ไฟเขียว พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหากำไร ขึ้นทะเบียน NGO

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาของชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้

“ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”

สาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งขององค์การภาคประชาสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ งบประมาณ มีรายละเอียด ดังนี้

1.กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมกรรมผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 7 คน โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงาน ให้คำปรึกษา จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน

2.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว และรับจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม

น.ส.รัชดากล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน (NGO) ในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการจดทะเบียนถูกต้องเพียง 87 องค์กร ทำให้การกำกับดูแลของรัฐไม่ทั่วถึง และมีหลายองค์กรที่อ้างว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น เพื่อกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีได้ทำการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีสาระสำคัญที่คล้ายกัน คือ มุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรฯ และเสนอต่อ ครม. ซึ่งได้รับการเห็นชอบในวันนี้

น.ส.รัชดากล่าวว่า โดยเป็นการเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ต้องดำเนินการ ดังนี้

1.ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง 2.ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สิน ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี 3.ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ

4.กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด

“ทั้งนี้ ครม. มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทยนำหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและส่งผลดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป และขอยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหารายได้ฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาประเทศและสาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพขององค์กรแต่อย่างใด”