“เอ็นซี โคโคนัท” ชูกลยุทธ์การตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมจ่อจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ใหม่เจ้าแรกใน “จีน” มั่นใจดันยอดส่งออกปี’64 พุ่ง 30% พร้อมยกเครื่อง “นวัตกรรม” ดูแลคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานสินค้า GI มะพร้าวนํ้าหอมราชบุรี
นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 30%
ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เติบโตอย่างมาก โดยในแต่ละปีบริษัทมีการส่งออกมากถึง 370 ล้านลูก หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท
“การส่งออกค่อนข้างไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 มากนัก เนื่องจากต่างชาตินิยมชื่นชอบมะพร้าวน้ำหอมไทย โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก คือ จีน เป็นตลาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง
และยังมีความต้องการมะพร้าวสูง โดยเฉพาะมะพร้าวผลสดซึ่งมีกลิ่นหอม ในปีนี้บริษัทจึงมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดไปจีนให้มากขึ้น จาก 50% เป็น 70% ของการส่งออกทั้งหมด
เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวไทยได้ จึงเป็นโอกาสการขยายตลาดสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เกิดกระแสการไลฟ์สดขายสินค้า ทั้งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชั่น TikTok ทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง ปีนี้บริษัทจึงเพิ่มกลยุทธ์การขายผ่านออนไลน์ที่หลากหลายมากขึ้น”
ล่าสุดบริษัทพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ ซึ่งบริษัทคิดค้น วิจัยเอง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบรับประทานมะพร้าวน้ำหอมผลสด และได้จดสิทธิบัตรแล้วในประเทศไทย และอยู่ระหว่างยื่นที่ประเทศจีนเป็นรายแรกอีกด้วย
ส่วนตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเคยมองไทยว่าใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว ขณะนี้ได้มีการชี้แจงจนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า อุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมของไทยไม่ได้มีการใช้แรงงานลิง และยิ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อตอกย้ำความมั่นใจในสินค้าเกษตรไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี
โดยการสนับสนุนภาครัฐถือว่าช่วยผู้ประกอบการได้มาก เพราะบางสินค้าของทางบริษัทได้รับงบฯวิจัย พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปสินค้า
ทั้งนี้ เอ็นซี โคโคนัท มีพื้นที่ปลูก 5,000 ไร่ มีกำลังผลิตราว 2 ล้านลูก/เดือน หรือประมาณ 60,000 ลูกต่อวัน ทั้งผลสดและเพื่อนำไปแปรรูปเป็น 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ วุ้นมะพร้าวนํ้าหอมขายสดให้โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย สำหรับเจียส่งออกให้เหลือแต่กะลามะพร้าว
รวมถึงแปรรูปเป็นนํ้าและเนื้อแช่แข็งส่งออก เน้นการส่งออกเป็นหลัก 90% โดยส่งไปยังกลุ่มประเทศสหรัฐ จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมะพร้าวน้ำหอมแบบควั่น ส่วนที่เหลือขายในประเทศ 10% ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และศูนย์การค้าชั้นนำ
พร้อมกันนี้ บริษัทจะเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ยกระดับการผลิต เริ่มจากการเพาะพันธุ์เพื่อให้ขยายได้พันธุ์ดี และการปรับปรุงไลน์การผลิตในโรงงาน เพื่อลดความเสียหายของปริมาณมะพร้าว
และเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และการปรับแพ็กเกจจิ้ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารับรู้ในฐานะที่เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) มะพร้าวนํ้าหอมราชบุรี ซึ่งทางบริษัทเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกตามมาตรฐานระบบนี้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
“การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในในทุกขั้นตอนทั้งการปลูก เครื่องจักรโรงงาน เพื่อร่นระยะเวลาและเพื่อความรวดเร็ว ลดต้นทุนด้วย”