การ์เมนต์รับมือล็อกดาวน์เขมร โควิดพุ่ง-ร้านอาหารไทยส่งขายดีลิเวอรี่

Photo by Manan VATSYAYANA / AFP

300 เอกชนไทยรับมือ “ล็อกดาวน์” วิกฤตโควิด-19 กัมพูชา ทั้งโรงงานการ์เมนต์-ปูนซีเมนต์-อาหารสัตว์-อิเล็กทรอนิกส์ ยังเดินเครื่องได้ รัฐบาลไม่ได้จำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่นายจ้างต้องออกใบรับรอง ส่วนบริการร้านอาหาร “S&P-Black Canyon-Cafe Amazon” ต้องเร่งปรับตัวขายดีลิเวอรี่ ด้านทูตพาณิชย์ยังมั่นใจสินค้าไทยส่งออกไปเขมรปีนี้ยังโต 5%

นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ออกประกาศที่ 49 สสร ลงวันที่ 14 เมษายน 2564 เรื่องให้ “ล็อกดาวน์” พื้นที่กรุงพนมเปญ และเมืองตาเขมา ในจังหวัดกันดาล เป็นเวลา 14 วัน (15-28 เม.ย. 2564) เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยทาง สนง.ได้ออกสำรวจสถานการณ์การค้าพบว่า ขณะนี้การล็อกดาวน์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยในกัมพูชา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ราย รัฐบาลกัมพูชายังอนุญาตให้พนักงานเดินทางไปทำงานได้ แต่สถานประกอบการจะต้องออก “ใบรับรอง” ให้กับพนักงานของตน ประกอบกับโรงงานของนักลงทุนไทยเองก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องควอรันทีนด้วย

“โรงงานและผู้ประกอบการไทยในกัมพูชามีประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่ โรงงานอาหารสัตว์ของเบทาโกรที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSEZ) โรงงานสี TOA โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท SVI นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมทั้งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โรงงานปูนซีเมนต์ของ SCG ที่ จ.กัมปอต โรงงานปูนตรานกอินทรี เท่าที่ สนง.สอบถามไปทุกแห่งยังสามารถประกอบกิจการผลิตสินค้า โดยไม่มีการลดกำลังการผลิตและยังใช้ระบบโลจิสติกส์ขนส่งได้ตามปกติ”  นายจิรวุฒิกล่าว

แต่จะมีได้รับผลกระทบบ้างก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร จากการจำกัดเวลาในการออกนอกที่พักอาศัย ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย เช่น ร้าน S&P แบล็คแคนยอน ร้านกาแฟอเมซอน ต้องปรับตัวโดยหันไปจำหน่ายสินค้าแบบทูโกและดีลิเวอรี่แทน และยังสามารถขนส่งในระบบโลจิสติกส์ได้

“หากดูภาพรวมการค้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อาจจะลดลงเล็กน้อย ถ้าเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน เพราะยังเป็นช่วงไม่มีโควิด จึงทำให้ฐานตัวเลขส่งออกสูง แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมการค้าไทย-กัมพูชาตลอดทั้งปีจะยังเติบโตได้ 5% เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยยังเป็นที่นิยมในตลาดกัมพูชา

ส่วนมาตรการการห้ามขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็บังคับใช้เพียง 14 วัน คือ วันที่ 15-28 เมษายน จากนั้นจะประเมินอีกครั้ง ตรงนี้จะต้องประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากไทยมายังกัมพูชาในปัจจุบันมีหลายแบรนด์ แต่ยอดรวมคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก คือไม่ถึง 50% ของมาร์เก็ตแชร์ เมื่อเทียบกับสินค้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก” นายจิรวุฒิกล่าว

สำหรับแผนการทำตลาดส่งออกของ สคต. นับจากนี้ไปจะเร่งดำเนินการ 2 ด้าน ได้แก่ 1) การผลักดันการเจรจาจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ (online business matching) ที่ดำเนินการต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออกในช่วงที่ยังเดินทางข้ามประเทศไม่ได้

และ 2) เน้นการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายร่วมกับห้างค้าปลีก โดยขณะนี้มีห้างค้าปลีกไทย 2 ราย คือ แม็คโคร ที่กรุงพนมเปญกับที่เสียมราฐ และบิ๊กซีที่ จ.ปอยเปต ซึ่งตามแผนจะมุ่งทำตลาดสินค้าผลไม้ก่อนในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้ทันกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไทย

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กัมพูชากำหนดให้ 1) งดการเดินทางภายในกรุงพนมเปญ และเมืองตาเขมาของจังหวัดกันดาล เป็นระยะเวลา 14 วันดังกล่าว 2) ในระยะเวลาดังกล่าวห้ามเดินทางออกนอกเคหสถาน ยกเว้นกรณีการเดินทางไปทำงานหรือประกอบกิจการที่มิได้ถูกห้าม

แต่ต้องมี ข้อ 2.1 มีหนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือบริษัทหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

ข้อ 2.2 การเดินทางไปจับจ่ายซื้อสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน กำหนดให้เดินทางไม่เกิน 2 คนต่อครอบครัว และไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้ออกได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่ใกล้สถานที่พักอาศัย โดยต้องนำบัตรแสดงตนติดตัวไปด้วย

ข้อ 2.3 การเดินทางไปยังสถานที่รักษาพยาบาลหรือร้านขายยา ด้วยเหตุผลฉุกเฉินทางสุขภาพ กำหนดให้เดินทางไม่เกิน 4 คน ต่อกรณี/ครั้ง

ข้อ 2.4 การเดินทางไปเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งในและนอกพื้นที่

ข้อ 2.5 การเดินทางไปทำกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเป็นตามข้อเสนอหรือคำสั่งจากหน่วยงานหรือบริษัท โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 2.6 การมีกิจกรรมทางกีฬาภายในบริเวณพื้นที่พำนักอาศัย (residential area) และเป็นกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมไม่เกิน 2 คน

ข้อ 2.7 การเดินทางของเจ้าหน้าที่ทางการทูต ผู้แทนต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ กองทุนระหว่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์กรภาคประชาสังคมต่างประเทศที่มีหนังสือรับรอง

ข้อ 2.8 การเดินทางของสื่อมวลชนที่มีหนังสือรับรอง

และข้อ 2.9 การเดินทางด้วยเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเป็นและฉุกเฉินที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

3) ให้งดกิจกรรมและกิจการทุกรูปแบบที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน “ยกเว้น” กรณีดังนี้

ข้อ 3.1 การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร แต่ต้องปรับลดจำนวนคนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานให้มีจำนวนน้อยที่สุด เพื่อรับรองไม่ให้เกิดความขัดข้องต่อสายงานและให้หยุดงานที่ไม่มีความจำเป็นตามความเหมาะสม

ข้อ 3.2 โรงงาน บริษัทผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงโรงฆ่าสัตว์ ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ข้อ 3.3 การบริการสาธารณะ ได้แก่ การดับเพลิง บริการไฟฟ้า น้ำประปา และการเก็บขยะ เป็นต้น

ข้อ 3.4 การค้าออนไลน์หรืองานในรูปแบบออนไลน์

ข้อ 3.5 ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และร้านอาหาร (เฉพาะบริการห่อกลับหรือบริการส่ง) ตลอดจนปั๊มน้ำมันและสถานที่ที่ให้บริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 3.6 การบริการทางสาธารณสุขและการเงิน อาทิ โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา และธนาคาร ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ต้องปรับลดพนักงานเท่าที่ทำได้

ข้อ 3.7 โรงแรม และบ้านพัก

ข้อ 3.8 การบริการขนส่งสิ่งของที่จำเป็น

ข้อ 3.9 การขนส่งสินค้าเข้าและออกพื้นที่ เพื่อผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

และข้อ 3.10 กิจกรรมและกิจการอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาต

4) ในช่วงเวลาล็อกดาวน์ห้ามชุมนุมรวมตัวกัน “ยกเว้น” กรณีดังนี้

ข้อ 4.1 การรวมตัวของสมาชิกภายในครอบครัวในสถานที่พักอาศัยเดียวกัน

ข้อ 4.2 งานศพ

ข้อ 4.3 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ข้อ 4.4 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามนัยข้อ 2-4 ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และรักษาสุขอนามัยส่วนตน รวมถึงตรวจวัดอุณหภูมิ 5) ผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามนัยข้อ 2 และ 3 ยังคงต้องเคารพมาตรการห้ามเดินทางออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00-05.00 น. ยกเว้นกรณีปัญหาสุขภาพ กรณีเร่งด่วน และการให้บริการสาธารณะที่จำเป็น