“ข้าวหอมมะลิไทย” ทวงแชมป์ ข้าวดีที่สุดในโลก สำเร็จ

ข้าว

ไทยกลับมาทวงแชมป์ข้าวหอมมะลิไทย ดีอันดับ 1 ของโลกปี 2020 จากการประกวดข้าวทั้งสิ้น 5 ประเทศ ขณะที่การส่งออกทั้งปี 2563 นี้อยู่ที่ 5.8 ล้านตัน เนื่องผู้ส่งออกเจอปัญหาขาดแคลนตู้ ส่วนการส่งออกข้าวไทยปี 2564 มองที่ 7 ล้านตัน

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2020 ประเทศไทยได้รับรางวัล ข้าวที่ดีที่สุดในโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2020” จากการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference จัดโดย The Rice Trader สหรัฐอเมริกา

โดยจัดงานครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นผลงานของประเทศไทย เกษตรกร โรงสี ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าว และหน่วยงานของภาครัฐ

การได้รับรางวัลครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐบาลโดยตั้งเป้าหมายว่า 5 ปีนี้ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำการผลิตตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของโลกให้ได้ ซึ่งเมื่อไทยได้รางวัลข้าวที่ดีที่สุด จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพข้าวไทยในตลาดโลกได้มากขึ้น

“ยุทธศาสตร์ข้าวจากนี้จะมุ่งพัฒนาพันธ์ข้าว 7 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียม ข้าวสี อีกทั้งจะพัฒนาเพิ่มพันธ์ข้าวให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12 ชนิด เพื่อการแข่งขันได้ในตลาดให้ได้”

ส่วนความคืบหน้าการเจรจาข้าว COFCO ของจีน ซึ่งเหลือการเจรจาส่งมอบข้าวอีก 300,000 ตัน ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างเร่งเจรจาการส่งออกข้าว ซึ่งเชื่อว่าจะให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ส่วนการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึง 2 ธันวาคม ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 5.1 ล้านตัน ปริมาณลดลง 28% มูลค่าอยู่ที่ 108,000 ล้านบาท ลดลง 11%

โดยตลาดข้าวหอมมะลิไทยยังครองตลาดส่งออก เช่น สหรัฐ แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์ เนื่องจากข้าวไทยเมื่อเทียบคู่แข่งอย่างเวียดนามยังสามารถแข่งขันได้ เพราะราคาไม่ห่างกันมาก ยกเว้นราคาข้าวอินเดีย ที่ห่างถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน สำหรับการเจรจากับ COFCO ของจีน ภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี ที่เหลือ 3 แสนตัน จากการเจรจาซื้อขายไปในงวดที่ 8 ปริมาณ 1 แสนตัน ซึ่งจะเร่งให้ได้ข้อสรุป เนื่องจากการเจรจารถไฟความเร็วสูงมีความคืบหน้าไปมากแล้ว

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า การเดินหน้าประกวดครั้งนี้ สมาคมฯได้นำข้าวหอมมะลิเข้าประกวด ซึ่งมีประเทศที่เข้าประกวดด้วยกัน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐ โดยมีข้าวที่ส่งตัวอย่างในการประกวด 20 ตัวอย่างด้วยกัน และจะมีคณะกรรมการที่เป็นเชฟจากสถานที่ต่าง ๆ เข้ามาให้คะแนน และรอบสุดท้ายประเทศที่ผ่าน 2 ประเทศ คือ ไทยและเวียดนาม และผลการประกวดไทยได้ ข้าวที่ดีที่สุดในโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2020”

“การประกวดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 และไทยชนะการประกวดมาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าข้าวไทยดีและไม่ได้รองใคร หากมีการพัฒนาและเดินตามนโยบายยุทธศาสตร์ข้าวอย่างแท้จริง เชื่อว่าข้าวที่ดีที่สุดของโลกก็ยังจะเป็นข้าวไทย”

อย่างไรก็ดี การนำข้าวหอมมะลิเข้าประกวดครั้งนี้ได้มีการคัดสรรเป็นอย่างดี และเป็นฤดูการผลิตปีนี้ผลปลิตดี น้ำดี อากาศดี มีลมหนาวในภาคอีสาน ทำให้ข้าวแห้ง ใส หอม เอื้ออำนวยเป็นอย่างมาก ผิดจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาฝนน้อย แห้งแล้ง ดังนั้น ต่อไปทำอย่างไรให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่จะสู่ดิน ฟ้า อากาศได้ เพราะยังมั่นใจว่าข้าวไทยคุณภาพดีพร้อมที่แข่งขันในตลาดโลก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวหอมมะลิที่ไทยส่งประกวดเป็นพันธุ์ มะลิ 105 เป็นฤดูกาลผลิต 2563/64 ส่งไป 1 ตัวอย่างปริมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิจากภาคอีสาน โดยการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ประกวดครั้งแรก เมื่อปี 2552

ในปีนั้นจัดที่ฟิลิปปินส์ และไทยได้รางวัลข้าวที่ดีที่สุด ในปี 2553 ไทยชนะเลิศ ในปี 2554 เมียนมาร์ ชนะเลิศ ในปี 2555 กัมพูชาชนะเลิศ ในปี 2556 กัมพูชาและสหรัฐ ชนะเลิศร่วมกัน

ในปี 2557 ไทยและกัมพูชา ชนะเลิศร่วมกัน ในปี 2558 สหรัฐชนะเลิศ ในปี 2559 ไทยชนะเลิศ ในปี 2560 ไทยชนะเลิศ ในปี 2561 กัมพูชา ชนะเลิศ ในปี 2563 ปีที่ผ่าน เป็นครั้งแรกที่ เวียดนาม ชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ ST 25 และในปี 2563 ไทยชนะเลิศ หอมมะลิ 105 โดยส่งประกวดผ่านระบบทางไกล สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้นมี 2 ส่วน คือ ลักษณะของข้าวสาร มีความสวยงาม สะอาด และลักษณะข้าวหลังหุงแล้ว โดยพิจารณาเกณฑ์ให้คะแนนโดยเชฟ รสชาติ

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ผู้ส่งออกข้าวมองว่าทั้งปีอยู่ที่ 5.7-5.8 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์จากผู้ส่งออกส่งออก 20 ตู้แต่ได้มา 3 ตู้ ทำให้ส่วนที่เหลือส่งออกไม่ได้ พร้อมทั้งค่าระวางก็ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบการส่งออกเป็นอย่างมาก ทำให้การส่งออกช่วงปลายปีนี้ชะลอตัว เพราะต้องยอมรับว่าการส่งออกข้าวไทยมากกว่า 50% ใช้ตู้ในการขนส่ง จากเดิม 100% ส่งออกโดยเรือใหญ่เป็นหลัก ส่วนการส่งออกข้าวไทยปี 2564 มองเบื้องต้นไว้ที่ 7 ล้านตัน