จบดีลควบรวม “CP-เทสโก้” 7-11/เฟรชมาร์ท/โลตัส แบรนด์เดิม

ซีพี ควบรวมเทสโก้

หลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมากมีมติ 4 ต่อ 3 ได้พิจารณาให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อ โดยเปิดให้รายงานผลการควบรวมต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันซึ่งบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า การลงทุนโดยอ้อมผ่านบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดนั้น ได้ดำเนินธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่18 ธันวาคม 2563

ขณะที่สิทธิยื่นร้องศาลปกครอง กรณีที่ไม่เห็นด้วยคำสั่ง กขค. มีระยะเวลา 60 วัน เพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 เท่ากับว่าการดำเนินการควบรวมสำเร็จลุล่วงไป

หลังจากนี้ ในวันที่ 27 มกราคม 2564 นี้ ทาง กขค.จะให้บริษัทผู้ยื่นคำร้องเข้ามารับทราบเงื่อนไขการดำเนินการทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.ห้ามรวมธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกเป็นเวลา 3 ปี ไม่รวมตลาดอีคอมเมิร์ซ

2.เพิ่มสัดส่วนยอดขายจากสินค้าเกษตรชุมชน เอสเอ็มอี หรือผลิตภัณฑ์ OTOP ในร้านค้าในเครือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10% เป็นเวลา 5 ปี

3.ห้ามใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ และให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

4.ห้ามให้เทสโก้ โลตัสเปลี่ยนแปลงสัญญากับซัพพลายเออร์สินค้าเป็นระยะเวลา 2 ปี

5.ให้สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการให้สินเชื่อการค้าเป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี

6.ให้จัดทำรายงานผลประกอบการธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กขค. กำหนดเป็นเวลา 3 ปี

7.ให้กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

เงื่อนไข 7 ข้อ ยากแต่ทำได้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แต่ละบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะพิจารณาเงื่อนไขของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เองผมพูดแทนบอร์ดไม่ได้ ทุกบริษัทต้องดูตามกระบวนการของแต่ละบริษัทที่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

“กับเงื่อนไข 7 ข้อของ กขค. โดยส่วนตัวคิดว่ามันก็ยากแต่ก็ทำได้ และยิ่งในสถานการณ์แบบนี้มันยากแต่ก็ถือว่าทำได้”

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์

จุดเริ่มต้น Synergy ธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่าการควบรวมเทสโก้-ซี.พี.อาจชนำไปสู่การ “synergy ธุรกิจค้าปลีกกลุ่ม ซี.พี.” หรือไม่ และโดยเฉพาะกลุ่ม “ค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็ก” ที่มีความทับซ้อนของตลาด เพราะหลังการควบรวมกลุ่ม ซี.พี.รีเทลฯ จะมีส่วนแบ่งตลาดเป็น 83.05% จากการรวมกันของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเดิมมีส่วนแบ่งตลาด 73.60% จำนวนสาขา 11,712 ร้าน บวกกับส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสมาเพิ่มอีก 9.45% มีจำนวน 1,595 สาขา ยังไม่นับรวมซีพี เฟรชมาร์ทของกลุ่มซีพีเอฟซึ่งมีอีก 300 สาขา

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ อัพเดตถึงความคืบหน้าการดำเนินการควบรวมธุรกิจหลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติให้ควบรวมธุรกิจได้แล้ว

ทางกลุ่มซีพีเอฟซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการควบรวมกิจการในครั้งนี้ โดยถือหุ้นสัดส่วน 20% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทนั้นได้ชำระเงินค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนโยบายการดำเนินการต่าง ๆ ของแต่ละบริษัทยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการใช้ชื่อโลโก้ทั้งเทสโก้ โลตัส เซเว่น อีเลฟเว่น และร้านซีพี เฟรชมาร์ทของเครือซีพีเอฟยังคงเดิม

ก่อนหน้านี้กลุ่ม ซี.พี.ยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือซัพพลายเออร์ทุกรายโดยการจ่ายเงินด้วยระยะเวลาเครดิตเทอม 30 วัน ให้ได้ 100%

ส่วนการคัดเลือกสินค้าและจัดหาซัพพลายเออร์นั้นทางซี.พี.มีนโยบายสร้างความหลากหลาย โดยยังคงจัดหาสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นวางขายในห้างค้าปลีกของกลุ่ม เพราะเป้าหมายค้าปลีกคือต้องสร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้

“ที่มองว่าดีลนี้จะทำให้เราขายได้มากขึ้นหรือไม่ ขอบอกว่าเราขายได้เยอะอยู่แล้วในเทสโก้ มีส่วนแบ่งสินค้าไส้กรอกถึง 70% ตอนที่ยังไม่ต้องควบรวม แต่แน่นอนว่าการดำเนินการต่าง ๆ ย่อมสะดวกมากขึ้นอยู่แล้วหลังควบรวม”

เซตตำแหน่ง แยกบริหาร

ต่อประเด็น “การทับซ้อน” สาขาเทสโก้ โลตัส ซีพี เฟรชมาร์ท และเซเว่นอีเลฟเว่นที่อยู่ในโซนพื้นที่เดียวกันนั้น เขาอธิบายว่า ร้านแต่ละแบรนด์มีเป้าหมายทำตลาดสินค้าคนละแบบต่างคนต่างทำ เช่น เซเว่นฯยังใช้เซเว่นฯ

“เราพยายามให้ต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ไม่งั้นมันจะดูพลิเคตอินเวสต์เมนต์ (duplicate investment) จึงใช้ของใครของมันเหมือนเดิม โพซิชั่นของร้านต่างกัน เซเว่นฯก็เน้น B2C เป็นหลัก ส่วนเราก็อาจจะเน้นของสดเป็นหลัก มีโพซิชันนิ่งเป็นครัวของบ้าน”

ส่วนแนวทางดำเนินการของซีพี เฟรชมาร์ทในวันนี้ ร้านซีพี เฟรชมาร์ทเปลี่ยนไปมาก โดยยังคงเหลือสินค้าหลัก คือ อาหารสด สินค้าแปรรูป หมู ผัก ซึ่งมียอดขายดีขึ้นมาก

โดยบริษัทได้พัฒนา “ตู้เก็บความเย็นแบบชิล” เพราะเดิมตู้แช่จะทำให้เนื้อแข็งไม่ชิล ก็เลยลงทุนพัฒนาเครื่องเองเป็นชิลให้อากาศถ่ายเท ปกติแอร์ที่โฟลว์ตู้บ้านเราเป็นแอร์ที่โฟลว์ขาเดียว มันไม่โฟลว์สองขา ปัจจุบันได้ลงตู้รุ่นใหม่เกือบครบทุกสาขา จุดดีคือ คนอยากเห็นอยากเลือก

เสียงสะท้อนซัพพลายเออร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์มุมมองของซัพพลายเออร์ ซึ่งจะต้องร่วมลงสนามกับค้าปลีก เช่น “คิวเฟรช” Q Fresh บริษัทลูกไทยยูเนี่ยน หรือทียู ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าอาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่เยือกแข็ง เข้าไปขายในร้านค้าปลีกกลุ่ม ซี.พี.ด้วย

นายธนโชติ บุญมีโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด คิวเฟรช (Q Fresh) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผมคิดว่าหลายคนกลัวการควบรวมในแง่ที่ว่าจะผูกขาดหรือไม่ แต่ในแง่การปฏิบัติการ (โอเปอเรชั่น) แต่ละบริษัทมีนโยบายของตัวเอง ซึ่งเขาต้องกระจายความเสี่ยงในการซื้อสินค้า “ไม่มีใครเอาไข่ไปวางไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะจัดซื้อทุกองค์กรมีเคพีไอ มียอด มีเป้า ต้องทำให้ได้ราคา ปริมาณ ความเสี่ยง ก็ต้องกระจายอยู่แล้ว

ธนโชติ บุญมีโชติ
ธนโชติ บุญมีโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด คิวเฟรช (Q Fresh)

“ยกตัวอย่างเช่น บริษัทชิคเก้น ออฟ เดอะ ซีฯของเรา ที่ทำธุรกิจในสหรัฐก็ไม่ได้ซื้อกุ้งจากเราคนเดียว 100% เพราะเราบอกว่าที่ไหนถูกที่สุดก็ให้เขาซื้อตรงนั้น บางช่วงเวลาก็ซื้อจากไทย บางช่วงก็ซื้อกุ้งอินเดียหรือเวียดนาม เพื่อที่จะให้ผลประกอบการดีที่สุด ไม่ได้ไบแอส ผมว่ามันก็ดี โปร่งใส บริษัทเขาก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในแง่เชิงนโยบายต้องเปิดโปร่งใส ฉะนั้น ในแง่ธุรกิจของเรากับแม็คโคร-เทสโก้ก็ยังดีอยู่ ตอนนี้สัดส่วนโดเมสติก 30% โดยเทสโก้-แม็คโครสัดส่วน 1 ส่วน 3 ของยอดขายในประเทศ แต่ยอดขายที่เหลือทั้งหมดยังเป็นชิกเก้นในอเมริกา”

ขณะที่ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) TFMAMA เจ้าตลาดเบอร์ 1 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยแบรนด์มาม่า ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด 48-50% ระบุว่า ผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจนี้ เมื่อมองจากข้างนอกเห็นว่าเขาจะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น เสมือนกับคุมทุกช่องทาง ก็มีความเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ทว่าตั้งแต่ควบรวมจนถึงปัจจุบันนี้การทำดีลของบริษัทแต่ละห้างในกลุ่มยังมี “เอกเทศ” ต่อกัน ไม่มีการรวมกันต่อรอง

“จริงอยู่ที่คนอาจจะมองว่าเราเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง ไม่กระทบ หากเทียบกับซัพพลายเออร์เล็ก ๆ แต่ก็ห่วงอยู่ลึก ๆ อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อว่าคณะกรรมการก็คงมีข้อมูลสำหรับการพิจารณาที่รอบด้านอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม จากคำยืนยันของบิ๊กซัพพลายเออร์อาจยังการันตีไม่ได้ว่าทิศทางค้าปลีกในสังเวียนใหม่หลังควบรวมจะเป็นอย่างไร จากนี้ยังต้องติดตามเพราะยังเหลือ “ผู้บริโภค”อีกมุมที่จะเป็นตัวชี้วัด