โควิดถล่มเศรษฐกิจทรุดยาว รัฐควัก 5 พันล้านอุ้มคนตกงาน

Photo by AFP

โควิดรอบใหม่ฉุดโค้งสุดท้าย ธุรกิจกระทบถ้วนหน้า หวั่นลามทั่วประเทศ จับตาช่วงชี้เป็นชี้ตาย 10-14 วัน ภาคประมงอ่วมสุด อาหารทะเลสูญ 1.3 หมื่นล้าน ดับฝันค้าปลีก ศูนย์การค้าปั้นรายได้ฤดูจับจ่าย ทุบมู้ดปลายปีวูบ ท่องเที่ยวเชียงใหม่-เกาะช้างกร่อย แห่ยกเลิกจองห้องพัก อีเวนต์-เคานต์ดาวน์แจ็กพอตระนาว นักเศรษฐศาสตร์ชี้หวั่นเครื่องยนต์พยุง ศก.ตัวสุดท้ายดับ ฟันธงล็อกดาวน์กระทบรุนแรง เผย ครม.เพิ่มอำนาจ สธ.ประกาศฉุกเฉิน จ่ายเงินคนว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าแรง 5.7 ล้านคน

การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ใน จ.สมุทรสาคร ที่แพร่กระจายไปหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วประเทศ นอกจากจะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนที่มีแผนเดินทางออกต่างจังหวัดช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ธุรกิจการค้า ภาคอุตสาหกรรมทุกสาขาต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม โดยเฉพาะภาคการประมงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องห้างปลุกขายออนไลน์สู้

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นล่าสุดกับศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าได้ แต่ห้างต่าง ๆ ยังมีลูกค้าเข้าใช้บริการและใช้จ่ายตามปกติ ไม่ได้ตื่นตระหนก ขณะที่ผู้ประกอบการได้เพิ่มความเข้มงวดคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าห้าง และเน้นทำความสะอาดในจุดสำคัญ ๆ

“ผู้ประกอบการมีประสบการณ์มาแล้ว ช่วงโควิดระบาดหนักเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา จึงพร้อมนำมาตรการมาใช้ รวมถึงการขายผ่านออนไลน์รองรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางมาห้าง ส่วนแบ็กออฟฟิศก็พร้อมนำระบบเวิร์กฟรอมโฮมกลับมาใช้ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ตอนนี้ยังเน้นมอนิเตอร์สถานการณ์และเตรียมพร้อมทุกเมื่อ”

ไอคอนสยามจัดอีเวนต์

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ผู้จัดอีเวนต์รายใหญ่ เปิดเผยสำหรับอินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ ยังเดินหน้าจัดอีเวนต์ตามแผนที่วางไว้ ยังไม่ยกเลิกงานอีเวนต์ที่เตรียมไว้ ได้แก่ งาน Amazing Thailand Countdown ซึ่งร่วมมือกับไอคอนสยาม 31 ธ.ค.นี้ 2563 และงานเทศกาลประดับไฟฤดูหนาว 2564 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ระหว่าง 1 ม.ค.-14 ก.พ. 2564

ทุกงานจะเข้มงวดเรื่องคัดกรอง โดยทำตามทางการที่แนะนำเคร่งครัด ทั้งตรวจเช็ก สแกนผ่านไทยชนะ บังคับใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง กรณีงานเทศกาลประดับไฟฯ จะจำกัดผู้เข้าชมที่ 6,500 คน/วัน

ข้าวสารเลิกเคานต์ดาวน์

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า โควิดระลอกใหม่กระทบภาพรวมธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทศกาลแห่งความสุขช่วงปลายปีกระตุ้นยอดขาย รวมถึงผับบาร์ย่านท่องเที่ยวถนนข้าวสาร หลังมีข่าวระบาดรอบใหม่เพียงคืนเดียว ยอดขายของร้าน ผับ บาร์ย่านนี้ลดลงถึง 60-70%

“จากที่เคยมีรายได้ 7 แสนบาท/คืน ลดทันทีเหลือแค่ 1 หมื่นบาท/คืน กระทบมาก น่าเสียดายโอกาสที่ธุรกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว ต้องถอยกลับไปอีก หลังจากนี้เป็นเรื่องยากที่จะประเมิน ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด”

ล่าสุด สมาคมได้ตัดสินใจยกเลิกการจัดงานเคานต์ดาวน์ และการจัดงานเฉลิมฉลองช่วงปลายปี 2563 ตามนโยบายของทางการแล้ว จะมีเพียงการจัดไฟประดับย่านถนนข้าวสารเท่านั้น

ยกเลิกจองโรงแรม

ด้านความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงแรมในเชียงใหม่หลายแห่งถูกยกเลิกจองห้องพัก จัดอีเวนต์ และการประชุมสัมมนาแล้ว 30-50% เช่น โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ ถูกยกเลิก 2 งานสัมมนา ค่าเสียหาย 5 ล้านบาท ขณะที่การจองห้องพักเพิ่มไม่มีใหม่เข้ามา ทำให้บรรยากาศค่อนข้างแผ่ว

“เดิมตั้งเป้าว่าเดือนธันวาคมจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 60% แต่ตอนนี้หายไปครึ่งต่อครึ่ง หรือประมาณ 15,000 คน/วัน”

แพร่-เกาะช้างกร่อย

นายกำพล เจริญขจรกุล ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวว่า เกาะช้างเพิ่งฟื้นตัวจากโครงการไทยเที่ยวไทย และมาตรการ “คนละครึ่ง” วันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดยาวคึกคักมาก มีนักท่องเที่ยวจองที่พัก 60-70% แต่ทันทีที่มีข่าวโควิดระลอกใหม่ นักท่องเที่ยววิตกมาก บางรายขอยกเลิก ขอเลื่อนการจองออกไป

นางสิรินาถ ฉัตนศุภกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานแพร่ ดูแล จ.แพร่ และอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการที่พักรายใหญ่ใน จ.แพร่ ถูกยกเลิกจองห้องพักไปแล้ว 10% ตัวเลขคงเพิ่มขึ้นอีก เพราะความหวาดระแวงเหมือนโควิดระบาดรอบแรก

ส่วน จ.อุตรดิตถ์ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ทำให้กิจกรรมเฉลิมฉลองถูกยกเลิกล่าสุดทุกฝ่ายรอดูท่าที และตามติดมาตรการภาพรวมว่าจะเป็นไปทิศทางใด

หวั่นกำลังซื้อโค้งท้ายดับ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบในแง่เศรษฐกิจจากโควิดรอบใหม่น่าห่วง เพราะช่วงนี้เป็นไฮซีซั่นฤดูกาลใช้จ่าย และท่องเที่ยวของคนไทย จะมีผลทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์สุดท้ายพยุงเศรษฐกิจอยู่แย่ลงไปด้วย จากเดิมเครื่องยนต์อื่นดับหมดแล้ว ทั้งการลงทุน ท่องเที่ยว ส่งออก

เดิมหวังว่าช่วงปีใหม่ คนจะเที่ยวห้างสรรพสินค้า หรือกลับไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัด แต่คงไม่กล้าขยับไปไหนกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์แบบเดิม ๆ ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะมีนโยบายดูแลสถานการณ์แบบแรงขนาดไหน และระยะต่อไปภาคการผลิตจะกระทบแค่ไหน เนื่องจากเริ่มมีข่าวการปิดโรงงาน โดยเฉพาะเซ็กเตอร์อาหารทะเลต้องสร้างความเชื่อมั่นเหมือนที่ประเทศสิงคโปร์เคยทำ จะได้ไม่ลุกลามไปหลายเซ็กเตอร์

โควิดตัวแปรทำ ศก.ติดลบ

“ถ้าปิดเมืองแบบแรงจะกดดันเศรษฐกิจชะงักทั้งหมด แต่ถ้าไม่ปิดแรงแล้วเอาไม่อยู่ จะกระทบความเชื่อมั่น เหมือนช่วง มี.ค.-เม.ย. โจทย์ไม่ง่ายและท้าทาย ต้องหาวิธีที่จะประสบผลสำเร็จโดยมีผลกระทบข้างเคียงน้อยที่สุด ต้องพึ่งมาตรการสาธารณสุข”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบน่าจะมีต่อเศรษฐกิจปี 2564 มากกว่าปีนี้ ที่เหลือไม่กี่วัน ได้แต่หวังว่ากระทบระยะสั้นราว 3 เดือน แล้วควบคุมได้ และหากไทยได้วัคซีนมาใช้ช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 รวมถึงต่างประเทศมีวัคซีนป้องกันโรคด้วย จะช่วยให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ไตรมาส 4 ปีหน้า แต่หากปีหน้าไทยไม่ได้วัคซีน ต้องอยู่กับโควิดไปอีกทั้งปี ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจคงลำบาก

“เราประเมินว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโต 3.4% เพราะนักท่องเที่ยวอาจมาแค่ 6 ล้านคน น้อยกว่าปีนี้ด้วยซ้ำ และวัคซีนจะมาครึ่งปีหลัง แต่โอกาสผิดพลามีเยอะไปหมด เช่น หากวัคซีนไม่มาตามคาด ถ้านักท่องเที่ยวไม่มาทั้งปี หรือมีโควิดตลอดทั้งปีหน้า ก็อาจจะติดลบอีกปี”

จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เชื่อว่ารัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมทั้งมาตรการด้านการเงิน และการคลัง ขึ้นกับสถานการณ์ระบาดว่าคุมได้ระดับใด

“มาตรการคงต้องเป็นลักษณะให้คลังนำ แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยในด้าน financing อาจต้องเร่งนโยบายการเงินที่มั่นใจได้ว่า แบงก์จะไปปล่อยกู้เพิ่ม ซึ่งคลังก็ต้องเข้ามาค้ำประกันเพิ่มเติมให้แบงก์กล้าปล่อยกู้”

กระทบจับจ่าย-14 วันรอวัดดวง

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ต้องรอประเมินอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อดูว่าการติดเชื้อนอกพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รุนแรงเพียงใด มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแค่ไหน กระจายตัวอย่างไร

“ถ้าจำนวนเคสใหม่น้อย หรือไม่มากนัก แล้วส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่จุดแรกที่ระบาด มาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆก็ไม่ต้องมาก ผลกระทบไม่มาก แต่ถ้าจุดอื่น ๆ มีเคสเกิดขึ้นมากจะเป็นอีกอย่าง คือ มาตรการต้องกินพื้นที่มากขึ้น ผลกระทบจะมากขึ้นด้วย ดังนั้นต้องรอดู 10-14 วันข้างหน้าก่อน”

แต่ระยะสั้นจะกระทบการจับจ่ายช่วงปลายปี กิจกรรมเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่คงจะเงียบ หากผู้ติดเชื้อพุ่งเป็นหลักร้อยรายทุกวันก็น่าห่วง อาจล็อกดาวน์อีกซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจมาก อย่างไรก็ดี แต่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดี คาดว่า 2-3 เดือนนี้ ธุรกิจต่าง ๆ คงกลับมาดำเนินได้ตามปกติ

“รอบนี้แย่ตรงที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในช่วงฤดูการใช้จ่ายพอดี พ่อค้าแม่ค้าหวังจะขายของได้ช่วงนี้ แต่พอมาเจอเหตุการณ์นี้ก็ลำบาก”

สมาธนาคารไทยนัดถกด่วน

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาพที่เห็นขณะนี้คือหลายฝ่ายเตรียมความพร้อม ในส่วนของสมาคมธนาคารไทยได้เรียกประชุมด่วน เพื่อซักซ้อมความพร้อมเรื่องการขนเงินสด การดูแลความสะดวกผู้ที่ต้องการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นที่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

ส่วนข้อกังวลโควิดรอบนี้จะกระทบภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น มองว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ จุดที่เห็นคือการจับจ่ายใช้สอยช่วงปีใหม่ การจับจ่ายของผู้บริโภคจะชะลอ แต่ขณะนี้ภาครัฐมีการดูแลตอบโจทย์เฉพาะจุด มีกระบวนการและกลไกเดิมวางไว้อยู่แล้ว ต่างจากการระบาดครั้งแรก จึงมองว่ารอบนี้จะทำให้หลายเรื่องชะลอออกไป แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้หยุด แต่การตกท้องช้างของตัวยูจะยาวขึ้น

“ตอนนี้เรามีพื้นฐานโครงสร้างในการติดตามการแพร่เชื้อ รัฐรับมือได้เร็ว แต่การตกท้องช้างของตัวยูจะยาวขึ้น ก็หวังว่ารัฐจะควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว”

นายผยงกล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบนี้คืออุตสาหกรรมอาหารทะเล และผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง คือภาคการท่องเที่ยวที่จะยิ่งชะลอตัว โดยแม้ว่าจะยังมีผู้เดินทางอยู่ แต่จำนวนจะน้อยลง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบทำให้การหมุนวงล้อของระบบเศรษฐกิจยังหมุนเร่งขึ้นไม่ได้

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ ก็คงทำให้การฟื้นตัวแบบตัว U ตกท้องช้างไปอีก คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาสทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวนั้น ปัจจัยหลักจะอยู่ที่เรื่องวัคซีนที่จะมาแล้วคนเข้าถึงได้ ตรงนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ” นายผยงกล่าว

กระทบมู้ดลงทุนตลาดหุ้น

ด้านนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ผลกระทบกรณีสมุทรสาคร ธนาคารให้น้ำหนัก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยว 2.พัฒนาการทางการเมือง 3.ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประเมินว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.1% จากปีนี้หดตัว -7-8% แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ ขนาดไหน

สูญเสียเบื้องต้น 4.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด ราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน แยกเป็น 1.ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล 13,000 ล้านบาท จากการชะลอบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวอาจกระทบในขั้นตอนการตรวจสอบ และกระบวนการต่าง ๆ จากคู่ค้า

2.ความสูญเสียจากที่ประชาชนชะลอทำกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนใน กทม. มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

3.ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เม็ดเงินที่หายไป 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน กรณียังไม่ได้มีประกาศห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และอาจส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ อาทิ กระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่น ๆ ในตลาด จากที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

เพิ่มอำนาจ สธ.ประกาศฉุกเฉิน

ผู้สื่อข่าวรายงานในส่วนของมาตรการของภาครัฐ ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ธ.ค. 2563 ที่ประชุมได้พิจารณาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ และเห็นชอบให้เพิ่มอำนาจ รมว.สาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีระบาดรุนแรงกว้างขวาง ตามหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ให้มาตรการทางกฎหมายมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ

ชดเชยว่างงาน 5.7 ล้านคน

และเห็นชอบร่างกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. กำหนดให้กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้าง ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน

โดยกำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

คาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน วงเงินกว่า 5,225 ล้านบาท

ลดสมทบประกันสังคม 3 เดือน

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 3 เดือน บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ 1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบจากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2564

การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง จะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่องประมาณคนละ 460-900 บาท 3 เดือน มูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท และทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลงรวม 7,412 ล้านบาท ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม จะมีผลต่อเงินออมบำนาญของผู้ประกันตนลดลง 1,035 บาท และส่งผลต่อสถานะกองทุนประกันสังคม