อายัดเนื้อโคผิดกฎหมาย 7,000 กก. ส่งห้องแล็บตรวจหาสารอันตราย

แฟ้มภาพ

กรมปศุสัตว์อายัดเนื้อโคผิดกฎหมาย 7,000 กก. ที่ขอนแก่น ส่งห้องแล็บตรวจหาสารอันตราย

วันที่ 17 ก.พ. 2564 มติชนรายงานว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่า มีการนำเนื้อที่มีรหัสพันธุกรรม หรือ DNA กระบือ มาจำหน่ายเป็นเนื้อโคที่ห้างแม็คโคร สาขาชัยภูมิ

จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไทภายใต้การอำนวยการ ของนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ นำโดย นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุด นายปิยพงษ์ มิ่งสกุล นายยศวีร์ ราเชนอรรถวิชญ์ และนางวัลย์ลยา ศรีบุรินทร์

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ 2564 ที่ผ่านมา ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ด่านกักกันสัตว์ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขยายผลเข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบบริษัทดังกล่าวมี นายเอ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ประกอบกิจการธุรกิจจำหน่ายเนื้อโคนำเข้าจากต่างประเทศรายใหญ่ในภาคอีสาน พร้อมส่งขายห้างดังทั่วประเทศ

โดยจากการตรวจสอบพื้นที่ภายในบริษัท พบมีห้องเย็นที่ใช้ในการจัดเก็บเนื้อแช่เเข็ง จำนวน 5 ห้อง มีสินค้าเนื้อสัตว์จัดเก็บกว่า 140 ตัน และพบในห้องเก็บของมีการจัดเก็บสารฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮรโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โซเดียมอิริโทรเบต และสารมิกส์ฟอสเฟส สงสัยว่าจะมีการใช้สารในการฟอกเครื่องใน

อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนเนื้อ ประกอบด้วยชิ้นส่วนโค และเครื่องในโค ที่นำเข้า จากประเทศอุรุกวัย อาเจนติน่า บราซิล และประเทศอินเดีย แต่ไม่พบเอกสารแหล่งที่มา ไม่พบเอกสารการเคลื่อนย้าย รวมถึงไม่พบเอกสารรับรองให้จำหน่าย และสินค้าไม่พบตราประทับ DLD approve จำนวน 14 รายการ

“เจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดเนื้อโคนำเข้ากว่า 7,000 กิโลกรัม และทำบันทึกไว้ให้นำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วัน พร้อมกันนี้ได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ใช้แช่ เนื้อสไบนาง จำนวน 4 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อโคและเครื่องในที่อายัดไว้ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหา DNA กระบือ และจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย สารเร่งเนื้อแดง ยา และสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเลือกซื้อเครื่องในสัตว์เพื่อการบริโภาคขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ผลิตมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีมาตรฐานและคุณภาพที่เชื่อถือได้

โดยสามารถสังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ของกรมปศุสัตว์ เพราะหากผู้ประกอบการมีการใช้สารเคมีต่าง ๆ ในการฟอกเครื่องใน ไม่ว่า ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮรโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โซเดียมอิริโทรเบต และสารมิกส์ฟอสเฟส และอื่นๆ ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก ดังนั้นกรมปศุสัตว์ จึงขอแนะนำว่า ควรต้องมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนการเลือกซื้อทุกครั้ง