พริกแพง เม็ดละ 1 บาท ร้านส้มตำ-ยำ ขอขึ้นราคาเมนูละ 5-10 บาท

จากกรณีมีประชาชนในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมาร้องเรียนว่า พริกขี้หนูในตลาดสดมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากภาคใต้ถูกน้ำท่วมหนัก เกษตรกรปลูกพริกส่งขายไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อราคาพริกขี้หนูในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ 27 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับร้องเรียนจากพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกง ร้านส้มตำ และร้านยำในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลว่า ราคาพริกสดปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะพริกขี้หนูแดง ล่าสุดอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 200-250 บาท จากปกติ กก. 120-150 บาท

ส่งผลให้ร้านอาหารเริ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะร้านขายยำ และส้มตำที่ใช้พริกเป็นวัตถุดิบจำนวนมาก ขณะที่ตลาดซบเซา ประชาชนไม่ค่อยออกมาจับจ่าย จากการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หากราคาพริกยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการสอบถามพ่อค้าขายพริกและผักสดในตลาดพบว่า ราคาพริกขยับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแห่ง โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้ชาวสวนไม่สามารถปลูกพริกได้ อีกทั้งผลผลิตบางส่วนถูกน้ำท่วมเสียหาย

ประกอบกับ มีพ่อค้าส่งบางส่วนฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขาย นอกจากนี้ ยังพบว่า ใน จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาพริกขี้หนูในตลาดสดแพงขึ้นมาก เนื่องจากผลผลิตลดลงจนของขาดตลาด ส่งผลให้ราคาพริกขี้หนูในภาคตะวันออก เฉียงเหนือแพงขึ้น โดยเฉพาะใน อ.พิมาย ขายเม็ดละ 1 บาท

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาพริกสดปรับเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หลังจากพื้นที่เพาะปลูกพริกในหลายจังหวัดประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะช่วงปลายปีเกิดอากาศหนาวเย็นนานหลายวัน ทำให้พริกไม่ออกดอก อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกพริกในภาคใต้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดยราคาพริกเริ่มทรงตัวและปรับลดลงหลังผลผลิตเริ่มออกมามากกว่าเดิม แต่กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามดูสถานการณ์ผลผลิต และราคาพริกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

ส่วนกรณีมีข่าวพื้นที่ภาคอีสาน และ จังหวัดนครราชสีมา มีการขายพริกขี้หนูเม็ดละ 1 บาท ได้ให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบแล้ว โดยกรมจะเชื่อมโยงผลผลิตจากตลาดไท เข้าไปจำหน่ายในพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ด้วย

จัดส่งเจ้าหน้าที่ติดตามพริกเม็ดละ 1 บาท

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่กระแสข่าวที่พริกราคาปรับสูงขึ้นในอาเภอพิมายว่า กรมฯได้จัดส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในลงพื้นที่ติดตามถึงกระแสดังกล่าวแล้ว โดยพริกที่ปรับขึ้นเป็นพริกชี้ฟ้า พริกตกแต่ง ประกอบกับอากาศช่วงนี้หนาวทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยแต่เชื่อว่าคงเป็นระยะสั้นเท่านั้น รวมทั้งปัญหาเรื่องของการขนส่งอาจจะล่าช้าบ้างทำให้พริกขาดช่วง ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกพริกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เป็นต้น

นอกจากจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามดูแลเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสของพ่อค้า-แม่ค้า ในการปรับขึ้นราคา กรมฯยังจะช่วยเหลือในการเชื่อมโยงแหล่งผลิตไปยังตลาดสดเพื่อให้พริกกระจายสู่ถึงผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น สถานการณ์น่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว อย่างไรก็ดี จากการรายงานเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีปัญหาแต่กรมฯก็จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือนร้อน รวมไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกด้วย

“ยังไม่มีการเรียกหารือแต่กรมฯก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิด ป้องกันการฉวยโอกาส แต่เชื่อว่าปัญหาน่าจะระยะสั้น น่าจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วนี้”

ด้านนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวออกมาว่าพริกขี้หนูในตลาดสดพิมายราคาพุ่งสูงราคาเม็ดละ 1 บาทนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วไม่เป็นความจริง ไม่มีร้านค้าใดจำหน่ายพริกในลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างอย่างละเอียดแล้ว

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาพริกขี้หนูลูกผสมซุปเปอร์ฮอต ซึ่งเป็นพริกที่ประชาชนนิยมใช้ในการประกอบอาหารพบว่า ราคามีการปรับขึ้นลงตามภาวะตลาดโดยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาถึงต้นเดือนมกราคม 2564 นี้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 160-170 บาทต่อกก. เพราะเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองทำให้การขนส่งสินค้าชะงักลงไปบ้าง บวกกับมีอากาศหนาวเย็นทำให้พริกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ผลผลิตน้อยกว่าปกติส่งผลให้ราคาสูงขึ้น แต่จากนั้นไม่นานราคาก็ลดลงอยู่ในภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม 2564 นี้เมื่ออากาศร้อนขึ้น พริกก็จะออกมามากเป็นปกติ ซึ่งถือว่าเป็นวัฎจักรของสินค้าเกษตรทุกชนิดที่จะมีราคาปรับขึ้นลง แต่การที่ต้องขายพริกแบบนับเม็ดนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งตลาดสุรนารี ตลาดย่าโม ตลาดประตูผี และตลาดค้าปลีกอื่นๆ ในจังหวัด รวมทั้งในตลาดสดพิมายก็ไม่พบการขายในลักษณะดังกล่าว

ฉวยโอกาสขึ้นราคา มีโทษทั้งจำและปรับ

สำหรับพริกขี้หนูไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่หากประชาชนพบการขายที่เอาเปรียบประชาชนก็สามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหากพบการกระทำผิดผู้กระทำผิดก็จะได้รับโทษ อย่างไรก็ตาม หากพบร้านค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000บาท

จากการรายงานราคาสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน พบว่า ราคาพริกขี้หนู (จินดา) วันที่ 26 มกราคม 2564 กิโลกรัมละ 15-18 บาท พริกสดชี้ฟ้า

พริกแพง แหล่งใหญ่น้ำท่วม

เว็บไซด์ข่าวสด รายงานว่า นางศิวพร คงสัตย์ อายุ 73 ปี แม่ค้าชาวอำเภอพิมาย เปิดเผยว่า ราคาพริกที่แพงขึ้นจะเป็นพริกแดง ไม่ใช่พริกขี้หนู ซึ่งเริ่มแพงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งที่ร้านจะซื้อพริกมาหลายชนิดจากตลาดสดในพื้นที่ ทั้งพริกขี้หนู พริกแดง พริกเขียว และพริกใหญ่ ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน โดยพริกแดงราคาขายจะดูที่ขนาด ถ้าเม็ดสั้นขนาด 2-3 ซ.ม. จะขาย 24 เม็ด ในราคา 10 บาท แต่ถ้ายาวขึ้นมาอีก จะขาย 8 เม็ด ราคา 5 บาท และถ้ายาวเพิ่มขึ้นอีก 5-6 เม็ด จะขายอยู่ที่ 5 บาท หรือเฉลี่ยราคาเกือบเม็ดละ 1 บาทเลยทีเดียว

นางศิวพรกล่าว่า ส่วนพริกเขียว หรือพริกแดงที่ยังดิบ 18-19 เม็ด จะขายราคา 5 บาท สาเหตุที่ราคาพริกแดงแพง น่าจะมาจากภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกแดงแหล่งใหญ่ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย เพาะปลูกไม่ได้ พริกแดงจึงขาดตลาด พ่อค้าแม่ค้าคนกลางและในตลาด จึงฉวยโอกาส มาแบ่งพริกส่งขายเป็นทอดๆ เพื่อเอากำไร ทำให้ลูกค้าเมื่อซื้อในราคาเดิม แต่จะได้พริกในปริมาณที่ลดลง

ที่ตลาดย่าโม ตลาดสดเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมือง นครราชสีมา ‘เจ๊เปิ้ล’ ผักสด อายุ 40 ปี เปิดเผยว่า ทางร้านขายพริกขี้หนูสวนราคากิโลกรัมละ 240 บาท พริกแดงก.ก.ละ 180 บาท ยังไม่พบราคาพริกเม็ดละ 1 บาท แต่ราคาพริกแพงในขณะนี้เป็นเรื่องปกติ โดยมีการปรับราคามาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยรวมทั้งสถานการณ์โรคติดต่อ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขนส่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขอให้เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ พริกหรือผักผลไม้ต่างๆ มีต้นทุนในการผลิตเช่นเดียวกับเหล้าหรือบุหรี่แต่ทำไมเมื่อมีพริกขึ้นราคาเหมือนๆ กันทำไมต้องโยนผิดบาปให้พ่อค้าคนกลางตลอด ขอยืนยันไม่เคยขายเกินราคาที่หน่วยงานกำหนดอย่างแน่นอน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สาเหตุที่พริกขี้หนูพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและหนาวนาน ทำให้พริกออกดอกน้อย ผลผลิตจึงลดลงกว่าปกติ

และอีกสาเหตุคือกระทบจากการปิดด่านพม่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าพริกได้ ปริมาณพริกในประเทศจึงไม่เพียงพอ ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาของปี 2563-2564 จะสูงกว่าปี 2562

น.ส.จิราภา จอมไธสง ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับและพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงนี้เกษตรกรผู้ปลูกพริกจะขายพริกได้ราคาดี เพราะเป็นช่วงแล้ง และเป็นรอยต่อของผลผลิตในแต่ละพื้นที่

โดยผลผลิตช่วงปลายมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ของแต่ละปี พริกจะมีราคาแพง เพราะพริกในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา จะหมดหรือเป็นช่วงปลายฤดูที่พริกจะไม่เหลือผลผลิตให้เก็บแล้ว แต่จะเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณสัปดาห์ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีพริกในจังหวัดอุบลราชานี และศรีสะเกษออกมา และราคาพริกจะลดลง