“บางจาก” รุก “อีวี” ครบวงจร ขายลิเทียม ผุด 56 จุดชาร์จ

สถานีชาร์จรถอีวี

บางจากผงาดธุรกิจเชื่อมโยงอีวีครบวงจร จ่อขาย “แร่ลิเทียม” ผลิตแบตเตอรี่รถอีวีปลายปีนี้ เล็งเทคโนโลยีใหม่ก่อนสานต่อโรงงานแบตเตอรี่อีวีอีอีซีลุย Winnonie มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมผนึก PEA ปูพรมสถานีชาร์จ 56 แห่งภายในไตรมาส 2 ครอบคลุมถนนเส้นหลัก

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บางจากมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเตรียมพร้อมในการลงทุนทุกด้าน

โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจต้นน้ำนั้น บางจากมีโครงการร่วมลงทุนพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียม หรือ Lithium Americas Corp. (LAC) ที่อาร์เจนตินา ซึ่งจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี 2564 จากเดิมที่มีกำหนดจะทำตลาดต้นปี 2564 แต่ติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด

ซึ่งการพัฒนาแร่ลิเทียมซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตแบตเตอรี่นั้นถือเป็นสินค้าที่ค่ายผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกต้องการ รวมถึงจะเป็นการพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตแบตเตอรี่ในอนาคตในกลุ่มบางจากด้วย ซึ่งจะได้โควตาแร่ลิเทียมตามสัดส่วนที่เคยตกลงไว้ที่ 6,000 ตัน/ปี

“ตอนนี้แผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังคงอยู่ระหว่างศึกษาหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพราะอย่างที่ทราบปัจจุบันการผลิตแบตเตอรี่มาจากลิเทียมเช่นเดียวกันหมดก็จริง แต่ไส้ในมีเทคโนโลยีที่หลากหลาย แต่ละค่ายแต่ละประเทศมีการผลิตไม่เหมือนกัน ฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน ดังนั้น จึงต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม หากตัดสินใจเร็วไปอาจจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจังหวะของตลาดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บางจากได้พัฒนาบริการเกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยก่อนหน้านี้ได้จัดทำโครงการ วิน โน หนี้ (Winnonie) เป็นต้นแบบการลงทุนในสตาร์ตอัพของกลุ่มบางจาก เปิดให้ผู้ขับวินที่อยู่ในพื้นที่รอบสำนักงานใหญ่ และโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รวมถึงการให้บริการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ทางบางจากจึงได้ร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกค่าย โดยใช้โมเดลของประเทศจีนที่ให้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในเมืองเพื่อลดมลพิษ

ทั้งยังได้ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เป็น exclusive partner กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพื่อติดตั้งจุดบริการ EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก

โดยล่าสุดได้เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA (EV Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาชะอำปาร์ค และมีแผนจะเปิดให้บริการ 56 สาขา ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ มีเป้าหมายว่าบนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตร จะต้องมีจุดชาร์จครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับรถ EV หลากหลายรุ่น หลากหลายแบรนด์ โดยในอนาคตจะขยายคู่ขนานไปกับ PEA ให้ครบ 263 แห่งตามแผนในปี 2566

“จุดหลักที่เราพบคือ คนที่ใช้รถ EV ขับในกรุงเทพฯไม่เกิน 300 กม.จะไม่มีปัญหา สามารถชาร์จจากที่บ้านได้ ดีมานด์การใช้หลักน่าจะมาจากคนที่ขับรถทางไกลเกิน 300 กม.มาต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะทำให้กังวลไม่กล้าซื้อรถอีวีมาใช้”

“การเป็นรถคันแรกบางคนต้องมี 2 คัน มีรถสำหรับน้ำมันไว้ใช้ต่างจังหวัด มีรถไฟฟ้าใช้ในเมือง นี่จึงทำให้บางจากร่วมมือกับ PEA ในการพัฒนาบริการ ช่วยสร้างความมั่นใจว่าทุก 100 กม.มีที่ชาร์จ ระหว่างชาร์จสามารถเข้าห้องน้ำ พักดื่มกาแฟที่ร้านอินทนิล หรือช็อปปิ้งในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งการติดตั้ง EV Charging Station เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Greenovative Destination สำหรับนักเดินทาง”

สำหรับผู้ใช้รถอีวีที่มาใช้บริการ สามารถถ่ายรูปขณะใช้บริการ EV Charging Station ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก และติด hashtag #PEAVOLTAXBCP #GreenovativeDestination รับส่วนลดอินทนิล 10 บาททุกเมนู และรับส่วนลด 50% ค่าบริการล้างสี ดูดฝุ่นและขัดเคลือบเงาสำหรับรถ EV เพียงแสดง PEA VOLTA Application ที่ศูนย์บริการดูแลรักษารถยนต์มาตรฐานแบบครบวงจร Wash Pro ระหว่างวันที่ 9-18 เมษายน 2564 สาขาที่ร่วมรายการ

ด้านนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA กล่าวว่า ในวันนี้ได้ร่วมกับบางจากเปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA 15 แห่ง จากเดิมที่เปิด 17 แห่ง รวมเป็น 32 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแผน PEA ที่จะพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA เฟสแรกให้ได้ 62 แห่ง บนเส้นทางสายหลัก

โดยใช้งบประมาณลงทุน 220 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่สนใจยานยนต์ไฟฟ้าว่าสามารถเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้ โดยขณะนี้มีการตั้งสถานีสุดท้ายถึงที่ อ.หัวหิน แต่จะขยายไปถึง จ.สงขลา ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จากนั้นจะทยอยเปิดเฟส 2 ให้ครบ 263 สถานี ภายในปี 2566

“ปัจจุบันเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดกำลังเป็นที่นิยม รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า ให้เป็นเกือบ 2 ล้านคัน ในอีก 14 ปีข้างหน้า เพราะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการชาร์จรถ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หากชาร์จในช่วงเวลาพีก มีค่าใช้จ่าย 7.15 บาทต่อหน่วย หรือ 210 บาท”

“ถ้าชาร์จช่วงออฟพีก ค่าไฟหน่วยละ 4.15 บาท รวมค่าไฟต่อการชาร์จ 1 รอบ แค่ 120 บาท ใช้เวลา 40 นาทีวิ่งต่อได้ PEA มีหน้าที่เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม จึงได้ทำเอ็มโอยูบางจากเมื่อ 2 ปีแล้ว ทางบางจากได้ช่วยให้พื้นที่ภายในสถานีโดยไม่คิดค่าบริการเป็นเวลา 3 ปี เราลงทุนสร้างสถานีละ 2 ล้านบาท ช่วงแรกปริมาณการใช้มีแค่วันละ 2-3 คันไม่มีผลตอบแทนการลงทุน แต่คาดว่าในอนาคตจะมีการใช้รถอีวีมากขึ้น”