“แฟรนไชส์” แห่ร้องบอร์ดแข่งขันเอาผิด “สัญญาไม่เป็นธรรม”

e commecre

โควิดถล่ม “ธุรกิจแฟรนไชส์” แห่ร้องบอร์ดแข่งขันการค้า 3 เดือนแรก 5 เรื่องจากพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรม แง้มแผนปี’64 เตรียมคลอดร่าง “ไกด์ไลน์” 3 ธุรกิจ “เครดิตเทอม-ธุรกิจอีคอมเมิร์ช-ดีลิเวอรี่ หลังผลสำเร็จบังคับใช้กฎหมาย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยแผนการทำงานในปี 2564-2565 ว่า การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลต่อการประกอบการกิจการและการแข่งขันธุรกิจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

โดยเฉพาะการทำธุรกิจออนไลน์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าการค้า 4 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพี และยังถือเป็นธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการซื้อ-ขายข้ามประเทศด้วย

“ปีนี้ กขค.ได้เตรียมจัดทำแนวปฏิบัติทางการค้า (guideline) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเพิ่ม จากที่ได้เริ่มยกร่างไกด์ไลน์การกำหนดระยะเวลาชำระเงิน (เครดิตเทอม) ในปีที่ผ่านมาหลังจากที่ได้ออกไกด์ไลน์ไปแล้ว 21 เรื่อง เพื่อให้สามารถกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้า สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการออกไกด์ไลน์เครดิตเทอมจะช่วยให้แก้ปัญหาสภาพคล่องทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน เช่นเดียวกับที่ได้ออกไกด์ไลน์ล้งจะช่วยเกษตรกรขายผลไม้ได้อย่างเป็นธรรมในปีที่ผ่านมา”

ล่าสุดในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ได้มีการร้องเรียน 5 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมการปฏิบัติตามสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ภาพรวมหลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 มาเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน นับจากวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีสถิติรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ กขค. รวม 68 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง

แบ่งออกเป็นการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า (การดำเนินคดี) และข้อมูลการดำเนินคดีแยกตามมาตรา 50 จำนวน 10 เรื่อง มาตรา 54 จำนวน 4 เรื่อง มาตรา 57 จำนวน 54 เรื่อง และการกำกับการควบรวมธุรกิจ (ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย) โดยมีการแจ้งผลรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง จำนวน 42 เรื่อง และขออนุญาตรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคสอง จำนวน 5 เรื่อง ปัจจุบันสามารถสะสางและดำเนินคดีแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 30 เรื่อง

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างไกด์ไลน์ แนวทางปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ว่า ได้รับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการประมวลผลและปรับแก้ไขร่างไกด์ไลน์ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้ความเห็นชอบก่อนเพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้

“กขค.เห็นความสำคัญในการประกอบกิจการภายใต้โควิด-19 ได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการได้เร็วขึ้น จากปกติที่ให้เครดิตเทอมที่ 30-45 วัน ปัจจุบันปัญหาโควิดทำให้ขยายเครดิตเทอมออกไปจาก 45 วัน สูงสุดถึง 120 วัน ซึ่งเป็นการปิดโอกาสการแข่งขันของเอสเอ็มอี อย่างน้อยระยะเวลาที่เหมาะสมก็ควรที่จะ 30 วัน ยกเว้นกรณีที่มีการตกลงสัญญาที่ถูกต้อง”

ส่วนการบังคับใช้ไกด์ไลน์การประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ (ล้ง) ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ล่าสุดได้ผู้ยื่นคำร้องเข้ามาเพิ่ม 3 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นล้งลำไยซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา จากก่อนหน้านี้ที่ได้พิจารณาดำเนินคดีสำเร็จแล้ว 1 คดี เป็นการร้องเรียนในเรื่องของการทำผิดสัญญาซื้อ-ขาย โดยมีโทษปรับทางศาลปกครอง 10% ของรายได้ในปีนั้น

“ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการล้งของไทย ซึ่งมีทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้หายออกไปจากระบบ จึงจำเป็นต้องดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังได้รับผลกระทบทั้งจากโควิดด้วย”

ส่วนแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ หรือไกด์ไลน์แฟรนไชส์ที่ได้บังคับใช้ไปแล้วนั้น ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปรับแก้ไขประกาศเพิ่มเติม กรณีการขยายสาขาสำหรับเจ้าของแฟรนไชส์ จะขยายสาขาไปในพื้นที่ที่มีการขยายไปแล้วของผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไป จำเป็นจะต้องให้สิทธิเจ้าของพื้นที่ก่อน จากนี้ทาง กขค.จะเร่งพิจารณาเพื่อให้ประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแนวทางปฏิบัติทางการค้าโดยเฉพาะเรื่องของการส่งสินค้าอาหาร (ดีลิเวอรี่) เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมและเหมาะสมที่สุด