให้ไม่น่าเป็นห่วงผลกระทบ”

ปิดด่านแม่สอด-เจดีย์สามองค์

ส่วนสถานการณ์ค้าชายแดน ปรากฏด่านค้าชายแดนแม่สอด ซึ่งเป็นด่านสำคัญได้ประกาศปิดด่านเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป หลังพบการระบาดไวรัสโควิดผ่านทางคนขับรถบรรทุกเมียนมาที่แม่สอด

นอกจากนี้ยังได้มีการปิดด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี อีก 14 วัน ตั้งแต่ 20 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2563 กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า ผู้ประกอบการคนไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้มูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่า 114,442 ล้านบาท หรือลดลง 13% แยกเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 59,172 ล้านบาท หรือลดลง 11.17% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 55,270 ล้านบาท หรือลดลง 14.91%

ล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 2563 จะลดลงไปอยู่ที่ 1.5% และจะกลับมาฟื้นตัวได้ 6% ในปี 2564