สธ.ชู “กัญชง” พืชเศรษฐกิจ แผนปลูกเกษตรยังไร้ทิศ

กัญชา

เอกชนเตรียมพร้อมลุยตลาด “กัญชง” แปรรูปเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจใหม่ พาณิชย์เผยปี’63 เห็นสัญญาณมีเอกชนซุ่มขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจแล้ว เกษตรเคว้งยังไร้แผนสภาเกษตรฯทำหนังสือยื่น 3 ข้อเสนอ ถึงบิ๊กตู่-รมว.สาธารณสุขจี้แนวปฏิบัติไม่ชัดเจน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงปลดล็อกกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องจัดเป็นยาเสพติด โดยกำหนดให้ผู้ที่จะปลูกต้องยื่นขออนุญาตกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในการผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (hemp)

เพื่อเปิดกว้างให้รัฐ เอกชน หรือประชาชน สามารถขอนำกัญชงไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ทั้งการแพทย์ การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจเข้ามายื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจใหม่ โดยนำเอาพืชมาใช้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งพืชล้มลุกและพืชยืนต้นที่เข้ามายื่นขอ โดยในปี 2563 มีจำนวนผู้ประกอบการเข้ามายื่นคำขอ 21 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 56 ล้านบาท ล่าสุดเดือนมกราคม 2564 มีผู้ประกอบการ
เข้ามายื่นขอ 3 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้ามายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ซึ่งพืชที่ปลูกใช้ในการผลิตเครื่องเทศ เครื่องหอม และยารักษาโรค เช่น ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศและกระวาน โดยมีกัญชา-กัญชงรวมอยู่ด้วย

“การปลูกพืชเสพติด (ยกเว้นยาสูบ) เช่น กัญชา ฝิ่น กระท่อม การปลูกพืชชนิดนี้จะใช้ในการผลิตน้ำหอม ใช้ในทางเภสัชภัณฑ์ หรือใช้ในการป้องกันแมลงและกำจัดเชื้อรา หรือวัตถุประสงค์ที่
คล้ายกัน และสมุนไพร

ดังนั้น การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จึงไม่สามารถจำแนกได้ว่าผู้ประกอบการที่ยื่นเข้ามาขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ว่าใช้กัญชาหรือกัญชงในการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมพืชที่ปลูกหลายชนิดเพื่อผลิตเป็นเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค เป็นต้น อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ที่ขอก็มีการยื่นเข้ามา เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น ในปัจจุบันเอกชนสนใจที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในกลุ่มพืชเพื่อผลิต เครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค ในปี 2563 21 ราย มูลค่า 56 ล้าน โดยมีพืชนี้ร่วมด้วย”

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้ว่ากัญชา-กัญชงถูกถอดออกจากบัญชี และมีนโยบายส่งเสริมชัดเจน ซึ่งเป็นตามที่สภาเกษตรกรฯผลักดันมาหลายปี แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังคงไม่ชัดเจน

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาพืชกัญชง/กัญชา และสมุนไพรไทยทางการแพทย์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขยายนโยบายการส่งเสริมให้ผู้ป่วยปลูก 6 ต้นของตนเองจากเดิมที่นำร่องใน จ.บุรีรัมย์ เพียงจังหวัดเดียว ขอให้ขยายครอบคลุมทั้งประเทศ

โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตสามารถสั่งจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้แก่ผู้ป่วยปลูกเพื่อรักษาตนเองภายใต้การดูแลของแพทย์ และให้มี อสม.ช่วยตรวจสอบติดตาม พร้อมทั้งขอให้ยกเลิกความผิดทางอาญาสําหรับผู้ป่วย (decriminalization) แบบอเมริกาประกาศใช้สําหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วย

2.นโยบายการศึกษาวิจัยเชิงเศรษฐกิจจากพืชสมุนไพรในมหภาค (รวมถึงสมุนไพรกัญชาและกัญชง) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในการพัฒนาการแพทย์ทางเลือก และยังสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษกิจจากสมุนไพร และระดมผู้รู้ และสถาบันการศึกษา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับเศรษฐกิจด้วยสมุนไพรไทยเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก ภายใน 6 เดือน

และ 3.นโยบายประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกัญชาทางการแพทย์ ตามตํารับแพทยศาสตร์สงเคราะห์ และแพทย์แผนไทย และโครงการอาหาร/เครื่องดื่มเป็นยา โดยเฉพาะสูตรต้าน COVID-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทั้งยังช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งยังส่งเสริมโครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในชุมชนที่ใช้สมุนไพรนี้เพื่อรักษาผู้ป่วย เพื่อกระจายรายได้ด้วย

“ผมเชื่อว่าอนาคตอันใกล้จะเกิดผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากสมุนไพรกัญชาและกัญชงมากมาย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานรากได้มหาศาล และยังเชื่ออีกว่าสมุนไพรกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของเราเอง จะสามารถเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศนี้ให้หลุดพ้นวิกฤตการณ์โควิคในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน”

รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่บทบาทของกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หรือกัญชาเสรีในปัจจุบัน “ยังไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนแนวความคิดใด” มีเพียงการมอบให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาและวิจัยพันธุ์ของกัญชาที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทย และในแต่ละพันธุ์มีสารเสพติด หรือสารที่ใช้ในการแพทย์มากน้อยเพียงใด และการขับเคลื่อนนโยบายในส่วนของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ลงพื้นที่ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาพืชชนิดนี้ ประมาณ 100 ไร่ เมื่อปีก่อน

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าการส่งเสริมพืชชนิดนี้ต้องเป็นไปตามการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนต้นน้ำ กระทรวงเกษตรฯมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และกรมวิชาการเกษตรที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์เฮมป์ ภายในพื้นที่ควบคุมพร้อมส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากว่า 10 ปี พร้อมจะสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจตามกฎหมาย