โควิดถล่ม “ตลาดสัตว์น้ำ” ยับ สูญพันล้าน “ทียู” ตรวจคนงาน 2 หมื่นคน

Photo by AFP

โควิด-19 ถล่มตลาดทะเลไทย-แม่กลองหนัก ปิดตลาดเสียหายไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท ด้านสมาคมประมงเดือดร้อนส่งปลาขึ้นท่าลำบาก เหตุสะพานปลาหลักของประเทศถูกปิด เร่งป้องกันโควิดแพร่ในหมู่เรือประมง ส่วนยักษ์อาหารทะเล “ทียู” เร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศด้วยการประกาศตรวจโควิด-19 ให้กับแรงงานที่ทำงานในโรงงานมากกว่า 20,000 คน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในตลาดกุ้งทะเลไทย โดยมีตัวเลขแรงงานเมียนมาติดเชื้อทะลุ 1,000 คนในช่วงเวลาแค่ 3 วัน ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าสัตว์น้ำอย่างหนัก จากการปิดตลาดทะเลไทย ตลาดปลาสมุทรสาคร ตลาดปลาสหกรณ์ ประมงแม่กลอง ไปจนกระทั่งถึงหลังปีใหม่

ในขณะที่องค์การสะพานปลาก็ประกาศปิดสะพานปลาสมุทรสาครกับสะพานปลาสมุทรปราการ หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าสัตว์น้ำสะดุด

ปิด 2 ตลาดเสียหาย 1,000 ล้าน

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 233,071 คน มีโรงงานรวม 6,082 โรงงาน ในจำนวนนี้เป็นโรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร 731 แห่ง ปัจจุบันโรงงานหลายแห่งยังไม่ได้รับผลกระทบด้านการส่งออก มีเพียงผลกระทบจากการปิดตลาดทะเลไทย สร้างความเสียหายวันละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่การปิดตลาดค้าสัตว์น้ำจะส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลที่ปกตินำสินค้าสัตว์น้ำทั้งหมดมาส่งที่ตลาดทะเลไทย

ขณะที่นายสมพร สมุทรโสภากุล ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลองกล่าวภายหลังการประกาศปิดตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลองในวันนี้ว่า ในตลาดมีแพปลาประมาณ 10 แห่ง คนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาประมาณ 1,200 คน การปิดตลาดจะก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท/วันเช่นกัน

อนึ่ง 2 ตลาดที่ปิดไปแล้วน่าจะมีความเสียหายเกือบ 1,000 ล้านบาท

นายมณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) กล่าวว่า จำเป็นต้องปิดสะพานปลาสมุทรสาครและสะพานปลาสมุทรปราการ มีปริมาณสินค้าสัตว์น้ำที่ผ่านสะพานปลาสมุทรสาครเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3-4 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน (ล่าสุด เดือน ต.ค. 63 มีประมาณ 4,160,921 กิโลกรัม และเดือน พ.ย. 63 ประมาณ 3,807,780 กิโลกรัมส่วนสินค้าสัตว์น้ำเข้าสะพานปลาสมุทรปราการมีปริมาณเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านกิโลกรัม (เดือน พ.ย. 63 1,066,420 กิโลกรัม)

ป้องกันโควิดระบาดในเรือประมง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความกังวลของชาวประมงทั่วประเทศ ว่า สมาคมชาวประมงอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช ได้ทำหนังสือถึงจังหวัดขอให้ช่วยเหลือความเสียหายจากการขายสัตว์น้ำไม่ได้ไปจนถึงการทำแผนช่วยเหลือชาวประมงที่อาจจะต้องหยุดทำการประมงในอนาคต

ด้านสมาคมการประมงแสมสารได้แจ้งให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทำการคัดกรองแรงงาน หากเกิดกรณีที่จังหวัดสมุทรสาครประกาศล็อกดาวน์ขอให้ท่าเทียบเรือทุกท่างดการรับแจ้งเรือเข้า-ออกจากเรือประมงที่มาจากสมุทรสาคร ส่วนนายจ้างที่มีการรับแรงงานต่างด้าวจากสมุทรสาครต้องทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ ต.แสมสาร เพื่อเข้ารับการคัดกรองก่อนที่จะมีการเริ่มงานทันที

ส่วนที่สมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ได้มีการประชุมหามาตรการรับมือการแพร่ระบาดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดด้วยการออกมาตรการให้ผู้ประกอบการแยกส่วนของ “คนเรือ” ออกจากผู้รับซื้อปลา เช่นเดียวกับที่จังหวัดตราดก็ได้ใช้มาตรการนี้กับเรือที่มาจากสมุทรสาครเช่นกัน สมาคมประมงระยองร่วมกับโรงพยาบาลระยองได้ตกลงร่วมกันที่จะมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคและทำให้ระยองปลอดจากโควิด-19 ให้เป็นศูนย์

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเข้ามาว่า สมาคมมีความกังวลเกี่ยวกับการปิดสะพานปลาที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเรือประมงไม่สามารถส่งปลาขึ้นที่ท่าเทียบเรือได้

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ให้คลี่คลายภายใน 7-14 วัน “ถือว่าไม่น่าห่วง” แต่หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและกระจายออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ วงกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 1,500-2,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่กรณีที่แย่กว่า (worse case) นั้นคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัว 1.8%

“จังหวัดสมุทรสาครมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉลี่ยวันละ 1,000 ล้านบาท เป็นภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 70% ตอนนี้โรงงานยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ ผลิตสินค้าได้ตามออร์เดอร์อยู่”

ทียูตรวจคนงาน 2 หมื่นคน

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อจะตรวจพนักงานของเราทั้งหมด 2 หมื่นคน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในการทำงานและสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า

ทางทียูได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการวางมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดขยายวงเพิ่มเติม มองว่าน่าจะควบคุมการระบาดได้ใน 2 สัปดาห์

ในด้านการผลิตขณะนี้ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการผลิต ไม่เกิดปัญหาชอร์ตซัพพลาย เพราะยังเดินหน้าผลิตปกติในสมุทรสาครและสงขลา เพื่อส่งมอบตามออร์เดอร์ในเดือนสุดท้ายของปี

“หลังจากเกิดปัญหาก็มีลูกค้าสอบถามเข้ามา ทางบริษัทได้ให้ข้อมูลชี้แจงลูกค้าไปแล้ว ขอให้อย่ากังวล เพราะโควิดไม่ใช่โรคที่แพร่จากสัตว์สู่คน แต่เป็นคนสู่คนกรณีที่กังวลว่าจะปลอมปนไปกับแพ็กเกจจิ้งก็ไม่ต้องห่วง เพราะในระบบการผลิตมีความปลอดภัยสูง”

ฉุดออร์เดอร์กุ้งราคาดิ่ง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ตั้งแต่มีปัญหาโควิดทำให้ความต้องการนำเข้ากุ้งมีปริมาณลดลง 100,000-300,000 ตัน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมกันเชื่อมโยงหาตลาดจำหน่ายผลผลิต

นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคากุ้งแต่ละไซซ์มีราคาลดลง กก.ละ 40-50 บาท โดยการหารือกันครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งสามารถมีที่ระบายสินค้าออกไปได้

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขอให้เกษตรกรชะลอการจับกุ้งลง โดยคาดว่าจะมีกุ้งส่วนเกินอยู่ประมาณ 100 ตัน และมีปริมาณกุ้งที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมด 500-600 ตัน ซึ่งกรมจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาพื้นที่ตลาดกลางเชื่อมโยงกุ้งและสัตว์น้ำรวมถึงตลาดในห้างสรรพสินค้าและภัตตาคารด้วย