ปตท.ปั้น “อินโนบิก” (เอเซีย) รุก 4 ธุรกิจใหม่ Life Science

บุรณิน รัตนสมบัติ
บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ในงานสัมมนาวัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “นายบุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Thailand New S-curve”

โดยเปรียบเทียบว่าหากอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจเปรียบเสมือนชีพจรของประเทศ เราจะพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ชีพจรไทยตุ๊ม ๆ ต้อม ๆ ครั้งแรกปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ฐานการผลิต การค้าส่วนใหญ่หยุดชะงัก คล้ายกับโควิด-19 ในขณะนี้ แต่เราก็ผ่านมาได้ด้วยความมั่นใจ มีการฟื้นอุปสงค์ในประเทศ และนั่นทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำแผนฉุกเฉิน หรือ BCM

ไทยเติบโตมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาศัยความโชคดีว่าเศรษฐกิจในเอเชียเติบโต กระทั่งไทยมีการท่องเที่ยวมาเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนสร้างรายได้หลักมาถึงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เอฟเฟ็กต์ทั้งปี 2020 นักท่องเที่ยวเดินทางไม่ได้ รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป จึงติดลบมากที่สุดในอาเซียน

“แม้ว่าเราเริ่มมีความหวังปี 2021 จากการค้นพบวัคซีน แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ ความหวังเรื่องวัคซีนคงไม่พอทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ในมุมของผมเราต้องไม่ใช่แค่มีความหวัง แต่ต้องเสริมความกล้าหาญ กล้าเอาตัวเองไปสู่สถานการณ์กล้าหาญ เหมือนคนกำลังจะฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายต้องกล้า กล้าหาญ คือ กล้าคิดนอกกรอบ ปฏิรูปเศรษฐกิจ คิดปฏิรูปบริษัท new business ทุกบริษัทต้องร่วมกันสร้างสรรค์ คืนกลับสู่สังคม นี่จะเป็น new beginning ประเทศไทย ในปี 2021”

นายบุรณินมองว่า เทรนด์ปี 2021 จะเป็นปีแห่งความหวังที่จะเห็นภาพเศรษฐกิจใหม่ global economy การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเต็มรูปแบบ หากธุรกิจเดิมยังใช้แรงงานขั้นต่ำอาจไม่เท่าทันโลกยุคอนาคต ดีมานด์-ซัพพลายในโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงทั้งหมด การคิด บริหารจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต่างต้องปรับเปลี่ยนการบริหารให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น ทั้งวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่สำคัญต่อไปแต่ละบริษัทไม่ได้ทำเพียงเพื่อผลประกอบการ ผู้ถือหุ้น แต่ต้องสร้างความสมดุลเพื่อประเทศและสังคมด้วย

ปตท.ปรับพอร์ตธุรกิจ

ในปีที่ผ่านมากลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ปรับพอร์ตโฟลิโอ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจเก่าดั้งเดิม กลุ่มธุรกิจปัจจุบัน และกลุ่มธุรกิจอนาคต กล่าวคือ

กลุ่มธุรกิจเก่า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทมานาน ต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพ (productivity) ลดต้นทุน กลุ่มธุรกิจปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง พลังงานทดแทน และสินค้าที่ได้จากนำกลับมาใช้ใหม่ (upcycling product) ตามแนวทาง curcular economy และธุรกิจใหม่ จะมุ่งพัฒนาต่อยอดไปสู่สินค้า แอดวานซ์แมทีเรียล หรือวัสดุขั้นสูงคุณภาพ ทนความร้อน น้ำหนักเบา การต่อยอดสู่ธุรกิจ life science ธุรกิจ mobility and lifestyle และ e-Logistic การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ นี่คือธุรกิจใหม่ที่ ปตท.คิดและอนุมัติให้ดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นอินโนบิก

วิสัยทัศน์ของ ปตท.ในการก้าวสู่ “ธุรกิจใหม่” จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (opportunity) และเป็นการแก้จุดบกพร่อง หรือ pain point ของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนทราบประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (ageing society) และมีปัญหาเรื่องมลพิษ PM 2.5 ซึ่งจะมีต่อต้นทุนการดูแลสุขภาพในอนาคตสูงขึ้น

นำมาสู่ธุรกิจใหม่ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต” หรือ life science โดยได้ตั้ง “บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด” มาจาก innovation บวก bioscience เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S-curve

“ปตท.จะเป็นพันธมิตรกับทุกคนสร้างระบบนิเวศ หรือ ecosystem ของวิทยาการการแพทย์นี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศ ปัจจุบันไทยผลิตได้เพียงยาสามัญแต่ต้องนำเข้ายาที่มีราคาสูง 70-80% เพนพอยต์ไทยยังขาดสายป่านยาว หรือระบบอย่างเพียงพอ เราสามารถผลิตยาบางชนิดได้ แต่ยังต้องนำเข้าสารประกอบสำคัญ หรือในยาสมุนไพรไทย เรามีแต่กระบวนการสกัดแต่ยังขาดกระบวนการทดสอบเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งมิติความเชื่อดั้งเดิม และความหวัง แต่สิ่งที่ขาดคือความจริง จึงต้องวาง ecosystem ให้พร้อม ซึ่งอินโนบิกมีหน้าที่เติมเต็ม ecosystem เหล่านี้”

“วิสัยทัศน์เราอยากเป็นผู้นำธุรกิจ life science โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทย ต้องสร้างอินโนเวชั่น ความน่าเชื่อถือ มีคนอยากทำธุรกิจยาเยอะมาก ดังนั้น ต้องโฟกัสธุรกิจให้ดี ถ้าโฟกัสไม่ดีจะเบิร์นเงินในกระเป๋าเราหมดและไม่ประสบความสำเร็จ กลยุทธ์เราต้องวางแผนเลือกที่จะทำและเลือกที่จะไม่ทำในบางเรื่อง ไม่ทำเองทั้งหมดอาศัยพาร์ตเนอร์ชิป ในลักษณะ open innovation และ speed to market ซึ่งต้องเตรียมพร้อมทั้งคน กระบวนการ และสินค้า การที่สปรินต์ตัวออกมาจาก ปตท. มีการนำคน ปตท.ออกมาบางส่วน และเติมเต็มคนที่มีประสบการณ์ข้างนอกเข้ามา ทุกคนต้องมีแพสชั่นมองถึงอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า สิ่งที่เขาต้องมี คือ innovative thinking”

4 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย

อินโนบิกโฟกัส 4 กลุ่มสินค้า คือ

1.ยา เน้นที่ “ยาชีววัตถุ” ที่เป็นยาสามัญไม่มีสิทธิบัตร สำหรับโรคที่ไม่ติดต่ออย่างมะเร็งก่อน เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก และต้องต่อยอดการรักษาด้วยเทคโนโลยี มีค่าใช้จ่ายสูง

2.อาหารอนาคต (future food) โภชนาการ (nutrition) หรืออาหารเป็นยา ซึ่งเป็นสินค้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่น อาหารคนสูงวัย อาหารสำหรับผู้ป่วย อาหารที่เป็นยา

3.อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ เน้นชนิดที่ใช้แล้วหมดไป พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าที่สามารถต่อยอดได้จากวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเคมี เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิด อุปกรณ์ก้านพันสำลี ที่ไม่ต้องถึงขั้นไฮเทค แต่ต้องพัฒนาจากสิ่งที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองหมดไป จะทำให้เกิดโปรดักต์แชมเปี้ยน 4-5 รายการ

และ 4.ระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ

ตัวอย่างโปรเจ็กต์แรก “อินโนบิก” ได้สร้างโรงงานยามะเร็งร่วมกับองค์การเภสัชกรรม มีชุดตรวจโควิดที่พัฒนาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ไม่เพียงมีโปรดักต์โปรเจ็กต์ไปป์ไลน์ แต่ต้องมีทั้งพาร์ตเนอร์ องค์ความรู้ที่ดี พัฒนาแพลตฟอร์มที่ดี และการมีธรรมาภิบาล ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุนระยะยาวทั้งสิ้น

“ตั้งแต่เปิดมา 2 เดือน ได้รับการตอบรับจากทุกวงการให้ ปตท.ทำเรื่องนี้ เรามองว่าทำอย่างไรจะยกระดับนวัตกรรมประเทศไทยขึ้นมาได้ และต้องสร้างตลาดไปพร้อม ๆ กัน แต่ตลาดยาในไทย 70 ล้านคนถือว่าเล็กมาก จึงมองไปถึงตลาดภูมิภาคและตลาดโลก อย่างไรก็ตามตลาดยาใช้งบฯวิจัยและพัฒนาแพงมาก ดังนั้น ต้องหาโปรดักต์แชมเปี้ยนให้ได้”

นายบุรณินให้บทสรุปวัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย ว่าธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน disruptive technology การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ecosystem แข็งแกร่ง มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ที่สำคัญ คือ ต้องมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ มีความกล้าตัดสินใจก้าวสู่ new S-curve และสุดท้ายคนไทยจะต้องไม่ทิ้งกัน